เปิดเสรีก๊าซแอลพีจีมีแค่”สยามแก๊ส”นำเข้าเจ้าเดียว

เปิดเสรีนำเข้าก๊าซ LPG ผ่านไป 3 เดือน มีแค่สยามแก๊สฯ นำเข้ารายเดียว พ.ย.-ธ.ค.อีก 88,000 ตัน เตรียมเปิดตลาดเพิ่มในมาเลเซียและอินโดนีเซีย ด้านราคาตลาดโลกช่วง Q4 จ่อปรับขึ้นอีก 10 เหรียญสหรัฐ/ตัน ลุ้นประชุม กบง.เดือนพ.ย.เคาะตรึงราคาต่อหรือไม่

นายวิฑูรย์ กุลเจริญวิรัตน์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภายหลังจากการเปิดเสรีนำเข้าธุรกิจก๊าซปิโตรเลียม (LPG) อย่างเป็นทางการตั้งแต่เดือนสิงหาคมที่ผ่านมานั้น ขณะนี้ยังมีเพียงบริษัท สยามแก๊ส แอนด์ ปิโตรเคมิคัลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SGP เป็นเอกชนเพียงรายเดียวที่เป็นผู้นำเข้าก๊าซ จากเดิมที่มีเพียงบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) ในเดือน พ.ย.-ธ.ค.60 นี้จะนำเข้าอยู่ที่ 44,000 ตัน/เดือน รวมทั้งสิ้น 88,000 ตัน ทั้งนี้สำหรับราคาก๊าซในตลาดโลกค่อนข้างมีความผันผวนสูง โดยเฉพาะในช่วงปลายปีที่เข้าสู่ช่วงฤดูหนาว ทำให้มีความต้องการใช้เพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจุบันกองทุนน้ำมันก๊าซปิโตรเลียมเหลวเข้ามาตรึงราคาเพื่อไม่ให้กระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน ด้านความต้องการใช้ก๊าซ LPG ในประเทศยังคงลดลงต่อเนื่อง โดยเฉพาะในภาคขนส่ง หลังจากที่ราคาน้ำมันลดลงอย่างมากเฉลี่ย 40-50 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ทำให้ผู้บริโภคหันมาเติมน้ำมันมากขึ้น

นางจินตนา กิ่งแก้ว รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สยามแก๊ส แอนด์ ปิโตรเคมิคัลส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในเดือน พ.ย.-ธ.ค.นี้ สยามแก๊สฯ มีแผนนำเข้าก๊าซ LPG รวม 88,000 ตัน เพื่อรองรับความต้องการใช้ สำหรับราคาก๊าซ LPG ในตลาดโลกในเดือนตุลาคมเฉลี่ยอยู่ที่ 570-580 เหรียญสหรัฐ/ตัน ปรับขึ้นจากเดือนก่อนประมาณ 87 เหรียญสหรัฐ/ตัน และคาดว่าเมื่อเข้าสู่ไตรมาส 4 นี้ ราคามีแนวโน้มปรับขึ้นได้อีก 5-10 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลได้ สำหรับความต้องการใช้ก๊าซ LPG ในภาคครัวเรือนค่อนข้าง “ทรงตัว” ขณะที่ความต้องการใช้ในภาคขนส่งยังคงปรับลดลงต่อเนื่อง

ทั้งนี้สยามแก๊สฯ กำลังขยายตลาดก๊าซ LPG ไปยังประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มขึ้น โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้อนุมัติให้บริษัทในเครือสยามแก๊สฯ คือ บริษัท สยามแก๊สฯ โกลบอล อินเวสเมนท์ ในประเทศสิงคโปร์ เข้าร่วมลงทุนในบริษัทใหม่ที่ประเทศอินโดนีเซีย และประเทศเมียนมา เพื่อขยายธุรกิจก๊าซ LPG และตั้งบริษัท PT SIAMINDO DJOJO TERMINAL เพื่อทำธุรกิจในประเทศอินโดนีเซีย และบริษัท KMA SIAM LIMITED เพื่อขยายธุรกิจในประเทศเมียนมา ในช่วงเริ่มต้นนี้จะเป็นการขยายในรูปของโรงบรรจุก๊าซ LPG และก่อสร้างท่าเรือ หลังจากนั้นจึงจะพิจารณาการลงทุนในด้านอื่น ๆ ต่อไป ซึ่งคาดว่าจะใช้เงินลงทุนช่วงเริ่มต้นที่ 30-40 ล้านเหรียญสหรัฐ

“เป้าหมายยอดขายก๊าซในประเทศวางไว้ที่ 3.2 ล้านตัน และคาดว่าน่าจะทำได้ตามเป้าเพราะขณะนี้ยอดขายสยามแก๊สฯ อยู่ที่ 2 ล้านกว่าตันแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่ยอดขายมาจากภาคครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรม สำหรับแผนขยายคลังก๊าซบนบกนั้น ยังอยู่ในระหว่างพิจารณาหาพื้นที่เหมาะสม คาดว่าจะสรุปได้เร็ว ๆ นี้”

Advertisment

รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า ในเดือน ต.ค.ที่ผ่านมาคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้ตรึงราคาก๊าซ LPG ไว้ที่ 21.15 บาท/กิโลกรัม โดยเพิ่มอัตราการชดเชยราคา 3.0246 บาท/กิโลกรัม เนื่องจากราคาก๊าซ LPG ในตลาดโลกปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 577.50 เหรียญสหรัฐ/ตัน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเดือน ก.ย.ถึง 87 เหรียญสหรัฐ/ตัน และหากไม่ใช้กลไกของกองทุนฯเข้ามาชดเชยผู้ใช้ก๊าซ LPG จะแบกภาระเพิ่มขึ้นประมาณ 3 บาท/กิโลกรัม ทั้งนี้กองทุนก๊าซ LPG ต้องรับภาระการชดเชยอยู่ที่ 913 ล้านบาท/เดือน สถาบันบริหารกองทุนพลังงาน (สบพ.) ระบุถึงสถานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง มีเงินสุทธิ 32,325 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นรายได้ค้างรับจากผู้ค้าน้ำมันรวม 165 ล้านบาท เงินชดเชยน้ำมันเชื้อเพลิงประเภทต่าง ๆ 5,676 ล้านบาท

เงินชดเชยตามมาตรการปรับลดราคาขายปลีกน้ำมัน 7 ล้านบาท และเงินงบบริหารและสนับสนุนโครงการที่ 82 ล้านบาท ในขณะที่กองทุนก๊าซปิโตรเลียมเหลว มีเงินสุทธิ 4,939 ล้านบาท มีหนี้สินในส่วนของเงินชดเชยราคาก๊าซ LPG ที่ผลิตโดยโรงแยกก๊าซ 21 ล้านบาท และเงินชดเชยราคาก๊าซ LPG ที่ใช้เป็นเชื้อเพลิง 3,101 ล้านบาท รวมเงินสุทธิของทั้ง 2 กองทุนฯ อยู่ที่ 37,264 ล้านบาท