ดัชนีความเชื่อมั่น Modern Trade ร่วง ขอรัฐเร่งออก “คนละครึ่ง” เฟส 3

คนละครึ่ง

Modern Trade เผยดัชนีการใช้จ่ายไตรมาส 1/64 ประชาชนยังมีกำลังซื้อแต่กำลังเข้าภาวะแย่ในไตรมาส 2 พร้อมเสนอรัฐขอเปิดพื้นที่ช่วยฉีดวัคซีนโควิด-19 ทั่วประเทศ 302 แห่ง พร้อมเร่งรัฐออกมาตรการคนละครึ่งเฟส 3 มั่นใจทำเงินหมุนกลับเข้าระบบ 2-4 แสนล้านบาท

วันที่ 4 พฤษภาคม 2564 นายสุรงค์ บูลกุล ที่ปรึกษาคณะกรรมการกลุ่มค่าปลีกและบริการ สภาหอการค้าไทย เปิด เผยถึง ผลการสำรวจผู้ประกอบการ Modern Trade ซึ่งครอบคลุมการให้บริการประชาชนทุกระดับถึง 60% ว่า ไตรมาสที่ 1/2564 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ Modern Trade อยู่ที่ระดับ 46.3

ปรับตัวลดลงจากไตรมาส 4/2563 ซึ่งอยู่ที่ 47.3 และยังประเมินว่า ในไตรมาส 2/2564 ดัชนีฯ จะลดลงเช่นกัน ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่การคาดการณ์ของดัชนีฯ ในอนาคตต่ำกว่าปัจจุบัน แสดงให้เห็นว่า Modern Trade รับรู้ทิศทางไตรมาส 2 ที่แย่กว่าไตรมาส 1 แน่นอน

ทั้งนี้ กลุ่มการค้าปลีกและบริการ ยังพร้อมที่จะสนับสนุนภาครัฐ ด้วยการเสนอพื้นที่ฉีดวัคซีนทั่วประเทศ 302 แห่ง เบื้องต้นได้รับการอนุมัติจากกรุงเทพมหานครแล้วจำนวน 14 แห่ง เช่น โลตัส พระราม 4 ซึ่งพื้นที่ทั้งหมดจะสามารถฉีดวัคซีนได้ 25,000-30,000 คนต่อวัน นอกจากนี้ กลุ่มค้าปลีกฯ ยังขอเป็นจุดศูนย์กลางแพลตฟอร์มเชื่อมต่อให้ SME มากกว่า 100,000 ราย เข้าถึงแหล่งเงินทุนง่ายขึ้น

Advertisment

ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ดัชนีฯ ตัวนี้มีสัดส่วนถึง 60% ในภาคบริการห้างสรรพสินค้า มันบ่งชี้การจับจ่ายใช้สอยของประชาชนได้ ซึ่งมันมีสัญญาณปรับตัวลดลงครั้งแรก และต่ำสุดในรอบ 3 ไตรมาส ขณะที่ภาคธุรกิจพยายามประคับประคอง โดยการขายผ่านช่องทางออนไลน์ ปรับขายหน้าร้านสำหรับร้านอาหารที่ไม่สามารถนั่งรับประทานในร้านได้ หลังจากรัฐบาลมีมาตรการคุมเข้มการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19

“สถานการณ์ ยังจับจ่ายใช้สอยได้ ยังไม่ปลดคนงาน กำลังซื้อชะลอตามสถานการณ์ ถ้ารัฐกระตุ้นการใช้จ่ายกลับมาจะมีเงินกลับมาสะพัดในระบบ 2-4 แสนล้านบาท”

แต่อย่างไรก็ตาม ประชาชนยังไม่ลดการใช้จ่ายจนทำให้ Modern Trade ต้องหยุดชะงัก ขณะเดียวกันผู้ประกอบการก็ยังเรียกร้องต่อภาครัฐ

  1. เร่งการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้ครอบคลุมประชากรมากขึ้น
  2. เปิดเสรีให้เอกชนนำเข้าวัคซีน เพื่อเป็นทางเลือกในการกระจายวัคซีน
  3. ออกมาตราการสนับสนุนธุรกิจร้านอาหารรายย่อย และธุรกิจอื่น ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการท่องเที่ยวที่ลดลง
  4. ออกมาตราการกระตุ้นการ ท่องเที่ยวและการจับจ่ายภายในประเทศ เช่น มาตรการคนละครึ่ง ที่พบว่าก่อนหน้านี้ได้ผลตอบรับสูงและเร็ว อย่างเฟส 3 ที่กำลังจะออกมานั้นต้องดูวงเงินที่ให้ ระยะเวลาที่ใช้ จำนวนคนที่มีสิทธิ์ จำนวนร้านค้า หากครอบคลุมทุกกลุ่มเพื่อดึงเงินคนที่มีเงินออมมาช่วยคนรายได้น้อย กระจายไปร้านค้าจะทำให้กระตุ้นเศรษฐกิจเร็วช่วยเศรษฐกิจได้ 2-3%

ทั้งนี้ หากประเมิณผลกระทบจากโควิด-19 รอบ 3 มาตรการการหยุดกิจกรรมไม่เข้มข้นเท่าปีที่แล้ว แต่จะครอบคลุมไปทุกกลุ่มมากกว่ากระทบระดับ S และ M เช่น หมวดบริการ ท่องเที่ยว ร้านอาหาร สันทนาการกลางคืนที่เกี่ยวกับแอลกอฮอล์ จึงประเมินว่า ถ้ายังปิดกิจกรรมในกิจการเหล่านี้ ประมาณครึ่งเดือนจะเสียหาย 3 แสนล้านบาท ปิด 1 เดือน เสียหาย 4.5 แสนล้านบาท ปิด 2 เดือนเสียหาย 6 แสนล้านบาท หากรัฐเร่งออกมาตรการกระตุ้นความเสียหายจะลดลงและจะมีเงินหมุนกลับเข้ามามนระบบอีก 2-4 แสนล้านบาท

Advertisment