หวั่นบ๊วยอาเซียน เอกชนยอมควัก “ค่าวัคซีน”

REUTERS/Sergio Perez/File Photo

ไทยบ๊วยอาเซียนนำเข้าวัคซีน “ส.อ.ท.” จี้รัฐเปิดเสรีนำเข้าวัคซีนโควิด-19 เพื่อความรวดเร็ว เอกชนยอมควักจ่ายเองหวังรักษาแรงงาน หวังสร้างความเชื่อมั่นกู้เศรษฐกิจครึ่งปีหลังฟื้น ด้านกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าฯ แอร์ จับมือผู้ผลิตตู้แช่วัคซีนเตรียมคุย สมอ.-อย. ดันทำมาตรฐานเล็งส่งออกในอนาคต เปิด 7 รายชื่อผู้ผลิตนำร่องส่งมอบตู้แช่วัคซีน

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า หลังจากที่คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ผลักดันให้ภาครัฐตั้งคณะทำงานเรื่องของวัคซีนโควิด-19 ขึ้นมา

และกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อที่รัฐจะกำหนดออกมาให้ชัดเจนถึงแผนการซื้อวัคซีนจากรายใด ยี่ห้อใด นำเข้ามาอย่างไร ปริมาณเท่าไร วิธีการกระจายวัคซีนให้ชัดเจนนั้น ล่าสุดภาคเอกชนยังเสนอให้รัฐเปิดเสรีการนำเข้าวัคซีน โดยให้เอกชนสามารถนำเข้าได้เองเพื่อความรวดเร็ว

และเอกชนจะเป็นผู้บริหารจัดการฉีดให้กับพนักงาน ลูกจ้างในองค์กรตนเอง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นเพราะหากต้องรอตามลำดับการทยอยฉีดที่ภาครัฐกำหนดจะทำให้โรงงานที่มีแรงงานส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มสาวได้รับวัคซีนเป็นลำดับสุดท้าย

“ตอนนี้เหมือนไม่มีเจ้าภาพเรื่องวัคซีน เรากำลังจะได้บ๊วยในอาเซียน ตอนนี้ประเทศต้องเปิดกว้างเรื่องวัคซีนสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ควรเข้าไปดูทุกยี่ห้อจะเอายังไง 30 ล้านโดส จะเอาจีน รัสเซีย ที่ไหน ยี่ห้อไหนก็เอา เราต้องการความเร็ว ความชัดเจน อย.เขาก็จะเข้ามาช่วยรับรองเอกชนก็ฉีดได้เลย

เพราะเอกชนเขาต้องรักษาแรงงานเอาไว้ เขาไปซื้อมา อย.ช่วยรับรองแล้วผมก็จะฉีดให้พนักงานเองอาจลงทุนควักเงินสัก 100,000 บาท จากนั้นเราก็สามารถบอกได้เลยว่าพนักงานของเราฉีดวัคซีนโควิดแล้วทั้งหมด มันสร้างความเชื่อมั่นได้มาก”

ทั้งนี้ ส.อ.ท.ยังระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมล่าสุดในเดือนมกราคม 2564 ปรับตัวลดลงอยู่ที่ระดับ 83.5 จากเดือน ธ.ค. 2563 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 85.8 นับเป็นการปรับตัวลดลงเป็นเดือนที่ 2 ผลมาจากการระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ที่ขยายวงกว้างหลายจังหวัด และการรอความชัดเจนของวัคซีนนำเข้า การปิดภาคบริการกิจกรรมทางเศรษฐกิจ สถานศึกษา

รวมถึงปัญหาที่ยังแก้ไม่ได้คือขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ และการแข็งค่าของค่าเงินบาท และคาดการณ์ว่า3 เดือนข้างหน้ายังคงปรับตัวลดลง เนื่องจากยังมีปัจจัยที่เอกชนกังวลอย่างการระบาดของโควิด-19 ที่ยังไม่คลี่คลาย ภาครัฐยังไม่มีวัคซีน การค้าการลงทุนยังไม่แน่นอน

ดังนั้น หากรัฐสามารถทำได้ตามที่เอกชนร้องขอ เชื่อว่าจะเป็นส่วนสำคัญที่จะผลักดันให้เศรษฐกิจไทยช่วงครึ่งปีหลังกลับมาฟื้นตัวดีขึ้นกว่าปี 2563 โดยมีปัจจัยบวกจากการเริ่มฉีดวัคซีนกระจายไปหลายประเทศ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศต่าง ๆ

เริ่มคลี่คลายดีขึ้น บวกกับแรงส่งจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ทั้งจาก พ.ร.ก.กู้เงิน เพื่อช่วยเยียวยาและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชน พร้อมเสนอให้ภาครัฐพิจารณาการนำโครงการช้อปดีมีคืน กลับมาใช้ในปี 2564 เพื่อกระตุ้นการบริโภคของประชาชนในกลุ่มที่ต้องเสียภาษี โดยคืนภาษีจากเดิมสูงสุด 30,000 บาท เป็น 50,000 บาท เพื่อนำมาลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของปี 2564

ด้านนางกนิษฐ์ เมืองกระจ่าง รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และประธานกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ และโทรคมนาคม กล่าวว่า ได้ร่วมกับกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น

เตรียมหารือกับทางสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) และ อย. เพื่อจัดทำมาตรฐานตู้แช่วัคซีน ซึ่งในอนาคตจะทำให้ไทยกลายเป็นผู้ผลิตตู้แช่วัคซีนและสามารถส่งออกได้ สร้างมูลค่าได้เพิ่มขึ้น จากปัจจุบันตลาดตู้แช่ยาอยู่ที่ 400-500 ล้านบาท เนื่องจากแนวโน้มของดีมานด์กำลังจะเพิ่มสูงขึ้น

โดยล่าสุดมีผู้ผลิตตู้แช่วัคซีน 7 ราย ได้แก่ บริษัท สยามอินเตอร์คูล จำกัด, บริษัท พัฒนาอินเตอร์คูล จำกัด, บริษัท ลัคกี้ สตาร์ ยูนิเวอร์แซล จำกัด, บริษัท ซันเด้น อินเตอร์คูล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน), บริษัท เทอมีเดซ จำกัด, บริษัท สุปรีม ซี เอ็น บี คอร์ปอเรชั่น จำกัด และบริษัท สมาร์ท เฮลเทค จำกัด

ได้ร่วมกันกำหนดมาตรฐานของโรงพยาบาลราชวิถี และผลิตตู้เก็บวัคซีนเพื่อบริจาคให้แก่สถานพยาบาล 77 จังหวัด โดยระยะแรกจะส่งมอบตู้เก็บวัคซีนให้แก่สถานพยาบาล 21 แห่ง ภายในเดือนกุมภาพันธ์ ระยะที่ 2 และ 3 จะส่งมอบให้แก่สถานพยาบาล 56 แห่ง ภายในเดือนมีนาคม และเมษายน 2564