ทูตพาณิชย์ฮ่องกง ทาบทามผู้ซื้อ-นำเข้า ร่วมงานบางกอกเจมส์รอบพิเศษ

“ทูตพาณิชย์ฮ่องกง” เดินหน้าทาบทามผู้ซื้อ ผู้นำเข้า ร่วมงานบางกอกเจมส์รอบพิเศษทางออนไลน์ช่วงเดือน พ.ย. นี้ มั่นใจช่วยเพิ่มโอกาสการค้า การส่งออกให้ไทย

นางชณันภัสร์ พิศาลอภิพงศ์ ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองฮ่องกง (สคต.ฮ่องกง) เปิดเผยว่า สำนักงานฯ ได้เดินหน้าเชิญชวนผู้ซื้อ ผู้นำเข้าของฮ่องกง เข้าร่วมชมงานบางกอกเจมส์ ในรูปแบบพิเศษ Virtual Exhibition หรืองานแสดงสินค้าออนไลน์ที่ครบวงจรที่สุด ภายใต้ชื่องาน BGJF Special Edition – On Ground to Online Exhibition” ที่กำหนดจัดขึ้นในวันที่ 2-4 พ.ย.2563 ภายใต้รูปแบบ New Normal หลังจากที่กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศได้เลื่อนการจัดงานแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับครั้งที่ 66 ออกไปเป็นวันที่ 23-27 ก.พ.2564

“สำนักงานฯ ได้เชิญผู้ซื้อ ผู้นำเข้าของฮ่องกง อย่างน้อย 15-20 ราย ให้ร่วมชมงานบางกอกเจมส์ในรูปแบบใหม่ทางออนไลน์ และได้ประสานกับผู้ผลิตและผู้ส่งออกของไทยในการเจรจาธุรกิจ โดยมั่นใจว่าจะช่วยเพิ่มโอกาสในการค้าขายระหว่างกัน และช่วยเพิ่มยอดการส่งออกสินค้าไทยไปยังฮ่องกได้เพิ่มขึ้น และยังได้ประสานให้ผู้ซื้อ ผู้นำเข้า เตรียมเข้าร่วมงานบางกอกเจมส์ ครั้งที่ 66 ที่ได้เลื่อนไปจัดในเดือนก.พ.2564 ด้วย”

นางชณันภัสร์กล่าวว่า ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศได้ปรับรูปแบบการจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดเป็นรูปแบบออนไลน์มากขึ้น ซึ่งสำนักงานฯ ได้ปรับรูปแบบการทำงานให้สอดคล้อง และได้สนับสนุนให้ผู้ประกอบการทั้งไทยและฮ่องกงหันมาใช้ช่องทางออนไลน์ในการทำธุรกิจ เพราะในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ไทยมีทั้งส่งออกไปฮ่องกงและนำเข้าจากฮ่องกง จึงร่วมมือกันได้

ปัจจุบัน ไทยเป็นผู้ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับรายสำคัญของโลก สินค้าหลัก คือ ทอง เงิน และพลอยสี โดยตลาดส่งออกหลักของไทย คือ ยุโรป สหรัฐฯ และฮ่องกง แต่ก็มีสินค้าบางชนิดที่ไทยต้องนำเข้า โดยเฉพาะทอง ต้องนำเข้าจากอินเดีย ฮ่องกง อิสราเอล ส่วนเพชรต้องนำเข้าจากสวิสเซอร์แลนด์ ฮ่องกงและออสเตรเลีย แต่ในช่วงการระบาดของโควิด-19 ไทยต้องปรับแหล่งนำเข้ามาเป็นประเทศในแถบเอเชีย คือ ฮ่องกง สิงคโปร์ และกัมพูชา ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ไม่ว่าสถานการณ์ใด ฮ่องกงยังเป็นคู่ค้าที่สำคัญของไทยในสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับมาโดยตลอด

นอกจากนี้ ในช่วงการระบาดของโควิด-19 สำนักงานฯ ยังได้เดินหน้าสนับสนุนข้อมูลให้กับภาคธุรกิจของไทย ทั้งข้อมูลตลาด การติดต่อผู้ซื้อ ผู้นำเข้า และนำเสนอข้อมูลเพื่อสร้างการรับรู้สินค้าและบริการในกลุ่มอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของไทยให้กับผู้ซื้อ ผู้นำเข้าในฮ่องกง ทั้งเรื่องวัตถุดิบ การผลิต คุณภาพช่างฝีมือ สินค้าต่างๆ

รวมถึงการจัดงานบางกอกเจมส์ ที่เป็นแหล่งรวมผู้ผลิต ผู้ค้าของไทย เพื่อสร้างโอกาสในการค้าขาย และยังได้สร้างความร่วมมือกับภาครัฐและองค์กรการค้าอัญมณีและเครื่องประดับในฮ่องกง เช่น Hong Kong Trade Development Council , The Chinese Manufacturer Association of Hong Kong และ International Jewelry Designer Association เป็นต้น

ขณะเดียวกัน ได้สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ซื้อ ผู้นำเข้าฮ่องกง ในการซื้ออัญมณีและเครื่องประดับของไทยผ่านช่องทางออนไลน์ โดยหากเป็นสินค้าที่ได้รับตราสัญลักษณ์ในโครงการซื้อด้วยความมั่นใจ (Buy With Confidence – BWC) ที่กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศร่วมมือกับสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT มอบตราสัญลักษณ์ให้กับผู้ประกอบการที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน ก็มั่นใจได้ว่าจะได้รับสินค้าที่ดี มีคุณภาพมาตรฐานถูกต้อง

Mr. Ng King Hon Kevin ตัวแทนจากองค์การสภาพัฒนาการค้าฮ่องกง กล่าวถึงทิศทางตลาดอัญมณีและเครื่องประดับในฮ่องกง ว่า การทำตลาดเครื่องเงินในช่วงนี้ ถือเป็นโอกาสที่ดี เพราะขณะนี้ราคาทองถีบตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็วและมีแนวโน้มผันผวน ดังนั้น ทิศทางการซื้อขายอัญมณีและเครื่องประดับของฮ่องกงมีแนวโน้มปรับจากทองมาสู่เงินอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะการสั่งซื้อสินค้าในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 และยังมีความเป็นไปได้สูงที่นักธุรกิจจิวเวลรี่ในฮ่องกงจะตัดสินใจย้ายฐานการผลิตมาที่ไทยด้วย

Mr. Kenny Au รองประธาน International Jewellery Designer Association (IJDA) กล่าวว่า ผลจากการล็อกดาวน์ ทำให้คนส่วนใหญ่หันมาซื้อสินค้าทางออนไลน์มากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องราคา มีผลต่อการตัดสินใจ และในส่วนของสินค้าจิวเวลรี่ จำเป็นต้องมีดีไซน์ที่สวยสะดุดตา เห็นภาพชิ้นงานชัดเจน และทำให้คนรู้สึกเข้าถึงได้จากการมองเห็นผ่านจอเครื่องมือสื่อสารและเครื่องมือต่างๆ ส่วนเครื่องประดับที่เริ่มได้รับความนิยม เช่น เครื่องเงิน พลอยเนื้ออ่อน ทั้งนี้ ยังมีความสนใจในการย้ายฐานการผลิตของฮ่องกงมาไทย เนื่องจากไทยมีความพร้อมด้านที่ตั้งและองค์ประกอบส่งเสริมธุรกิจจิวเวลรี่ อาทิ มีนิคมอุตสาหกรรม Gemopolis เป็นต้น

นายภูเก็ต คุณประภากร กรรมการผู้จัดการ บริษัท เจมส์บุรี จำกัด กล่าวว่า ในช่วงการระบาดของโควิด-19 ผู้ประกอบการควรเรียนรู้ ทำความเข้าใจ และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีให้มากที่สุด เพราะการจะเข้าร่วมงานแฟร์ตามที่ต่างๆ เป็นไปได้ยาก การใช้เทคโนโลยีจะช่วยให้การค้าดำเนินต่อไปได้ เช่น ผู้ค้าชาวจีนสามารถทำการซื้อขายเครื่องประดับให้กับลูกค้าโดยการโพสต์ภาพผ่าน Wechat เท่านั้น


Mr. Henry Ho ประธาน Bangkok Diamonds & Precious Stones Exchange (BDPSE) กล่าวว่า เครื่องมือดิจิทัล คือ สิ่งจำเป็นในยุคนี้ โดยเฉพาะการใช้โซเชียลมีเดีย เพราะไม่เพียงแต่ช่วยเปิดโอกาสทางธุรกิจ เช่น การเปิดหน้าร้านแบบออนไลน์ แต่ยังเป็นช่องทางบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้าแบบ CRM (Customer Relationship Management) ได้อย่างดีอีกด้วย