สุพัฒนพงษ์ : เปิดทำเนียบ แจงโรดแมปเศรษฐกิจ และเก้าอี้ที่ไม่ได้แย่งใคร

สุพัฒนพงษ์

เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2563 นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์เชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ให้สัมภาษณ์-เปิดใจ กับผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบรัฐบาลเป็นครั้งแรก ภายหลังเข้ารับตำแหน่งในคณะรัฐมนตรี (ครม.) ประยุทธ์ 2/2

“สุพัฒนพงษ์”  สวมหัวโขน-เปิดหัวใจสิงห์ กับสารพัดนักข่าว ทั้งสายการเมือง-สายเศรษฐกิจ ตอบทุกคำถาม โชว์วิสัยทัศน์การเคลื่อนเศรษฐกิจ

ตอบที่มา ของการคว้าชัยทั้งในตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ และตำแหน่ง รมว.พลังงาน พร้อมเปิดเส้นทาง-ยุทธศาสตร์จัดการเศรษฐกิจไทย

20 บริษัทพลังงานเตรียมปูเสื่อรอต้อนรับ รมว.พลังงานคนใหม่…นับตั้งแต่บรรทัดนี้เป็นต้นไป

ปรับสิทธิประโยชน์ S-Curve รับนักลงทุน

นายสุพัฒนพงษ์ เริ่มต้นกล่าวถึงการปรับอุตสาหกรรม S-Curve เพื่อสอดรับความต้องการของนักลงทุน ว่า ได้มอบหมายให้คณะกรรรมการขับเคลื่อนมาตรการบริหารเศรษฐกิจ ที่มีนายไพรินทร์ ชูโชติถาวร เป็นประธาน เนื่องจากมีความชำนาญในเรื่องนี้และอยู่ในแวดวงนี้

Advertisment

“ต่อไปนี้อะไรที่อยู่ใน S-Curve เอาเราเป็นตัวตั้งไม่ได้แล้ว ต้องดูเขา (นักลงทุน) เป็นตัวตั้ง คนที่จะมาลงทุนธุรกิจใหม่ในบ้านเราเป็นคนตัดสินใจ และเขาไม่ได้มีประเทศไทยประเทศเดียว เราต้องรู้ว่า ความต้องการของเขาคืออะไร และต้องทำให้ได้ ผมคิดว่าการมีดร.ไพรินทร์มาดูในเรื่องอนาคต ระยะกลางหรือระยะปานกลางในการปรับปรุง ซึ่ง S-Curve เดิมอาจจะถูกก็ได้ แต่อาจจะต้องมีการเปลี่ยนแปลง มีการทบทวนอีกสักทีหนึ่ง”

สิทธิประโยชน์อุตสาหกรรม S- curve จะมีการทบทวน ต้องใช้ผู้ที่จะเข้ามาลงทุนเป็นตัวตั้ง ประเทศไทยจะให้อะไรกับเขาได้บ้าง แต่ขอโอกาสให้ ดร.ไพรินทร์ ได้เข้าไปทำงานก่อน

วิสเทค (VISTEC) ECCi เราจะเห็นถึงอนาคต ความหวัง ว่า ประเทศไทยเรามีโอกาสในเรื่องของนวัตกรรม เป็นมหาวิทยาลัยที่เน้นการวิจัยในทุกด้านที่สำคัญ เช่น พลังงาน data analytics  AI bio-engineering bio-duracura เป็น new technology ทั้งสิ้น ที่จะมาเสริม S-Curve เราก็จะได้โอกาสดี ๆ ในหลายอุตสาหกรรม เช่นอุตสาหกรรมเกษตร ยิ่งหากเราสามารถควบคุมโควิด-19 ได้ดี ต่างประเทศก็จะเชื่อมมั่นเรามากขึ้น

รัฐ-เอกชน Co-pay

นายสุพัฒนพงษ์กล่าวว่า ในระหว่างแก้ปัญหาระยะสั้น 12 เดือน 15 เดือนจากนี้ ซึ่งหากยังคิดค้นวัคซีนไม่สำเร็จอาจจะไปถึงปี 2564 เราก็จะทำมาตรการระยะยาว เช่น การส่งเสริมการลงทุนคู่ขนานกันไป คงไม่ต้องการให้พ้นวิกฤตแล้วกลับมาเท่าเดิม

Advertisment

ถ้ามีโอกาสทำได้ดีกว่าเราควรจะทำ ผมเชื่อว่า ความสำเร็จไม่ใช่เพราะรัฐบาลคนเดียว ภาคเอกชน ประชาชน ถ้าเราไม่ร่วมกัน มีวินัย ไม่ร่วมมือกับรัฐบาลก็จะเกิดการระบาดของโควิด-19 อีกครั้งหนึ่ง

ถ้ามีการระบาดอีกครั้งหนึ่งก็จะทำให้ความเชื่อมั่นกลับกัน เราจะไม่ใช่ประเทศที่ยืนอยู่แถวหน้า เราก็จะเป็นแถวสอง เราก็จะเสียโอกาส อยากให้มองตรงนี้เป็นโอกาส

ความเชื่อมั่นเกิดจากการพูดมาตรการต่าง ๆ ไปแล้วปฏิบัติได้ วันนี้มาตรการต้องผสมผสานระหว่างมาตรการระยะสั้น ระยะปานกลางและระยะยาว

เรื่องวิกฤตก็ต้องแก้ ต้องทำให้บรรลุผลให้ได้ วิธีการให้รัฐทำคนเดียว ทั้งเรื่องงบประมาณ ประสิทธิผล ประสิทธิภาพ นโยบายหลักที่ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบโควิด-19 (ศบศ.) เสนอวันนี้ คือ ร่วมจ่าย (Co-payment) และต้องมีจิตสำนึกของคนทั้งประเทศ

“ลองนึกภาพสิครับถ้าภาคเอกชนที่ยังพอมีกำไรอยู่บ้าง เขามาร่วมในมาตรการที่รัฐบาลเสนอในเรื่องของการจ้างแรงงาน พัฒนาอะไรต่าง ๆ โดยเฉพาะบัณฑิตจบใหม่ที่จะเสนอครม.สัญจรที่จะจังหวัดระยองในวันอังคารที่ 25 สิงหาคม 2563”

เดินสายพบธุรกิจพลังงาน

นายสุพัฒนพงษ์กล่าวว่า จะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ คงจะใช้เวลาอีกไม่นาน กระตุ้นเข้าไป พรุ่งนี้ (วันที่ 20 สิงหาคม 2563) จะเดินสายพบบริษัทเอกชนด้านพลังงานเป็นกลุ่มแรก ประมาณ 20 บริษัทที่กระทรวงพลังงานกำกับดูแล เช่น ปตท. และบริษัทในเครือ ไฟฟ้า เช่า กฟผ. ราชบุรีกรุ๊ป egco เรื่องมาตรการต่าง ๆ ที่จะมาร่วมมือกับรัฐบาล ที่จะให้เขาเข้าอกเข้าใจปัญหาของประเทศ ภายใต้หัวข้อว่า ความเข้าอกเข้าใจในการแก้ปัญหา เป็นพลังงานร่วมใจ รวมไทยสร้างชาติ

“เราเริ่มจากกลุ่มที่มีความเชื่อ มี Believe ก่อน จากนั้นค่อยจุดพลุขึ้นมา เกิดมิติใหม่ เกิดความพยายามของคนกลุ่มหนึ่งที่จะมาช่วยกัน แล้วอุตสาหกรรมกลุ่มอื่นล่ะ บริษัทในตลาดหลักทรัพย์

เราลืมไปแล้วเหรอ เดือนมีนาคมที่เกิดการระบาดของโควิด-19 ใหม่ ๆ มันหมดวัง มันสิ้นหวัง ไม่รู้ว่ามันจะหยุดเมื่อไหร่ ไม่รู้ว่าใครจะมาช่วย พอปิด ล็อกดาวน์ทุกคนต้องเงียบหมด ทุกคนต้องห่างกัน

วันนี้เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคคลี่คลาย บางคนกลับสู่สภาพเดิม บางคนกลับใกล้เคียงสภาพเดิม บางคนยังลำบากอยู่ ต้องไม่ลืมว่ายังมีคนลำบากอยู่

บริษัทจะมีกำไรหรือเติบโตไม่ใช่ตัวของเขาเอง ต้องมีลูกค้า ต้องมี Stakeholder ที่เกี่ยวข้อง ดังนี้วันนี้ต้องหันกลับไปดูสิ่งเหล่านี้กันใหม่ เป็นวาระของทุกคน เป็นวาระของประเทศ”

กลุ่มพลังงานเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ ผมอยากฟังสิ่งตอบรับของทางภาคพลังงาน ที่เขาพอจะมีพลังเหลือ ผลประกอบการเริ่มรีบาวด์กลับมาแล้ว เขาลืมใครไปหรือเปล่า เนื่องจากผ่อนคลายยังไม่ครบสมบูรณ์

“ไปดูตัวเลขกันจริง ๆ เถอะครับ ไม่ได้มีคนไทยทั้งหมดไม่มีเงินในกระเป๋า แต่มีคนเดือดร้อนจริง ๆ ต้องถามว่า คนที่ไม่เดือดร้อนทราบหรือยัง แล้วจะกลับมาช่วยกันได้อย่างไร”

ดึงเอกชนจ้างงานล้านตำแหน่ง

นายสุพัฒนพงษ์กล่าวว่า จะมีมาตรการจูงใจเอกชนให้มาร่วมมือกับรัฐบาลในรูปแบบ Co-payment จะสะดวกและรวดเร็วกว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังหารือและจัดทำรายละเอียด

“จำนวนผู้ตกงาน จำนวนผู้เดือดร้อนมีแน่นอน มีผู้ได้รับรายได้ลดลงแน่นอน แต่คนตกงานจำนวนหนึ่งจะมีมาตรการภายใต้เงินงบประมาณปี 2564 และมาตรการภายใต้พ.ร.ก.เงินกู้ ในส่วนของการฟื้นฟูเศรษฐกิจ 400,000 ล้านบาท หลักล้านตำแหน่งรวบรวมกันได้อยู่แล้ว แรงงานที่จะว่าจ้างในระยะสั้น ช่วง 12 เดือนหลังจากนี้ จัดหาให้ได้ แต่ต้องมีภาคเอกชนเข้ามาร่วมโครงการกันด้วย”

“การจ้างงานล้านตำแหน่ง ประกอบด้วย จากงบประมาณปี 2564 ซึ่งได้สั่งให้รวบรวมแล้ว แบ่งออกเป็นบัณฑิตจบใหม่ 400,000 คน และคนที่ตกงานอยู่อีก 400,000 คน ไม่รวมคนที่จะตามมา

วันนี้จะมีการประชุมกันว่า จะสนับสนุนคนละเท่าไหร่ จะครึ่งหนึ่ง จะกี่พัน เขาจะไปทำการบ้าน เช่น ถ้าไปทำงานในบริษัทเอกชนรัฐจะร่วมจ่ายครึ่งหนึ่ง หรือ ไม่เกินจำนวนที่เท่าไหร่ ไม่หักภาษีเหมือนที่เคยทำ เพราะช้า แต่ถ้าให้ Intensive ซื้อลูกชิ้นยังครึ่งราคา สัปดาห์หน้าจะนำเรื่องเข้าครม.

ถ้าไปดูจีดีพี ตัวเลขที่ลดลงมีการบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนภาคเอกชน สิ่งที่ผมพยายามจะทำ เขาประเมินว่าจีดีพีทั้งปี ติดลบ 7.5% เพราะเรื่องการท่องเที่ยวและการส่งออกยังเป็นประเด็นอยู่

“ไทยต้องช่วยไทยแล้วล่ะ ต้องเดินสายคุยกับบริษัทเอกชน ว่า โครงการอย่าเพิ่งไปดีเลย์เลยนะ เดินต่อเถอะ เพราะเป็นการสร้างงาน และสร้างการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจด้วย นโยบายและมาตรการต่าง ๆ ต้องผลักดันให้สำเร็จเพื่อเรียกความเชื่อมั่นให้นักลงทุนกลับมาลงทุน”

ปีหน้าจีดีพีไม่ติดลบ

นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า เราสรุปกันเองหรือเปล่าว่าคนต่างชาติไม่เชื่อมั่นประเทศไทย ทำใจเป็นกลาง ลองไปถามประเทศอื่น ผมว่าเราถามประเทศอื่น อย่าเอาตัวเราเองเป็นตัวตั้ง เราเอาประเทศไทยเป็นตัวตั้งแล้วบอกว่าจีดีพีไตรมาสสองติดลบ 12.2%  ลบอย่างนั้น ลบอย่างนี้ เราดูเหมือนจะบอกว่า ประเทศอื่นชั่งสบายกันเหลือเกิน ชั่งมีความสุข เรามีความทุกข์อยู่คนเดียว รัฐบาลประเทศอื่นเก่งกาจ ดูแลประชาชนได้ทุกภาคส่วน ให้ลองดูเปรียบเทียบ เทียบได้ว่า เรายังมีดีกว่าคนอื่น

ประเทศอื่นลองนึกถึงภาพเขา แล้วหันกลับมาดูเราวันนี้ ยกตัวอย่างธุรกิจท่องเที่ยว หลายประเทศเล็งดูนโยบาย Travel Bubble ของประเทศเราอยู่ เราจะมีมาตรฐานอย่างไร เขาอยากเห็นประเทศของเราเริ่มต้นเป็นต้นแบบ ประเทศอื่นการระบาดยังไม่เรียบร้อยเลย และเศรษฐกิจยังถดถอยด้วย แล้วเราบอกว่า ของเราไม่ได้รับความเชื่อถือ ไม่ได้รับความเชื่อมั่นทั้งในและต่างประเทศ แต่ประเทศสิงค์โปรจีดีพีติดลบ 13 เปอร์เซ็นต์

“เราอยากให้พวกเราให้กำลังใจกันเองด้วย ตัวผมก็เองก็ได้แต่…ผมเองก็จะทำในทุกวัน เดินวันละก้าวยังไงก็ได้ระยะทาง อยากให้พวกเราเชื่อ และภูมิใจในประเทศไทยของเราทุกคน”

ไม่ใช่เรื่องง่าย ที่เรามาถึงตรงนี้ เกือบจะปกติ รถติด สังคมพวกเราไม่จำเป็นต้องห่างกันอีกต่อไป เรารู้ระยะห่างที่พึงจะมี ให้ภูมิใจในส่วนนี้ เกือบทุกประเทศเจอ ต้องอธิบายกันไป เวลาผ่านไป ให้โอกาส ขอเพียงรักษาของเดิมไว้ให้ดี ควบคุมการระบาด เราโทษรัฐบาล ถ้าเถอะถ้าเปลี่ยนรัฐบาลจะเปลี่ยนอย่างไร ทุกประเทศเจอหมด บางประเทศเลือกตั้งใหม่ กลับมาก็เจอ ไม่ได้หายไปไหน

“เงินในกระเป๋าจะเพิ่มขึ้นต้องใช้เวลา เศรษฐกิจจะทยอยดีขึ้นตามลำดับ เกิดการผ่อนคลายขึ้นเรื่อย ๆ ก็จะเห็นเศรษฐกิจดีขึ้นเป็นลำดับ การบริโภค การจ้างแรงงานก็จะมีมากขึ้น แต่ต้องรักษาวินัยไม่ให้เกิดการระบาดรอบสอง เพราะเป็นเรื่องของความไม่แน่นอน ส่วนเป้าหมายจีดีพีสิ้นไปจะเป็นเท่าไหร่อย่าไปพึ่งกังวนกันมากเลย ตอนนี้ดูแลเรื่องการจ้างแรงงานให้มีแรงงานเพียงพอ และขั้นต่ำที่สุดประชาชนที่เดือนร้อนต้องได้รับการดูแล”

จีดีพีปีหน้าเราก็ไม่ติดลบแล้ว เพราะปีนี้ติดลบไปแล้ว อย่าไปติดใจเรื่องจีดีพี มันมีแต่จะดีขึ้น เพียงแต่ว่า ต้องอดทน ต้องประคับประคอง

เดินทุกวัน-เดินวันละก้าว

นายสุพัฒนพงษ์กล่าวถึงการทำงาน ว่า พูดไม่ได้เต็มปากว่า ผมเป็นรองนายกรัฐมนตรีดูเศรษฐกิจภาพรวม เพราะผมก็ดูแค่ 2 กระทรวง กระทรวงการคลัง กับกระทรวงพลังงาน ผมจะเน้น Execution ทำให้สำเร็จ ทำให้เกิดผล แตะเบรก เหยียบคันเร่งไป คนที่อยากจะให้บ้านเมืองอยู่แบบนี้สบายดีแล้ว ส่วนอีกคนที่ได้รับกระทบ เดือดร้อนก็อยากให้เปิดประเทศ ก็จะมีสองความรู้สึกนี้อยู่ตลอดเวลา

“การทำงานของผมก็ทั้งรุก ทั้งเรื่อย (หัวเราะ) ก็ต้องพักบ้าง ผมเอาใจทำ ถ้าใจมันต้องเร่ง มันก็ต้องเร่ง วันนี้ก็เดินทำงาน ใครที่มีศักยภาพที่จะช่วยได้ผมไปหาเขา ผมก็จะไปพูดคุยกันเขา”

“ถ้าเราสามารถทำให้คนกลุ่มหนึ่งเข้าใจคนอีกกลุ่มหนึ่ง ก็ช่วยเหลือกัน ประคับประคองกันในช่วงเวลาสั้น ๆ จากนี้ไป จนกว่าการเปิดประเทศจะสมบูรณ์ ผมว่ามันจะสวยงามมาก

ผมอาจจะเป็นอุดมคตินะ แต่ผมจะเดินสายคุยกับบริษัทเป็นกลุ่ม ๆ ให้ตัวบริษัทเองกลับมาพิจารณาในเรื่องนี้ ว่า วันนี้ตัวเองกลับมาเหมือนเดิมแล้ว เงินเดือนก็ได้รับปกติ บางบริษัทก็มีกำไรพอสมควร แต่ท่านลืมคนกลุ่มหนึ่งไปหรือเปล่า

เป็นคนกลุ่มหนึ่งที่เคยเป็นลูกค้าเราด้วยซ้ำไป วันนี้ก็ยังลำบากอยู่ จะเข้ามาร่วมในกิจกรรมของรัฐบาลอย่างไรได้บ้าง ถ้าเรามีความเชื่อร่วมกันนะ แต่ถ้าเราไม่มีความเชื่อร่วมกัน ผมก็ทำคนเดียว ไม่เป็นไร ผมก็เดินของผมทุกวัน เดินวันละก้าว วันหนึ่งก็ต้องถึง”

บริษัทยังมีกำไรหลายบริษัท บางเซกเตอร์ดีขึ้น หลังจากผ่อนคลายให้ผู้ประกอบการเปิดกิจการได้ตามปกติ รัฐมนตรีคลังดูทุกวัน ท่านรับปากจะดูทุกวัน นอกจากนี้รมว.แรงงานจะจัดงานตลาดแรงงาน Expo

ไทยเที่ยวไทย 12 ล้านคน 4 แสนล้าน

นายสุพัฒนพงษ์กล่าวว่า สำหรับมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว แม้คนจนจะกลับมาค้าขายได้เหมือนเดิม รถติด มีการทำงานคล่องขึ้น แต่แน่นอนเงินในกระเป๋าไม่เท่าเดิม แต่ไม่เป็นศูนย์แน่นอน นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายคณะทำงานอีก 1 ชุดที่มีรัฐมนตรีทุกกระทรวง 29 คนเพื่อไปดูในระดับจังหวัด

คนที่อยู่ในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ เช่น ธุรกิจโรงแรม ธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้อง มัคคุเทศก์ พวกนี้ต้องช่วยเขา ต้องแบ่งเป็นสองส่วน ส่วนแรก นักท่องเที่ยวต่างประเทศ สายป่านยาว เป็นบริษัทรายใหญ่ สามารถพึ่งพาตัวเองได้ ดิ้นรนเปิดให้นักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้ามาอย่างมีวินัย

ส่วนที่เหลือ เป็นสิ่งที่พวกเราต้องช่วยกัน เที่ยวด้วยกันถึงเกิดขึ้นมา คนไทยที่เคยเที่ยวต่างประเทศ 12 ล้านคน ใช้เงิน 400,000 ล้านบาท กลับมาร่วมโครงการ แล้วไม่ต้องจ่ายร้อย เพราะรัฐบาลร่วมจ่าย

ต้องประคับประคอง รัฐบาลจ่ายหมด ก็เหมือนกันท่านรมว.คลังว่า จ่ายหมดก็เป็นหนี้เป็นสิน ยั่งยืนไหม อาจไม่ยั่งยืนถ้ามีการระบาดรอบสอง แล้วใครต้องไปจ่าย

“เรามีโอกาสดีแล้ว รักษาตรงนี้ไว้ให้ดี ตรงนี้ต้องประคับประคอง คนที่เปราะบางต้องได้รับการดูแล มาตรการกระตุ้นการบริโภคก็จะมีตามมา ถ้าตกงานหรือไม่มีการจ้างงานก็จะมีงานใหม่มารองรับ”

“ถ้าไม่เอาอีกก็ไหลลงมาเรื่อย ๆ สุดท้ายก็จะมีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่จะรองรับในที่สุด แต่เราไม่อยากให้ถึงตรงนั้น เราอยากให้ทุกคนกลับไปมีงานทำ แต่ทั้งโลกไม่มีประเทศใดที่มีสภาพเศรษฐกิจกลับไปเหมือนเดิม ไม่มีใครได้เงินในกระเป๋ากลับไปเท่าเดิม”

สำหรับโครงการขนาดใหญ่ เช่น EEC ดร.ไพรินทร์จะเป็นคนดู ผมคิดว่า เรื่องโครงสร้างพื้นฐานทำไปเถอะ ไม่เสียหายอะไร เป็นการสร้างงาน สร้างอนาคต ทำต่อ แต่เรื่องอุตสาหกรรมที่เรารอคอย ไม่ไหร่จะมาสักที เช่น S-Curve ก็พยามยามทำให้มาสักทีหนึ่ง

ทำงานเต็มที่-เน้นความสำเร็จ

นายสุพัฒนพงษ์กล่าวว่า เรื่องการแก้ไขปัญหาความยากจน ผมต้องทำการบ้านอีก เป็นเรื่อง Sensitive ผมยังรับปากอะไรไม่ได้ แต่ผมตั้งใจ เรื่องปัญหาความเหลื่อมล้ำ

ถ้าเราทำสำเร็จในการเอาคนที่เดือดร้อนน้อย ตระหนักรู้ว่า ต้องมาช่วยคนที่เดือดร้อนเยอะ ถ้าเราทำสำเร็จจะนำไปสู้การแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำได้ ต้องใช้โอกาสนี้ให้เป็นประโยชน์ ถ้าเขารู้จักแบ่งปัน

เราต้องปรับตัว จุดแข็งเราคืออะไรหลังโควิด ผมเกษียนมา 1 ปี ซ่อมร่างกายมา ก็ยังพอไหวอยู่ ก็จะมาผลักดันเรื่องพวกนี้ รัฐบาลควักอย่างเดียวไปไม่ได้ ต้องเอาคนที่มีกำลัง แสวงหาคนที่มีกำลัง และต้องสร้างความเชื่อเหมือนกัน คนที่ยังมีกำลังยังมี และคนที่ยังมีความเชื่อบางส่วนมี เขาไม่ได้หยุดการขยาย เขาลงทุนบางส่วน

นายกรัฐมนตรีพูดอยู่ตลอดเวลาอยากให้มีคนรุ่นใหม่เข้ามาอยู่ในกระบวนการแก้ไขปัญหาในครั้งนี้ ผมพยายามจะเอาเด็กรุ่นใหม่ไปรับฟังปัญหา การแก้ปัญหาวิธีแก้ปัญหาใหม่ ๆ มากขึ้น และดึงภาคเอกชนเข้ามาร่วม เน้นความสำเร็จ เน้นให้มัน Executionได้ แล้วจะพลิกหลายเรื่อง เช่น ความเหลื่อมล้ำ ทำอย่างไรให้เกิดพลังแห่งความรับผิดชอบ 12 เดือน 15 เดือนหลังจากนี้ จะดีขึ้น ปลูกฝังในจิตใจวันนี้ วันหลังจะแก้เรื่องอื่นได้ด้วย

“ทำผมเต็มที่ ไม่ได้ดูเรื่อง index เน้นความสำเร็จให้มีวันต่อวัน ถ้าผมจะทำได้อย่างที่พูดต้องมีสิ่งย้อมใจอยู่ตลอดเวลา ก็คือ ความสำเร็จเล็ก ๆ เชื่อว่า ความสำเร็จเล็ก ๆ รวม ๆ กันแล้วมันก็จะใหญ่เอง”

ไม่รู้นะ ผมมองโลกในแง่ดี เหตุการณ์ขณะนี้ยังไงทุกคนต้องร่วมมือกัน ทุกคนเห็นปัญหา โอ้ ขนาดท่าน (ผู้สื่อข่าว) บอกว่า จนกันทั้งแผ่นดินแล้ว ถ้ายังมีชุดเศรษฐกิจ บางคนก็อาจจะชิว ๆ ยังคิดว่าไม่มีความเดือดร้อนเกิดขึ้น ไม่น่าเกิด ผมเชื่อว่า ความร่วมไม่ร่วมมือจะดีขึ้น ผมคุยกับทุกคน (รัฐมนตรีที่มาจากพรรคการเมือง) ได้ ทุกคนยินดี

โรงไฟฟ้าชุมชนเกษตรกรต้องได้ประโยชน์

นายสุพัฒนพงษ์กล่าวถึงกระทรวงการคลังและกระทรวงพลังงานในกำกับว่า กระทรวงการคลังก็มีรัฐวิสาหกิจในกำกับ ก็ต้องดึงมาร่วมให้เกิดการจ้างแรงงาน กองทุนพลังงานก็ให้เน้นการจ้างงาน จ้างรายได้ด้วย ลงไปสู่จังหวัดให้มีมากขึ้น แผนพลังงานไฟฟ้าปรับนิดหน่อยให้สอดรับกับสถานการณ์หลังโควิด ซึ่งที่ผ่านมาก็ปรับนิดหน่อยเพื่อเปิดช่องให้เกิดโรงไฟฟ้าชุมชนขึ้นมา แต่ก็สามารถทำแยกออกมาได้ ซึ่งโรงไฟฟ้าชุมชนเร่งแน่นอน ประโยชน์ต้องเข้าให้ถึงชุมชน หรือ ตัวเกษตรกร ไม่ใช่ประโยชน์อยู่ที่โรงไฟฟ้า บางทีคนทำโรงไฟฟ้าอาจต้องเสียสละด้วยซ้ำไป อย่าเรียกว่าทบทวนเลย แต่ไปศึกษาว่าตรงตามวัตถุประสงค์หรือไม่

“วัตถุประสงค์หลักต้องถึงประโยชน์กับเกษตรกร ไม่ใช่ตั้งโรงไฟฟ้ามาแล้วรับซื้อไม้ และไม่รู้ว่าไม้มาจากไหน มันจะเป็นพลังงานทดแทนได้อย่างไร ในเมื่อไม่มีการปลูกใหม่เกิดขึ้น ใช้ไปแล้วก็ต้องปลูกกลับขึ้นมาใหม่ ไม่ใช่ไปรับซื้อไม้ที่ไหนก็ไม่รู้ มายังไงก็ไม่ทราบ ไม่ได้”

ไม่ได้แย่งเก้าอี้พลังงานใครมา

นายสุพัฒนพงษ์กล่าวถึงการได้ตำแหน่ง รมว.พลังงาน ซึ่งก่อนหน้านี้ตำแหน่งรัฐมนตรีพลังงานมีคนอยากมาเป็นหลายคน ว่า “ผมไม่ได้ไปแย่งกับใครนะ และไม่ได้รู้สึกว่าอาจจะเกิดความไม่แน่นอนในตำแหน่งนี้”

“ผมได้รับการทาบทามตำแหน่งรมว.พลังงานก่อน แต่ต่อมาท่านนายกฯบอกว่า เป็นรองนายกฯ อีกนะ มาดูพลังงานกับคลัง เราก็ตกลง  ผมอยู่ ปตท.มาก่อน อาจจะไม่มีความรู้เรื่องไฟฟ้า แต่ชำนาญเรื่องน้ำมัน เพราะอยู่สายปิโตรเคมี คนทำงานก็รู้จักกันทั้งนั้น”