หวั่นพาณิชย์ยื่นร่างแก้ไข กม.สิทธิบัตร เข้า ครม. กระทบการออกซีแอลยาช่วงวิกฤต

ภาพ Pixbay

ภาคประชาสังคม หวั่นกรมทรัพย์สินทางปัญญา ยื่นร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สิทธิบัตร ฉบับแก้ไข เข้า ครม. 13 ก.ค. 2564 มีมาตราเกี่ยวกับการใช้สิทธิโดยรัฐ “มาตรการซีแอล” กระทบการเข้าถึงยาจำเป็นช่วงวิกฤต

วันที่ 8 กรกฎาคม 2564 นายเฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล ผู้จัดการโครงการส่งเสริมการเข้าถึงยา มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า ตามที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ เตรียมยื่นร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สิทธิบัตร ฉบับแก้ไขต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อให้พิจารณาในการประชุม ครม. วันที่ 13 ก.ค. 2564

“ทางกรมไม่ควรเสนอแก้ไข เพราะจะทำให้การประกาศใช้ซีแอลทำได้ยากขึ้น การที่กรมยังดันทุรังเสนอไปแบบนั้นสะท้อนว่ากรมไม่เห็นค่าชีวิตคนที่ต้องแลกกับการคุ้มครองการผูกขาดด้วยสิทธิบัตร เราหวังว่า ครม. และรัฐสภาที่จะพิจารณาร่างแก้ไขกฎหมายนี้จะมองเห็นจากกรณีโควิด-19 ว่า ระบบสิทธิบัตรที่เป็นอยู่ทำให้ประชาชนเข้าไม่ถึงวัคซีนและยาจำเป็นอย่างไร ซึ่ง ครม. ต้องไม่รับร่างแก้ไขกฎหมายที่มัดมือมัดเท้าตัวเองในการช่วยเหลือประชาชนในยามวิกฤต”

“พ.ร.บ.ฉบับแก้ไขนี้ได้ถูกปรับแก้และรับฟังความคิดเห็นมาหลายครั้ง แต่ทุกครั้งจะเห็นว่ามาตราที่เกี่ยวกับซีแอลนั้นยิ่งแก้กลับยิ่งเลวร้ายลง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจเชิงนโยบายของประเทศยามวิกฤตในอนาคตอย่างแน่นอน และเราอาจไม่ได้เห็นการประกาศใช้ซีแอลอีกเลยแม้ในยาจำเป็นของประเทศ” นายเฉลิมศักดิ์กล่าว

ทั้งนี้ ในร่าง พ.ร.บ.สิทธิบัตร ฉบับแก้ไขที่เตรียมนำเสนอต่อ ครม. มาตรา 51 ของ พ.ร.บ.สิทธิบัตรฉบับปัจจุบัน ที่เกี่ยวกับการใช้มาตรการซีแอล ถูกเสนอให้แก้ไขโดยให้การประกาศใช้ซีแอลโดยกระทรวง ทบวง หรือกรม ต้องผ่านความเห็นชอบจาก ครม.ก่อน และผู้ทรงสิทธิบัตรสามารถยื่นคัดค้านคำสั่งประกาศใช้ซีแอลต่อศาลได้ รวมถึงร้องขอต่อศาลเพื่อยกเลิกคำสั่งการประกาศใช้ซีแอลเมื่อเหตุแห่งการใช้สิทธิหมดไป

ในการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2564 ที่ประชุมมีมติให้จัดทำหนังสือส่งให้อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อแสดงความคิดเห็นและความกังวลต่อการแก้ไขมาตราที่เกี่ยวกับซีแอลใน พ.ร.บ.สิทธิบัตร นายเจด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เคยมีจดหมายถึงอธิบดีกรมทรัพย์สิน เมื่อวันที่ 7 พ.ค. 2564 โดยระบุว่าการแก้ไขดังกล่าวอาจส่งผลต่อการเข้าถึงยาจำเป็นของคนไทย โดยเฉพาะกลุ่มยาที่มีราคาแพงและมีผลต่อชีวิตผู้ป่วย ภาระค่ารักษาพยาบาลในครัวเรือน และภาระงบประมาณด้านสาธารณสุขในภาพรวมของประเทศ

ยกตัวอย่าง ยาโครพิโดเกรล ยารักษาที่ใช้กับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตีบตันและกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ยาต้นแบบของยานี้มีราคาเม็ดละ 70 บาท การประกาศใช้ซีแอลทำให้ไทยนำเข้ายาชนิดเดียวกันที่เป็นยาชื่อสามัญในราคาเพียงเม็ดละ 2.50 ถึง 5 บาท  ปัจจุบันมีผู้ป่วยกินยานี้เป็นประจำทุกวัน 160,000 ราย สามารถลดค่าใช้จ่ายจากยาต้นแบบ 2,000 ล้านบาทต่อปีเหลือเพียง 60 ล้านบาทต่อปี

ประเทศไทยประกาศใช้ซีแอล 3 ครั้งในช่วงปี 2549 ถึง 2550 กับยา 7 ชนิดที่ใช้รักษาเอชไอวี โรคหลอดเลือดตีบตัน และโรคมะเร็ง ซึ่งเป็นการประกาศใช้ภายใต้เงื่อนไขเพื่อประโยชน์สาธารณะโดยไม่แสวงหากำไร ทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศสามารถจัดหายาเหล่านั้น โดยการนำเข้าและผลิตภายในประเทศให้กับผู้ป่วยหลายแสนคน ช่วยให้ประเทศประหยัดงบประมาณด้านยาได้หลายพันล้านบาทในแต่ละปี รวมถึงทำให้สามารถนำยาต้านไวรัสเอชไอวีที่ประกาศใช้ซีแอลไปและผลิตเองได้ มาปรับใช้รักษาโควิด-19 ในช่วงการระบาดในไทยระลอกแรกได้