TU ชูอินโนเวชั่นปั้นรายได้หมื่นล้าน ตั้งโรงงานคอลลาเจน “เปปไทด์”

ปลาทูน่า

“TU” ชูกลยุทธ์ “open innovation” ปั้นธุรกิจใหม่โกยรายได้เพิ่มหมื่นล้าน สปีดแผนร่วมทุนไทยเบฟ ผุดโรงงานผลิตคอลลาเจนเปปไทด์ พร้อมตั้ง 2 บริษัทใหม่ ลงทุนสตาร์ตอัพกลุ่มอาหารอนาคต เดินเครื่องผลิตน้ำมันทูน่าในเยอรมนี คาดอานิสงส์โควิดดันรายได้ปีนี้โต 9% นิวไฮรอบ 5 ปี แนวโน้มดีต่อเนื่องถึงปี”64

นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน จำกัด (มหาชน) หรือทียู เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ”ว่า ปี 2563 บริษัทคาดว่ายอดขายโตเฉลี่ย 7-9% สูงสุดในรอบ 5 ปี มียอดขาย 9 เดือนแรก 98,938 ล้านบาทเติบโต 5.9% มีกำไรขั้นต้นโต 17.4% อยู่ที่ 17,395 ล้านบาท กำไรสุทธิ 4,789 ล้านบาท เติบโต 73.6% ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้ผู้บริโภคหันมาใช้ชีวิตอยู่บ้าน และปรุงอาหารเองมากขึ้น ส่งผลดีต่อสินค้ากลุ่มอาหารกระป๋อง ช่วยชดเชยรายได้สินค้าอาหารแช่เยือกแข็งจากที่โรงแรม ร้านอาหาร ต้องปิดตัวลง และมีรายได้อาหารสัตว์เลี้ยงที่เติบโตมากขึ้นด้วย

ธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร  ไทยยูเนี่ยน
ธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ไทยยูเนี่ยน

“แนวโน้มไตรมาส 4/63 ยังดีต่อเนื่องจากความต้องการซื้อตลาดโลกเริ่มฟื้นตัว หลายประเทศเริ่มเปิดให้เดินทางเข้าออกแต่อาจไม่ได้ดีเท่าช่วงก่อนโควิด ขณะที่ตลาดในประเทศสัดส่วน 10% ยังไม่ดี เพราะไทยพึ่งพารายได้ท่องเที่ยวซึ่งหายไป 40 ล้านคน ธุรกิจร้านอาหารและโรงแรมยังลำบาก ในปีหน้าเราเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ทั้งควบคุมการใช้จ่าย การลงทุน เน้นเรื่องกระแสเงินสด ลดหนี้ ลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ไม่ห่วงเรื่องการขาย แต่ทำอย่างไรจะรักษาอัตราการทำกำไรให้อยู่ระดับที่เติบโตขึ้น”

ขยายลงทุนนวัตกรรมใหม่

“สำหรับเป้าหมายปี 2564 ยังมองว่ามีโอกาสเติบโตต่อเนื่อง จากปีนี้ระดับซิงเกิลดิจิต คาดว่ามีรายได้เพิ่ม 5% ขณะเดียวกันได้เริ่มกลับไปผลิตน้ำมันสกัดทูน่าที่โรงงานในเยอรมนี ไตรมาส 4/63 และเริ่มผลิตส่งมอบลูกค้าได้ในปี 2564”

นายธีรพงศ์กล่าวต่อว่า นโยบายบริษัทเน้นลงทุนนวัตกรรมใหม่มากขึ้น คู่ขนานการลงทุนเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพในธุรกิจเดิม เช่น ใช้ AI สร้างความยั่งยืนในการผลิต โดยแผนลงทุนคาเปกตามกรอบงบประจำปี 2564 วางไว้ 4,500 ล้านบาทบวกลบ นโยบายหลักเน้นดูแลการทำกำไร การถือครองกระแสเงินสด และลงทุนอย่างรอบคอบ

ผนึกไทยเบฟผลิตคอลลาเจน

ล่าสุด ในส่วนของการพัฒนานวัตกรรมของทียู ประกอบไปด้วยการลงทุน โรงงานผลิตโปรตีนไฮโดรไลเซต และคอลลาเจนเปปไทด์ จากชิ้นส่วนบายโปรดักต์ของปลาทูน่า ซึ่งที่ประชุมบอร์ดได้อนุมัติงบประมาณลงทุน 25 ล้านเหรียญสหรัฐ จะเริ่มก่อสร้างโรงงานใน จ.สมุทรสาคร ปี 2564 โดยนำชิ้นส่วนจากหนังปลาทูน่าและส่วนอื่น ๆ มาสกัดเป็นโปรตีนคอลลาเจน คาดว่าจะเริ่มจำหน่ายในลักษณะ B2B ในปี 2022

ขณะเดียวกัน ก่อนหน้านี้บริษัทได้ร่วมลงทุนในรูปจอยต์เวนเจอร์กับกลุ่มไทยเบฟ ภายใต้บริษัท ฟู้ด แอนด์ เบฟเวอเรจ ยูไนเต็ด จำกัด ด้วยงบประมาณลงทุน 10 ล้านบาท โดยทียูถือหุ้นสัดส่วน 49% และเบฟเทค (ไทยเบฟ) ถือหุ้น 51% นอกจากนี้เมื่อวันที่ 30 ตุลาคมที่ผ่านมา ได้ตั้งบริษัท Thai Union South Asia Pte.Ltd. ขึ้นที่ประเทศสิงคโปร์ ด้วยทุนจดทะเบียน 3 แสนเหรียญดอลลาร์สิงคโปร์ (30 ล้านเหรียญสหรัฐ) โดยทียูถือหุ้น 100%

ลงทุนสตาร์ตอัพในสิงคโปร์

“จุดเริ่มต้นการจอยต์เวนเจอร์กับไทยเบฟ เกิดจากที่ผมทำงานร่วมกับไทยเบฟในเรื่องการพัฒนานวัตกรรมในโครงการสเปซเอฟ ซึ่งไทยเบฟเข้ามาร่วมเป็นโคสปอนเซอร์ เราเองก็มีนโยบายหลักเรื่องการ open innovation เพราะเชื่อว่าต่อไปธุรกิจต่าง ๆ จะต้องมาทำงานร่วมกัน ไม่ใช่มุ่งแข่งขันกันเหมือนในอดีต เพราะยิ่งร่วมมือกันและเปิดกว้างจะยิ่งเกิดการพัฒนามากขึ้น นี่เป็น mindset ของธุรกิจใหม่ ที่มีโมเดลการทำธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไปจากอดีต จะเห็นว่าเราไม่เน้นการ acquisition หรือเข้าซื้อกิจการแต่เน้นการสร้างพันธมิตร ช่วยกันเติบโตไปได้อีก”

ทั้งนี้ จะให้ความสำคัญกับการอาศัยจุดแข็งของแต่ละคน สำหรับทียู มีเรื่องงานวิจัยจำนวนมาก และมุ่งเน้นเรื่องนวัตกรรมมา 6 ปีแล้ว ขณะที่ไทยเบฟเชี่ยวชาญเรื่องการทำการตลาด การร่วมมือกันจึงเกิดขึ้น บริษัทนี้อยู่ระหว่างเริ่มต้น ค่อย ๆ ทำ สินค้าคงได้เห็นในเร็ว ๆ นี้ ถ้าเป็นสินค้าที่เกิดจากการพัฒนาร่วมกันก็จะจดสิทธิบัตรทรัพย์สินทางปัญญาในนามบริษัทที่ทำร่วมกัน

โฟกัสธุรกิจอาหารอนาคต

“ส่วนบริษัททียูเซาท์เอเชียที่ตั้งใหม่ที่สิงคโปร์ เน้นพัฒนาสตาร์ตอัพ ซึ่งมีแผนจะลงทุนต่อเนื่อง เริ่มแล้ว 4 โครงการ แต่ธุรกิจสตาร์ตอัพเป็นอะไรที่เสี่ยงสูง ต้องการสเกลอัพ จึงต้องเน้นกระจายการลงทุน หลักการเน้นเซ็กเตอร์ที่ถนัดคือ อาหารอนาคต เช่น โปรตีนจากพืช แมลง อาหารต่าง ๆ เป็นสิ่งที่เราอยากเรียนรู้เรื่องเทคโนโลยีที่ใช้ เป็นโมเดลธุรกิจใหม่ของโลกที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงไป”

นายธีรพงศ์กล่าวว่า การลงทุนอาหารอนาคตเพราะเห็นเทรนด์เติบโตดีต่อเนื่อง แม้ขณะนี้มูลค่าตลาดไม่มากนัก แต่หากมีการพัฒนาสินค้าใหม่ และกระตุ้นให้เกิดการขยายตลาด จะนำไปสู่การลงทุนที่เพิ่มขึ้นอีก

“เป้าหมายของการพัฒนานวัตกรรมในเชิงรายได้ ผมมองว่าอนาคตทียูจะสามารถสร้างรายได้จากสินค้านวัตกรรมได้ 10% ของมูลค่ารายได้เรา หรือประมาณ 10,000 ล้านบาทได้แน่นอน”