1 ปีโควิดแห่จด “สิทธิบัตร” เพียบ ยาฆ่าเชื้อ-วัคซีน-อุปกรณ์ป้องกันนำโด่ง

คนไทยแห่พัฒนาสิทธิบัตรสินค้าเกี่ยวกับโควิด-19 มากถึง 60 คำขอ ใน 7 กลุ่มผลิตภัณฑ์สำคัญ “อุปกรณ์ป้องกันการแพร่เชื้อ” นำโด่ง 26 คำขอ-วัคซีนโควิดก็มี 5 คำขอ พาณิชย์เร่งระหว่างตรวจสอบขีดเส้นภายใน 18 เดือน

นางสาวนุสรา กาญจนกูล รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา พบว่ามีคนไทยรวมถึงหน่วยงานต่าง ๆ ในประเทศที่ได้คิดค้นและพัฒนาชิ้นงานมายื่นขอรับความคุ้มครองสิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตรในผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 นับตั้งแต่ที่มีการระบาดในเดือนมีนาคม 2563 จนถึงปัจจุบันกว่า 60 คำขอในสินค้า 7 กลุ่มหลัก ๆ เพื่อให้เกิดการคุ้มครองในอนาคต

นุสรา กาญจนกูล
นุสรา กาญจนกูล รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา

“กรมทรัพย์สินทางปัญญาอยู่ระหว่างดำเนินการตรวจสอบคำขอเหล่านี้ตามกระบวนการ ขั้นตอนของการยื่นคำขอเพื่อขอจดสิทธิบัตร จากข้อมูลนี้ชี้ให้เห็นว่าคนไทย หน่วยงานภาครัฐและเอกชน ให้ความสนใจกับการคุ้มครองงานสิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตรมากขึ้นโดยเฉพาะปัจจัยที่เกี่ยวกับโควิด-19 อย่างมาก”

ทั้งนี้ ข้อมูลพบว่าตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในไทยช่วงแรกเดือนมีนาคม 2563-18 มกราคม 2564 จำนวนคำขอที่มีการยื่นเข้ามาเกี่ยวกับโควิด-19 มีจำนวน 60 คำขอ 7 กลุ่มหลัก ได้แก่

(1) อุปกรณ์ป้องกันการแพร่เชื้อ เช่น หน้ากากอนามัย อุปกรณ์ป้องกันละอองฝอย (face shield) เป็นต้น จำนวน 26 คำขอ

(2) เครื่องมือและอุปกรณ์ฆ่าเชื้อ เช่น ตู้อบฆ่าเชื้อ อุโมงค์หรืออุปกรณ์พ่นยาฆ่าเชื้อ เป็นต้น จำนวน 18 คำขอ

(3) สาร น้ำยา หรือเจลฆ่าเชื้อ จำนวน 4 คำขอ

(4) สิ่งประดิษฐ์ที่ช่วยป้องกันการติดเชื้อโรค เช่น หุ่นยนต์ขนส่งอาหารในโรงพยาบาล เป็นต้น จำนวน 3 คำขอ

(5) วัคซีน จำนวน 5 คำขอ

(6) ชุดตรวจ จำนวน 8 คำขอ

(7) ยาต้านไวรัส จำนวน 3 คำขอ ซึ่งคำขอทั้งหมดอยู่ระหว่างการตรวจสอบคำขอดังกล่าวอยู่ (กราฟิก)

จดทรัยพย์สิน

นางสาวนุสรากล่าวว่า กระบวนการตรวจสอบเบื้องต้นเพื่อรับจดคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญานั้น กรมจะตรวจสอบความถูกต้องของคำขอที่ยื่นเข้ามา โดยจะใช้ระยะเวลาตรวจสอบประมาณไม่เกิน 18 เดือน เมื่อตรวจสอบแล้วก็จะประกาศโฆษณาคำขอนั้นเป็นระยะเวลา 90 วัน เพื่อทราบว่าจะมีผู้ยื่นคัดค้านการขอจดหรือไม่

ทั้งนี้ กระบวนการนี้ถือว่าเป็นการเปิดให้มีการตรวจสอบว่าสิทธิบัตรหรือทรัพย์สินทางปัญญาที่ยื่นจดทะเบียนนั้นได้ซ้ำซ้อนกับทรัพย์สินทางปัญญาของผู้ใดหรือไม่ โดยหากไม่มีการคัดค้านคำขอนั้นก็จะเป็นขั้นตอนที่ให้ผู้ประกอบการเจ้าของงานเข้ามายื่นจดสิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตรได้ภายในระยะเวลา 5 ปี เมื่อยื่นขอจดสิทธิบัตร อนุสิทธิบัตรแล้วกรมก็จะตรวจสอบข้อมูลพื้นฐานจากทั่วโลกว่าซ้ำซ้อนหรือไม่ก่อนที่จะรับจดสิทธิบัตรของงานต่อไป

“การตรวจสอบนั้นจะเช็กข้อมูลว่าเป็นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ที่มีการต่อยอดใช้เทคโนโลยีขั้นสูงขึ้นหรือไม่ ซ้ำซ้อนงานกับงานของใครหรือไม่ ก่อนที่จะรับจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งแต่ละประเภทเมื่อจดแล้วก็จะได้รับการคุ้มครองตามประเภท เช่น งานสิทธิบัตรจะได้รับความคุ้มครอง 20 ปี ส่วนอนุสิทธิบัตรจะคุ้มครองปีแรก 6 ปี และสามารถต่ออายุได้ 2 ครั้ง ครั้งละ 2 ปี”

ทั้งนี้ ภาพรวมการยื่นคำขอจดทะเบียนคุ้มครองสิทธิบัตรในปี 2562 แบ่งเป็น 3 กลุ่มหลัก คือ 1.การยื่นคำขอสิทธิบัตรการประดิษฐ์ ไทยมียื่น 821 คำขอ ต่างชาติมียื่น 7,351 คำขอ รวม 8,172 คำขอ 2.การยื่นคำขอสิทธิบัตรการออกแบบและดีไซน์ ไทยมียื่น 3,541 คำขอ ต่างชาติมียื่น 1,752 คำขอ รวม 5,293 คำขอ 3.การยื่นคำขอสิทธิบัตรรวม ไทยมียื่น 4,362 คำขอ ต่างชาติมียื่น 9,103 คำขอ รวม 13,465 คำขอ

ขณะที่จำนวนการรับจดทะเบียน คือ 1.จดทะเบียนสิทธิบัตรการประดิษฐ์ของไทย 172 คำขอ ต่างชาติ 2,949 คำขอ รวม 3,121 คำขอ

2.จดทะเบียนสิทธิบัตรการออกแบบและดีไซน์ ไทย 1,841 คำขอ ต่างชาติ 1,289 คำขอ รวม 3,130 คำขอ

3.จดทะเบียนสิทธิบัตรรวม ไทย 2,013 คำขอ ต่างชาติ 4,238 คำขอ รวม 6,251 คำขอ ส่วนการยื่นคำขอเพื่อจดอนุสิทธิบัตร ในปี 2562 พบว่าไทยมียื่น 3,170 คำขอ ต่างชาติมียื่น 140 คำขอ ขณะที่การจดทะเบียนอนุสิทธิบัตร ไทย 919 คำขอ ต่างชาติ 1,010 คำขอ

อย่างไรก็ดี กรมทรัพย์สินทางปัญญาให้ความสำคัญและส่งเสริมผู้คิดค้นงานประดิษฐ์ใหม่ให้เข้ามาจดสิทธิบัตร อนุสิทธิบัตร เพื่อให้เกิดการคุ้มครองงานที่ถูกคิดค้นขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยในอนาคต เมื่อสามารถจดสิทธิบัตร อนุสิทธิบัตร ผลงานนั้นก็จะได้รับการคุ้มครองผลงานทั้งในประเทศ และต่างประเทศ เนื่องจากประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีสมาชิกของพิธีสารมาดริด โ

ดยปัจจุบันมีอยู่จำนวน 98 ภาคี ซึ่งครอบคลุม 114 ประเทศ เช่น สาธารณรัฐประชาชนจีน สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา สหพันธรัฐรัสเซีย ญี่ปุ่น สวิตเซอร์แลนด์ ออสเตรเลีย สาธารณรัฐเกาหลี อินเดีย ตุรกี สหราชอาณาจักร นิวซีแลนด์ เป็นต้น