ผ่าทางตัน : 3 เมกะโปรเจ็กต์ ป้องน้ำท่วม กทม.

แฟ้มภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข่าว

คอลัมน์ แตกประเด็น

ในที่สุดการวางแผนบริหารแก้ไขปัญหาจัดการน้ำระยะยาว เริ่มเห็นเป็นรูปธรรม เมื่อกรมชลประทานได้ลงพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อเปิดทำประชาพิจารณ์ “โครงการคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร” ความยาว 22.5 กิโลเมตร ร่วมกับชาวบ้านเมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อนำไปใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจ ซึ่งหลายฝ่ายเห็นตรงกันและอธิบดีกรมชลประทานย้ำชัดว่าแจ้งเกิดปีนี้แน่นอน

โครงการดังกล่าวถือเป็น 1 ใน 3 ของ “โครงการก่อสร้างบรรเทาอุทกภัยลุ่มเจ้าพระยา” แม้ต้องใช้งบประมาณมหาศาลกว่า 1.7 หมื่นล้านบาท แต่จะช่วยแก้ปัญหาระบายน้ำให้เร็วขึ้นเป็น 1,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ตามแผนคาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้าง 2 ปี พร้อมกับทำความเข้าใจกับประชาชนก่อนว่าโครงการนี้เป็นเพียงการ “บรรเทา” หรือลดผลกระทบน้ำท่วม ไม่ใช่ว่าน้ำจะไม่ท่วมเลย และเพื่อแลกกับความยั่งยืนระยะยาว

ส่วนโครงการคลองระบายน้ำควบคู่ถนนวงแหวนที่ 3 นั้นเป็นความร่วมมือระหว่างกรมชลประทาน กรมทางหลวง และองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (ไจก้า) อยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ แม้จะสามารถก่อสร้างทั้งโครงการได้ แต่ต้องเร่งรัดการจัดหาเวนคืนที่ดินเพื่อก่อสร้างทางระบายและถนนควบคู่ แน่นอนว่าต้องใช้เวลารอผลการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) ก่อน

ขณะที่โครงการขยายคลองแม่น้ำชัยนาท-ป่าสัก-อ่าวไทย เป็นการตัดน้ำก่อนเข้าเขื่อนเจ้าพระยานั้น ยังมีความเห็นไม่ตรงกัน เพราะด้วยระยะทาง 134 กิโลเมตร ณ วันนี้จุน้ำได้ 200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที หากจะขยายเป็น 400 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพื่อช่วยตัดยอดน้ำก่อนเข้าเขื่อนเจ้าพระยาและเพิ่มศักยภาพการระบายน้ำได้ครึ่งต่อครึ่ง แต่ทว่าการขุดคลองใหม่ ต้องมาดูอีกว่าจะขุดคลองจากเขื่อนพระราม 6 ไปลงอ่าวไทย หรือจะขุดคลองไปเชื่อมที่วงแหวนรอบที่ 3 ของกระทรวงคมนาคมทำไว้ หากเลือกโครงการนี้จะใช้งบประมาณ 4 หมื่นล้านบาท

Advertisment

สิ่งที่น่าสนใจคือ งบประมาณมหาศาลเหล่านี้ต้องแลกมากับการแก้ไขเฉพาะจุดเกินไปหรือไม่ หากเทียบกับการขยายเส้นทางชัยนาทป่าสัก ที่ใช้งบประมาณน้อยและได้ผลกว่าทั้งยังเพิ่มการระบายน้ำได้กว่า 30% ยังเป็นข้อท้วงติงจากนักวิชาการและผู้ทรงคุณวุฒิ ดังนั้น 2 โครงการนี้จึงเป็นโจทย์วัดฝีมืออธิบดีกรมชลประทานและทีม เพราะต้องลงพื้นที่ศึกษาเปรียบเทียบว่า โครงการไหนระบายน้ำได้ดีที่สุดและคุ้มค่าต่อการลงทุนมากที่สุด แล้วจึงมาสรุปเพื่อเสนอต่อที่ประชุม กนช.ให้สะเด็ดน้ำในสัปดาห์นี้

หันมามอง 12 ทุ่งรับน้ำ ที่ปีนี้ถือเป็นผลงานชิ้นโบแดงของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่เคลมว่าสามารถวางแผนช่วยไม่ให้น้ำไหลทะลักเข้ากรุงเหมือนปีที่ผ่าน ๆ มา ขณะนี้ได้เริ่มทยอยระบายน้ำตาม “โมเดล 12 ทุ่งแก้มลิง” เต็มสูบ

พร้อมอัดฉีด ช่วยเหลือฟื้นฟูเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยหลังน้ำลด ตามกลุ่มเป้าหมาย 3 กลุ่ม วงเงินงบประมาณ 4,715.19 ล้านบาท

แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าการแก้ปัญหาลักษณะนี้จะไม่เกิดขึ้นอีก อนาคตจะไม่เกิดปัญหาน้ำท่วมให้ชาวบ้าน 12 ทุ่ง หรืออาจต้องเพิ่มทุ่งรับน้ำ ให้ชาวบ้านต้องมาจำยอมเสียสละเช่นนี้อีก ตรงนี้ไม่มีใครการันตีได้

Advertisment

ปัญหาคือรัฐกับชาวบ้านต้องทำความเข้าใจและประชาสัมพันธ์ให้ตรงกันว่า แผนทั้ง 3 โครงการบรรเทาน้ำท่วมที่ค้างคามานาน จะช่วยไขปัญหาในระยะยาวได้มากน้อยแค่ไหน นั่นคือสิ่งสำคัญ

เพราะอย่าลืมว่ารัฐบาลโดย คสช.เหลือเวลาอีกไม่นาน แต่ละโครงการจะเกิดช้าหรือเร็ว คงต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิดต่อไป