สหรัฐจุดชนวน AD ยางรถยนต์ สภาอุตฯชี้โรงงานจีน-ไต้หวันสะเทือนหนัก

สหรัฐเดินหน้าสอบสวน
Andrew CABALLERO-REYNOLDS / AFP

“สหรัฐ” รีดภาษีเอดีเบื้องต้นยางรถยนต์ไทย 13.25-22.20% “พาณิชย์” เร่งมั่นใจไม่กระทบส่งออก เรตเอดีไทยต่ำกว่าคู่แข่ง 3 ประเทศ เตรียมเจรจาอีกรอบ 13 พ.ค. 2564 ขอลดลงอีก

นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2563 กระทรวงพาณิชย์สหรัฐได้ประกาศเรียกเก็บอัตราภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด (เอดี) เบื้องต้น สินค้ายางรถยนต์ที่นำเข้าจากประเทศไทยที่ 13.25-22.20% ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำกว่าที่ทางสหภาพแรงงานเหล็กสหรัฐ (หรือ USW) ได้ยื่นเรื่องเรียกร้องต่อกรรมาธิการการค้าระหว่างประเทศขอให้เรียกเก็บเอดียางรถยนต์ไทย 106-217% ทั้งนี้ อัตราเอดีดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ทันที จนกว่าจะมีการพิจารณาอีกครั้ง ภายหลังจากที่ได้มีการไต่สวนและได้รับข้อมูลจากภาคเอกชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในวันที่ 13 พฤษภาคม 2564

“นอกจากไทยแล้ว สหรัฐยังได้มีการเรียกเก็บเอดีจากอีก 3 ประเทศ คือ เกาหลีใต้ 14-38% ไต้หวัน 52-98% และเวียดนาม 0-22% แต่อย่างไรก็ดีก่อนที่จะมีการประกาศอัตราภาษีใหม่อีกครั้ง ผู้ส่งออกไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็จะพยายามชี้แจงทำความเข้าใจถึงการส่งออกยางรถยนต์ไปสหรัฐ ซึ่งมั่นใจว่าการชี้แจงไปครั้งนี้ก่อนประกาศใหม่จะทำให้ไทยเสียอัตราภาษีที่ต่ำกว่าประเทศคู่แข่งได้”

รายงานข่าวจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ประจำชิคาโก ประเทศสหรัฐ ที่ผ่านมา USW ยื่นฟ้องให้รัฐบาลใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดสินค้านำเข้า หลังจากพบว่ามีการนำเข้าขยายตัวสูง 20% ในช่วงระหว่างปี 2560-2562 หรือมีจำนวนยางรถยนต์ 85.3 ล้านเส้น คิดเป็นมูลค่า 4,400 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งน่าจะเป็นผลจากการทุ่มตลาด

ซึ่งเฉพาะในปี 2562 สหรัฐนำเข้ายางรถยนต์ส่วนบุคคลและยางรถบรรทุกขนาดเบา มูลค่า 12,487.87 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 2.54% จากปี 2561 โดยมีไทยเป็นแหล่งนำเข้าสำคัญ มีส่วนแบ่งตลาด 20.76% หรือมีมูลค่านำเข้า 2,592.66 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 25.80% ขณะที่แหล่งนำเข้าอื่น ๆ ได้แก่ แคนาดาสัดส่วน 12.10% เกาหลีใต้สัดส่วน 10.45% เม็กซิโกสัดส่วน 8.35% และญี่ปุ่นสัดส่วน 8.13%

Advertisment

สำหรับประเภทยางรถยนต์ที่สหรัฐนำเข้าจากไทยเป็นยางรถยนต์ส่วนบุคคล มูลค่า 1,422.98 ล้านหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 12.27% และยางรถบรรทุกขนาดเบา มูลค่า 1,169.68 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 47.40%

อย่างไรก็ตามสินค้ายางรถยนต์จากประเทศไทยที่ส่งออกไปยังสหรัฐ กว่า 50% นั้นเป็นการผลิตโดยเป็นบริษัทลงทุนจีน เช่น LLIT, Zhongce, Maxxis, Sentury Tire และอีก 30% เป็นห่วงโซ่อุปทานการผลิตสินค้าระหว่างบริษัทแม่ในสหรัฐและบริษัทลูกในไทย เช่น Bridgestone, Goodyear, Michelin, Sumitomo, Yokohama ส่วนบริษัทสัญชาติไทยที่ส่งไปสหรัฐ เช่น Dee Stone, Vee Rubber, Otani สัดส่วนเพียง 20%

นายชัยสิทธิ์ สัมฤทธิวณิชชา ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงกรณีดังกล่าวว่า อัตราอากร AD เบื้องต้นยังไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจน 100% ว่าจะเก็บทันทีหรือเมื่อไหร่

ส่วนอัตราก็ไม่ชัดเจน ซึ่งอาจสูงหรือต่ำกว่าก็เป็นได้ จากประกาศซึ่งของประเทศไทย มี 2 บริษัทที่ถูกปรับเพิ่มจากเดิมไม่เสียเลย ได้แก่ บริษัท ซูมิโตโม รับเบอร์ (ไทยแลนด์) จำกัด อัตรา 13.25% และบริษัท แอลแอลไอที (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตยางรถยนต์ยางหลิงหลง อัตรา 22.21% ขณะที่บริษัทยางรถยนต์อื่น ๆ ถูกจัดเก็บในอัตรา 16.66% ส่วนเวียดนาม ถูกจัดเก็บในอัตรา 0-22.30% และมี 3 บริษัทเสียในอัตราเป็นศูนย์เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ไต้หวัน มี 2 บริษัทที่ถูกจัดเก็บในอัตรา 52.42% และ 98.44% ส่วนที่เหลือถูกจะเก็บที่ 88.82%

Advertisment

“ประเทศไทยอยู่ในเรตกลาง ๆ ซึ่งวันนี้ยังไม่สามารถประเมินผลกระทบต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นได้ ปัจจุบันอเมริกามีการนำเข้ายางรถยนต์จากจีนสูงสุด รองลงมาคือ ไทย ไต้หวัน เวียดนาม ตามลำดับ ซึ่งอนาคตเชื่อว่าเขาคงต้องไปมองฐานผลิตจากประเทศอื่น ๆ ที่ไม่โดน AD เช่น อินเดีย, อินโดนีเซีย เรื่องดังกล่าวเราคาดการณ์ไว้แล้วก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะเมื่อครั้งที่โรงงานผู้ผลิตยางรถยนต์สัญชาติจีนย้ายเข้ามาตั้งฐานผลิตในบ้านเรา ซึ่งขณะนั้นกลุ่มได้มีการแย้งไปทางบีโอไอแล้วว่าอาจจะเป็นระเบิดเวลา เนื่องจากจีนเน้นการผลิตสินค้าที่มีราคาต่อหน่วยต่ำ และครั้งนี้อเมริกาเตรียม AD ยางรถยนต์จากไทยนั้น เรียกว่าทุกบริษัทที่มีการส่งออกไปอเมริกาก็ต้องรับผลกระทบแน่นอน”

แหล่งข่าวฝ่ายบริหารบริษัทยางรถยนต์ชั้นนำกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ผลกระทบดังกล่าวหลัก ๆ น่าจะไปอยุู่ที่ผู้ประกอบการจากจีน และไต้หวัน ส่วนค่ายยางชั้นนำนั้นอาจจะได้รับผลกระทบบ้างแต่ไม่มาก ประกอบกับการส่งออกยางรถยนต์เพื่อไปจำหน่ายยังอเมริกาของบริษัทนั้นมีจำนวนไม่เยอะ เพราะฐานการผลิตยางรถยนต์ของบริษัทในประเทศไทยนั้น หลัก ๆ จะรองรับความต้องการภายในประเทศและภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เป็นหลัก

สำหรับมูลค่าการส่งออกยางยานพาหนะจากศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากร รายงานว่า 11 เดือนแรกปี 2563 (ม.ค.-พ.ย.) มีมูลค่า 154,578.4 ล้านบาท ลดลง 6.19%