“ดร.ซุป-ดร.สุรินทร์” ชี้ ทางเลือก-ทางรอด ภูมิทัศน์การค้า-การพัฒนาโลกใหม่

ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตเลขาธิการที่ประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) และอดีตผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก (WTO) กล่าวภายหลังปาฐกถาพิเศษในการประชุมระดับภูมิภาคว่าด้วยการค้าและการพัฒนา ประจำปี 2560 (Trade and Development Regional Forum 2017) จัดโดยสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา หรือ itd ถึงการรับมือกระบวนการโลกาภิวัตน์ที่กำลังเปลี่ยนรูป ย้ายข้างจากซีกโลกตะวันตกมายังซีกโลกตะวันออก โดยมีจีนก้าวขึ้นเป็นผู้นำใหม่ ว่า

ดันประเทศกำลังพัฒนาบริหาร ศก.โลก

ประการที่หนึ่ง ต้องให้ประเทศกลุ่มกำลังพัฒนา โดยเฉพาะในเอเชียมีบทบาทมากขึ้น ในการบริหารเศรษฐกิจโลกในองค์กรที่สำคัญ ไม่ใช่เฉพาะที่ WTO แต่รวมถึงกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ธนาคารโลก (Word bank) ด้วย เพราะองค์กรเหล่านี้เป็นองค์กรดูแลเกี่ยวกับการลงทุน การพัฒนาการเกษตรและพลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพราะขณะนี้ประเทศมหาอำนาจของโลกที่เคยยิ่งใหญ่มาก่อนแต่ปัจจุบันกลับยากจนลง ดังนั้นจึงไม่ได้ช่วยให้เศรษฐกิจโลกเติบโตเท่าที่ควร

จี้ UNCTAD มีบทบาทจัดระเบียบการค้าโลกมากขึ้น

ประการที่สอง องค์กรของสหประชาชาติ เช่น ที่ประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) ควรจะเป็นองค์กรที่มีบทบาทนำมากขึ้น เพราะ UNCTAD สนับสนุนในเรื่องการค้าโลก ไม่ได้ช่วยเรื่องการเจรจาอย่างเดียว เพื่อนำการเจรจาการค้าโลกไปสู่การปฏิบัติและเป็นประโยชน์กับประเทศกำลังพัฒนา

Advertisment

“เช่น การใช้กฎหมายการแข่งขัน กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งไม่ได้เป็นข้อตกลงในองค์การการค้าโลก (WTO) กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนระหว่างประเทศ ซึ่ง UNCTAD กำลังติดตามให้เกิดขึ้นและเป็นประโยชน์กับประเทศกำลังพัฒนา ข้อตกลงที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองสิทธิทางปัญญาเพื่อคุ้มครองเครื่องบ่งบอกทางภูมิศาสตร์ (GI) ซึ่งประเทศใหญ่ ๆ ไม่ต้องการให้เราเข้าไปจดทะเบียนมากนัก ซึ่งประเทศไทยขึ้นทะเบียน GI ไปกว่า 100 รายชื่อแล้ว ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกร ทำให้สินค้าเกษตรมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น”

เตือน “กูเกิล-อาลีบาบา” ผูกขาด-กินรวบ ศก.โลก

ประการที่สาม ขณะนี้ถึงเวลาแล้วที่ WTO UNCTAD ต้องมาช่วยดูแลเรื่องอีคอมเมิร์ซ เนื่องจากขณะนี้บริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกล้วนอยู่ในด้านดิจิทัลทั้งสิ้น อาทิ กูเกิล อาลีบาบา แอปเปิล ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ถูกลงโทษปรับจากองค์กรของสหรัฐอเมริกาและยุโรปมาแล้วในเรื่องการละเมิดกฎระเบียบการแข่งขัน

“การแข่งขันของบริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านี้ เป็นการผูกขาดยิ่งขึ้นไป คนที่มีแพลตฟอร์มการค้าก็ต้องการแพลตฟอร์มในเรื่องโลจิสติกส์ และต้องมีแพลตฟอร์มด้านการเงิน รวมถึงแพลตฟอร์มข้อมูลที่เป็น บิ๊กเดต้า และในที่สุดก็จะสามารถเป็นเจ้าของโลกนี้ได้ ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อไปในอนาคตได้”

Advertisment

กระตุกรัฐบาลไทย “รู้ทัน”

ดร.ศุภชัยกล่าวว่า เพราะฉะนั้นจึงต้องมีการติดตาม ไม่ใช่การควบคุม ว่า สิ่งที่เป็นยักษ์ใหญ่ใหม่ ๆ ของโลกขณะนี้ ที่จะทำให้เศรษฐกิจของโลกเกิดการกระทบกระเทือนมากขึ้น ทั้งเรื่องการจ้างงาน การศึกษา การค้าขายแบบใหม่ที่จะเกิดขึ้น ซึ่งจะทำให้หลาย ๆ ประเทศตามไม่ทัน

“ถ้าเกิดบริษัทยักษ์ใหญ่มาลงทุนในบ้านเราอย่างเดียว ซึ่งหวังว่าจะเข้ามาช่วยเรา อย่าคิดอย่างนั้นเป็นอันขาด ถ้าเกิดเขาเข้ามา เราต้องรู้ทันเขาและต้องไม่ให้เขาทำทุกอย่าง อย่างที่เขาอยากจะทำ ถ้าจะทำต้องมีคนไทยมาประกบด้วย”

แฉ ปท.มหาอำนาจ กีดกัน UNCTAD ช่วยปท.กำลังพัฒนา

ดร.ศุภชัยกล่าวว่า เศรษฐกิจโลกจะต้องมีระเบียบในการปฏิบัติ เพราะบริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านี้จะถูกลงโทษตลอดเวลาเพราะเขาต้องการจะซื้อ ต้องการเป็นเจ้าของทุกอย่าง ต้องการเอากำไรอย่างเดียว ต้องระมัดระวัง

ดร.ศุภชัยกล่าวทิ้งท้ายว่า เรื่องอัตราแลกเปลี่ยนมีส่วนสำคัญในการทำให้การค้าไขว้เขวได้ เพราะมีหลายประเทศอ้างเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนว่า ประเทศต่าง ๆ มีการแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยนจนเกินเหตุ แต่ความเป็นจริงการแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อรักษาอัตราแลกเปลี่ยนให้มีเสถียรภาพเป็นสิ่งที่จำเป็น เป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป มีเสถียรภาพและการเปลี่ยนแปลงที่ดีที่สุดในกลุ่มประเทศเอเชียมีการนำเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนมาพูดกันมากขึ้นเพื่อไม่ให้ใครที่จะใช้เครื่องมืออัตราแลกเปลี่ยนมาใช้ด้วยความไม่เป็นธรรมเพราะจะทำให้ประเทศเพื่อนบ้านเดือนร้อน

“ประเทศมหาอำนาจใหญ่ ๆ ไม่ต้องการให้ UNCTAD เข้ามามีบทบาทสนับสนุนประเทศกำลังพัฒนาให้แข็งแกร่งขึ้นมาได้ ในเวทีระดับโลกปากอาจจะพูดว่าต้องการช่วยส่งเสริมประเทศกำลังพัฒนาแต่ในใจจริงแล้วทุกคนเมื่อกลับบ้านไปแล้วกลับพูดอีกอย่าง เพราะฉะนั้นการเจรจาการค้าโลกระดับผู้นำไม่เคยประสบความสำเร็จสักครั้งเดียว ควรจะเลิกพูดได้แล้วและมาพูดเรื่องการหาทางพัฒนาร่วมกัน”

“ดร.สุรินทร์” แนะ อาเซียน หันหน้าเข้าหากันมากขึ้น

ด้าน ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน กล่าวว่า เรื่องของการปฏิเสธหรือเป็นปฏิปักษ์ต่อโลกาภิวัตน์ ซึ่งประเทศกำลังพัฒนาได้ประโยชน์จากกระบวนการโลกาภิวัตน์มากขึ้น คนยากจนร่ำรวยขึ้น ทำให้เกิดคนชั้นกลางมากขึ้นทั้งในจีนและอินเดีย แต่ขณะเดียวกันประเทศพัฒนาแล้วกลับเป็นผู้สูญเสียประโยชน์ จึงเกิดกระแสโต้กลับ เช่น ปรากฏการณ์เบร็กซิตในอังกฤษ และการได้รับชัยชนะของนายโดนัล ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ

ดร.สุรินทร์กล่าวว่า ภูมิภาคเอเชียส่วนใหญ่ยังเห็นประโยชน์ต่อการเปิดตลาดจากการแลกเปลี่ยน การเข้ามาลงทุน การค้าขายระหว่างกันเพราะเป็นบริเวณที่ผลิตสินค้าส่งออกไปตลาดโลกมากกว่าบริเวณอื่นของโลก แต่ต้องพยายามไม่ให้กระแสปฏิเสธกระบวนการโลกาภิวัตน์กระทบกับผลประโยชน์ของเราที่วางบนพื้นฐานการเจรจาระดับพหุภาคีแทนที่จะเป็นการเจรจาแบบทวิภาคี ซึ่งจะเสียเปรียบเนื่องจากไม่มีกำลังพอ ไม่มีทุนพอ ไม่มีความพร้อมในหลาย ๆ ด้าน จึงต้องหันหน้าเข้าหากันมากยิ่งขึ้น

วิทยาศาสตร์-นวัตกรรม พัฒนาคน-ทางรอด

“เพราะฉะนั้นการตอบโต้กระบวนการปฏิเสธโลกาภิวัตน์ของโลกตะวันตก คือ ต้องรวมตัวกันมากขึ้น การทำให้การบูรณาการมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยอาเซียนต้องเพิ่มการค้าระหว่างกันมากขึ้น เปิดตลาดให้กันมากขึ้นจากปัจจุบันค้าขายระหว่างกันเพียง 25 เปอร์เซ็นต์ ต่ำมาก ซึ่งจะทำให้ประชาคมการค้าเศรษฐกิจอาเซียนอยู่ไม่ได้ ดังนั้นอย่ากลัวการเปิดตัวแต่ต้องเพิ่มความสามารถ สมรรถนะ ความสามารถทางการแข่งขันของตัวเอง โดยเฉพาะเรื่องวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม การศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สิ่งนี้เท่านั้นที่จะทำให้เราอยู่รอดและอยู่รอดกับคนอื่น ไม่ได้อยู่รอดเพียงคนเดียว แบ่งปันผลประโยชน์กันอย่างเป็นธรรม”