CPF ตั้งเป้ารง.ผลิตอัจฉริยะ ทุกบริษัทสู่มาตรฐาน CEN 16555 ปีหน้า

ซีพีเอฟตั้งเป้าดันทุกหน่วยงานผ่านมาตรฐาน CEN16555 สร้างนวัตกรรมอย่างเป็นระบบ พร้อมเร่งเพิ่มนวัตกร 1,000 คน ในปี 2561 ทำ “กระบวนการผลิตอัจฉริยะและผลิตภัณฑ์นวัตกรรม”

นายวิโรจน์ คัมภีระ รองกรรมการผู้จัดการบริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ ในฐานะประธานคณะกรรมการนวัตกรรม เปิดเผยว่า ในปี 2561 บริษัทตั้งเป้ายกระดับไปสู่องค์กรแห่งนวัตกรรมระดับสากล โดยจะเร่งพัฒนาบุคลากรให้เป็นนวัตกรตามแนวทางทฤษฎีการแก้ปัญหาเชิงประดิษฐ์คิดค้น (Theory of Inventive Problem Solving-TRIZ) ให้เพิ่มขึ้นถึง 1,000 คน จากปัจจุบันที่มีนวัตกรในองค์กรอยู่ 561 คน พร้อมทั้งผลักดันให้ทุกหน่วยงานของบริษัทผ่านการรับรองมาตรฐาน CEN16555 ซึ่งเป็นระบบการจัดการนวัตกรรม (Innovation Management System) ที่ช่วยให้องค์กรสามารถสร้างนวัตกรรมได้อย่างเป็นระบบ

“นวัตกรรมถือเป็นหัวใจในการขับเคลื่อนการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนในอนาคต การเป็นเจ้าของนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ตอบโจทย์การผลิตและกลุ่มลูกค้า จะทำให้สนองตอบต่อความต้องการได้สูง รวมถึงพัฒนาองค์กรให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงสู่อุตสาหกรรม 4.0 ทั้งในการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต ลดต้นทุน การพัฒนาสินค้าใหม่ๆ ควบคู่กับการสร้างความยั่งยืนให้กับสังคมและสิ่งแวดล้อม ที่ผ่านมา ซีพีเอฟสามารถนำผลงานนวัตกรรมที่พัฒนาขึ้นไปขอจดสิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตรแล้วประมาณ 133 สิทธิบัตร และตั้งเป้าว่าในปี 2563 (ปี 2020) จะมีผลงานนวัตกรรมขององค์กรได้รับการจดสิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตรมากกว่า 500 เรื่อง” นายวิโรจน์กล่าว

นายวิโรจน์กล่าวต่อไปว่า ซีพีเอฟตั้งเป้าพัฒนาบุคลากรทุกหน่วยธุรกิจเป็นนวัตกรตามแนวทาง TRIZ อย่างต่อเนื่องมาเกือบ 10 ปี เพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ สร้างความแตกต่างให้กับธุรกิจ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผู้บริโภค ตลอดจนสร้างความยั่งยืนให้กับสังคมและสิ่งแวดล้อม ตลอดระยะเวลา 5-6 ปีที่ผ่านมา บริษัทมุ่งมั่นผลักดันให้องค์กรเกิดการคิด ปรับปรุงและพัฒนานวัตกรรมอยู่ตลอดเวลา รวมทั้งมองเห็นโอกาสในการแก้ปัญหา สามารถเปลี่ยนแปลงปัญหาเป็นผลงานหรือนวัตกรรมได้ คิดต่อยอดสิ่งใหม่ ๆ ให้สอดรับกับเป้าหมายการดำเนินธุรกิจของซีพีเอฟ

สำหรับการตั้งเป้าผลักดันให้ทุกหน่วยงานของบริษัทผ่านการรับรองมาตรฐาน CEN16555 ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ช่วยให้องค์กรสามารถสร้างนวัตกรรมได้อย่างเป็นระบบ เพื่อรองรับการเติบโตขององค์กรให้สามารถดำเนินการภายใต้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด และสามารถสร้างนวัตกรรมได้เป็นผลสำเร็จ โดยปีนี้มีสถานประกอบการและหน่วยงานของซีพีเอฟ 6 แห่งที่สามารถผ่านการรับรองมาตรฐาน CEN16555 แล้ว ได้แก่ โรงงานอาหารสำเร็จรูป หนองจอก, โรงงานผลิตอาหารสัตว์บก บางนา, โรงงานผลิตอาหารสัตว์น้ำ หนองแค, บริษัท ซีพี เมจิ, บริษัท เกษตรภัณฑ์อุตสาหกรรม จำกัด และบริษัท เคเอสพี อุปกรณ์ จำกัด

Advertisment

นอกจากนี้ซีพีเอฟยังจัดกิจกรรมที่สร้างบรรยากาศและกระตุ้นให้พนักงานมีการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง ได้แก่ งาน CPF CEO Awards ที่ได้จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีอย่างต่อเนื่องในปีนี้เป็นปีที่ 9 จะจัดในเดือนตุลาคมนี้ ซีพีเอฟจะจัดงาน CPF 3i Day เป็นเวทีการพิจารณาคัดเลือกผลงานและโครงการนวัตนกรรม ที่จะได้รับรางวัล CPF CEO Awards ปี 2560 ที่จะประกาศผลในปลายปีนี้ โดยมีผลงานที่ผ่านการรอบแรกมานำเสนอถึง 554 ผลงาน

ทั้งนี้ ซีพีเอฟวางแนวทางการสร้างสรรค์นวัตกรรมองค์กรเป็น 3 ลำดับ ได้แก่ ลำดับแรก “การสร้างวัฒนธรรมองค์กรนวัตกรรม” ผ่านการสร้างแรงจูงใจและบรรยากาศการพัฒนางาน จากการสนับสนุนของผู้บริหารในแต่ละสายธุรกิจ ผ่านการประกวดและแสดงผลงานนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง ผ่านเวที CPF CEO Awards ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ลำดับที่สอง “ความร่วมมือของเครือข่ายทั้งภายในและภายนอก” จะทำให้คุณค่าของนวัตกรรมสูงขึ้น ขณะที่ต้นทุนและเวลาในการพัฒนาลดลง ซึ่งการผนึกกำลังของซีพีเอฟก่อให้เกิดพลังสร้างนวัตกรรมอย่างต่อเนื่องทั้งห่วงโซ่อุปทาน ทำให้มีสินค้าดี มีประสิทธิภาพในการบริการสูงขึ้น ลำดับสาม คือ “สร้างนวัตกรรมเชิงพาณิชย์ให้มากขึ้น” ตอบสนองความต้องการของลูกค้า ชุมชน และสังคม ทำให้เกิดการบูรณาการจากทุกภาคส่วนตลอดห่วงโซ่อุปทาน ทั้งฝ่ายผลิต ฝ่ายตลาด และอื่น ๆ ซึ่งเหล่านี้จะนำพาซีพีเอฟไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน