นิคม 304 ดันปราจีนฯเข้า EEC มั่นใจมีศักยภาพไม่แพ้ 3 จังหวัด

นิคมอุตสาหกรรม

ลุ้น “ปราจีนฯ” เข้า EEC “สวนอุตสาหกรรม 304” เตรียมที่ดินพร้อมสาธารณูปโภคครบ 9,000 ไร่ ชูจุดขายเชื่อมต่อชายแดนสระแก้ว แนะรัฐปรับโควิด-19 เป็นโอกาสดูดดีลลูกค้าใหม่เร่งเข้าร่วม CPTPP ชิงลูกค้าเวียดนาม

นายกิตติพันธ์ จิตต์เป็นธรรม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สวนอุตสาหกรรม 304 จ.ปราจีนบุรี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาคเอกชนได้พยายามยื่นเรื่องเพื่อให้ภาครัฐพิจารณาให้ จ.ปราจีนบุรี เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

ซึ่งจะช่วยเพิ่มทางเลือกให้กับนักลงทุน เนื่องจากปราจีนบุรีเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพไม่ต่างจาก 3 จังหวัดใน EEC ทั้งยังมีจุดเด่นที่สามารถเชื่อมต่อได้ถึง 2 เส้นทางไม่ไกลจากท่าเรือ และการขนส่งทางอากาศ และสามารถเชื่อมโยงกับเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (SEZ) จ.สระแก้ว ทั้งยังมีแหล่งน้ำอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา มีระบบไฟฟ้าพร้อมรับการลงทุนในทุกอุตสาหกรรม

“แม้ว่าเราจะยื่นข้อเสนอไปแล้วทุกเวที ทั้งเวที คณะกรรมการร่วมภาครัฐและภาคเอกชน (กรอ.) เวทีของ EEC สภาอุตสาหกรรมจังหวัด และเวทีอื่น ๆ มาตลอด ซึ่งขณะนั้นนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี รับทราบและได้รับเรื่องไว้แต่ก็ใช้เวลาหลายปีแล้วที่ยังไม่มีความคืบหน้า”

“ซึ่งถ้าเทียบสิทธิประโยชน์บีโอไอหากเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-curve ลงพื้นที่ไหนก็จะได้รับการยกเว้นภาษีอยู่แล้วตามประเภทกิจการที่เขากำหนด แต่หากเราเข้า EEC ก็ได้สิทธิประโยชน์ด้านพื้นที่เพิ่มอีก เพราะปราจีนฯฐานการลงทุนเดิมมีอยู่แล้ว มีโรงงานประกอบรถยนต์ มีอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องอีกจำนวนมาก”

Advertisment

นายกิตติพันธ์กล่าวว่า มั่นใจว่าการลงทุนจะฟื้นกลับมาช่วงไตรมาส 2 ของปี 2564 เนื่องจากที่ผ่านมานิคมได้ปรับตัวรับวิถี new normal โดยพึ่งพาเทคโนโลยีในการเจรจาซื้อขายที่ดินมากขึ้น เพราะนักลงทุนยังไม่อาจเดินทางเข้ามาในประเทศได้ 100%

แต่ตอนนี้อาจจะเดินทางเข้ามาได้บางส่วนจากนั้นต้องกักตัว 14 วัน ซึ่งได้รับการอำนวยความสะดวกจากรัฐและเอกชน โดยเฉพาะโรงแรมในพื้นที่ปราจีนบุรี ทำให้เมื่อพ้นระยะเวลากักตัวแล้วสามารถเข้าดูพื้นที่ได้ทันทีทั้งนี้ ปัจจุบันสวนอุตสาหกรรม 304 มีขนาดพื้นที่ 12,500 ไร่ นักลงทุนส่วนใหญ่เกือบ 100% คือนักลงทุนต่างชาติ โดยสัดส่วน 60% คือ ญี่ปุ่น จีน อินเดีย และยุโรป

โดยสวนอุตสาหกรรม 304 ทั้งในปราจีนบุรี และฉะเชิงเทรา ทั้ง 2 พื้นที่เป็นคลัสเตอร์อุตสาหกรรมในประเทศไทยที่ได้รับสิทธิประโยชน์จากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) นอกจากนั้นยังมีผลิตภัณฑ์เพื่อรองรับการลงทุนในอุตสาหกรรมอื่น โดยมีโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคพร้อม

แหล่งข่าวในฐานะผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรม จ.ชลบุรี เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ในช่วงที่เกิดโควิด-19 เอกชนทุกรายจำเป็นต้องปรับตัวโดยการเจรจากับลูกค้าผ่านทางอีเมล์ หรือตัวแทนที่อยู่ในประเทศไทย ซึ่งสามารถช่วยให้ตัดสินใจซื้อที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมกันได้ตามปกติ แต่การดิ้นรนของเอกชนเพียงฝ่ายเดียวอาจไม่ได้ทำให้ระบบเศรษฐกิจโดยรวมดีขึ้น

Advertisment

ดังนั้น ภาครัฐเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญที่ต้องเข้ามาช่วย เนื่องจากคู่แข่งคือเวียดนามได้เปรียบในหลาย ๆ ด้าน โดยเฉพาะค่าแรงถูกกว่า จึงทำให้อุตสาหกรรมที่ยังพึ่งพาแรงงานต้องย้ายฐานไปเวียดนาม ไทยกำลังจะเพลี่ยงพล้ำจากการไม่เข้าร่วม CPTPP และเมื่อการตัดสินใจช้า ยิ่งส่งผลให้ไทยเสียเปรียบลงไปเรื่อย ๆ