“มึน” คำสั่งชะลอนำเข้ากุ้งทะเล อ้างไวรัส WSSV-YHV ห้องเย็นงงเอาไงแน่

กุ้ง
Photo by PORNCHAI KITTIWONGSAKUL / AFP

เอกชนมึน ก.เกษตรฯสั่งชะลอนำเข้า “กุ้งทะเล-ซากกุ้งทะเล” จากเอกวาดอร์-มาดากัสการ์ 90 วัน หลังตรวจพบเชื้อไวรัส 3 โรค หวั่นทุบซ้ำอุตสาหกรรม

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2564 ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศกรมปศุสัตว์ที่นายสรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ได้ลงนามเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2564 ให้ชะลอการนำเข้าหรือนำผ่านราชอาณาจักรซึ่งกุ้งทะเลหรือซากกุ้งทะเลจากสาธารณรัฐเอกวาดอร์

และสาธารณรัฐมาดากัสการ์ หลังจากกรมประมงได้ตรวจพบเชื้อไวรัสตัวแดงดวงขาว (white spot syndrome virus : WSSV), โรคจากไวรัสไอเอชเอชเอ็นวี (infectious hypodermal and hematopoietic necrosis virus : IHHNV)

และโรคไวรัสหัวเหลือง (yellow head virus : YHV) ในกุ้งทะเลที่นำเข้าจากสองประเทศดังกล่าว ทั้งนี้ เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้โรคระบาดสัตว์แพร่กระจายส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมกุ้งของประเทศไทย อ้างเข้าข่ายมาตรา 6 วรรคหนึ่ง และมาตรา 33 พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ 2558

โดยประกาศมีสาระสำคัญว่าให้ชะลอการนำเข้าหรือนำผ่านราชอาณาจักร ซึ่งกุ้งขาว (penaeus vannamei) กุ้งกุลาดำ (P.monodon) กุ้งฟ้า (P.stylirostris) หรือซากกุ้งดังกล่าวที่มีแหล่งกำเนิด 2 ประเทศ เริ่มมีผลใช้บังคับเป็นเวลา 90 วัน นับตั้งแต่วันที่ 4 มีนาคม 2564

รายงานข่าวระบุว่า เมื่อเดือนมกราคม 2564 ไทยมีการนำเข้ากุ้งจากเอกวาดอร์เป็นอันดับ 1 คิดเป็นสัดส่วน 26.23% จากการนำเข้าทั้งหมด หรือคิดเป็นมูลค่า 77.1 ล้านบาท ซึ่งเป็นการนำเข้าครั้งแรกจากเดิมเมื่อเดือนมกราคมปี 2563 ไทยไม่ได้นำเข้า

แต่หากดูตัวเลขนำเข้าทั้งปี 2563 จะพบว่ามีการนำเข้าจากเอกวาดอร์ 274.7 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 7.76% ของการนำเข้าทั้งหมด ขณะที่มาดากัสการ์ไม่ได้เป็นแหล่งนำเข้าท็อป 10 ของไทย (ตามกราฟิก)

แหล่งข่าวจากเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งไทยเปิดเผยว่า ไทยนำเข้ากุ้งจาก 2 ประเทศดังกล่าวมีไม่มากนัก เนื่องจากส่วนใหญ่นำเข้าจากอินเดีย เท่าที่ทราบตั้งแต่มกราคม 2564 มีปริมาณนำเข้าน้อยมากประมาณ 1,000 ตัน

และโรคดังกล่าวเป็นที่ทราบว่าเกิดขึ้นได้ในการเลี้ยง คาดว่าไม่กระทบต่ออุตสาหกรรมแต่อย่างใด เมื่อพบโรคก็ต้องชะลอการนำเข้าเพื่อป้องกันการระบาด

อย่างไรก็ตาม การเลี้ยงกุ้งของไทยในปีนี้เกษตรกรทุกพื้นที่ยังคงเผชิญหน้ากับปัญหาโรคระบาด ทั้งอาการขี้ขาว ตัวแดงดวงขาว และโรคตายด่วน ซึ่งส่งผลต่อประสิทธิภาพการเลี้ยงและเป็นต้นทุนแฝงกับเกษตรกรอยู่แล้ว

นายผณิศวร ชำนาญเวช นายกกิตติคุณ สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทยกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ผู้ประกอบการมีความจำเป็นต้องนำเข้าเป็นอย่างมาก เนื่องจากกุ้งไทยมีราคาสูงและขนาดไม่ได้ตามความต้องการลูกค้า จึงสามารถขออนุญาตนำเข้าได้

ดังนั้น ประเด็นนี้ ผมขอตั้งข้อสังเกต 3 ข้อ 1.การชะลอนำเข้าของ 2 ประเทศ มีความผิดปกติหรือไม่ เนื่องจากทางสมาชิกไม่ทราบมาก่อนว่าให้ชะลอนำเข้าทันที โดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้าทั้งที่มีคำสั่งซื้อแล้ว 2.ก่อนหน้านี้ทางสมาชิกได้มีการหารือขอนำเข้า 90 วัน ไม่ใช่ชะลอนำเข้า 90 วัน

เมื่อมีประกาศจึงเกิดความสับสนเป็นอย่างมาก ขอให้กรมประมงออกหนังสือชี้แจง และแถลงข่าวให้ชัดเจน 3.โรคดังกล่าวไม่ใช่โรคระบาดใหม่ และมีอยู่ในประเทศไทยมานาน แต่ไม่ได้ส่งผลต่ออุตสาหกรรมมากนัก

ควบคุมได้และมีการตรวจสอบมาโดยตลอด แต่ทันทีที่ทราบเรื่อง สมาชิกได้เร่งรัดดำเนินการส่งตรวจไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทันที ซึ่งยังไม่ได้รับการยืนยันก็มีเอกสารชะลอนำเข้าทันที ดังนั้น จึงเกิดความเสียหายซึ่งยังประเมินมูลค่าไม่ได้

“ผลกระทบต่อภาคการส่งออกขึ้นอยู่กับสมาชิกที่นำเข้าแต่ละรายว่ามีการนำเข้าปริมาณเท่าไร แต่ละรายได้รับผลกระทบแตกต่างกัน”