หอการค้า 5 ภาคส่องเศรษฐกิจ “พืชผลเกษตรฟุบ-ฟื้นตัวกระจุก”

บนเวทีประชุมหอการค้าทั่วประเทศ ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถา เกี่ยวกับทิศทางเศรษฐกิจว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจภาคการเกษตรและประชาชนฐานรากแม้ยังไม่ฟื้นตัวนัก แต่ยังมีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ พร้อมกับฝากภารกิจหอการค้าทั่วประเทศช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจท้องถิ่นให้กลับมาคึกคัก สร้างความมั่นคงไปพร้อมกับภาพใหญ่ของเศรษฐกิจประเทศในภาพรวม

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้สำรวจความเห็นของนักธุรกิจในจังหวัดต่าง ๆ ถึงสภาพเศรษฐกิจปีนี้ และทิศทางในปี 2561

ภาคตะวันออกได้อานิสงส์อีอีซี

“ธีรินทร์ ธัญญวัฒนกุล” เลขาธิการหอการค้าจังหวัดชลบุรี และกรรมการผู้จัดการ บริษัท ทีอาร์ ไทย ฟู้ดส์ จำกัด กล่าวว่า เศรษฐกิจจังหวัดชลบุรียังยังไปได้ ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยว อุตสาหกรรม บวกกับโครงการพัฒนาระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่รัฐพยายามผลักดันทำให้ภาคตะวันออกค่อนข้างคึกคัก

“ผมมองว่าควอร์เตอร์สุดท้ายปีนี้เศรษฐกิจคึกคักขึ้น คนจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ส่วนหนึ่งอั้นมานาน อีกส่วนรัฐใส่งบฯเข้าโครงการบัตรสวัสดิการประชารัฐ เงินถึงรากหญ้ากระตุ้นการจับจ่าย ทำให้เงินหมุนเข้าระบบมากขึ้น ส่วนปีหน้ามองว่าน่าจะดีกว่าปีนี้ ถ้าภาครัฐยังใส่เม็ดเงินต่อเนื่อง ดูจากธุรกิจผมที่ทำเกี่ยวกับข้าว ควอร์เตอร์ 4 ปีนี้เทียบกับปีที่แล้ว เติบโตขึ้นถึง 30%”

นครศรีฯ หวังปัจจัยบวกท่องเที่ยว

“กรกฎ เตติรานนท์” ประธานหอการค้าจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า จากที่ภาคการผลิตของนครศรีธรรมราชพึ่งภาคการเกษตรเป็นหลัก ทำให้การใช้จ่ายไม่ค่อยดี ปีหน้าความคาดหวังเราต้องการให้ดีขึ้น แต่ถ้าราคาผลผลิตการเกษตรไม่ขยับการใช้จ่ายก็คงไม่สูงขึ้น อย่างไรก็ตาม การท่องเที่ยวช่วยได้บ้าง เริ่มเห็นตัวเลขภาคการท่องเที่ยวฝั่งทะเล ทั้งขนอม สิชล โตขึ้น เราจึงพยายามขับเคลื่อนและโปรโมตแหล่งท่องเที่ยวเพื่อดึงเงินเข้าจังหวัด

“ฝากภาครัฐว่านโยบายเศรษฐกิจ การคาดการณ์เศรษฐกิจของรัฐขณะนี้ทั้งประเทศใช้นโยบายเดียว ทั้งที่จริง ๆ แล้วควรจะแยกเป็นระดับภาค อย่างเช่นธนาคารแห่งประเทศไทยมองส่วนกลางว่าเศรษฐกิจเติบโต 4% แต่ภาคใต้คือ 2% ดังนั้นควรเงินอัดฉีดให้เฉพาะบางภาคส่วนที่มีปัญหา การพัฒนาท้องถิ่นก็ควรแยกเป็นภาค เหนือ อีสาน กลาง ใต้ เนื่องจากปัจจุบันข้อมูล และพื้นที่เป็นเรื่องสำคัญ จะได้แก้ปัญหาตรงจุด”

เศรษฐกิจอีสานเริ่มฟื้น

ขณะที่ “ประภาพร สงวนนาม” กรรมการผู้จัดการ โรงแรมรอยัล นาคารา จังหวัดหนองคาย และประธาน YEC จังหวัดหนองคาย กล่าวว่า ส่วนตัวทำธุรกิจเกี่ยวกับโรงแรม เป็นธุรกิจด้านการท่องเที่ยว มองว่าการท่องเที่ยวในจังหวัดหนองคายถือว่าเติบโตขึ้นมากในปีนี้ เพราะผู้ประกอบการหรือจำนวนโรงแรมเริ่มมีมากขึ้นเรื่อย ๆ เป็นตัวขับเคลื่อนเม็ดเงินให้เข้ามาในจังหวัด แม้การค้าการลงทุนจากผู้ประกอบการต่าง ๆ จะดูดรอปลงไปบ้างบางช่วง แต่มูลค่าทางด้านเศรษฐกิจกลับโตขึ้น และแนวโน้มปีหน้าของธุรกิจโรงแรมในจังหวัดหนองคายหากแย่ที่สุดน่าจะทรงตัว แต่ไม่ดรอปแน่นอน โดยเฉพาะการท่องเที่ยวแบบเชื่อมโยงร่วมกับจังหวัดใกล้เคียงสามารถกระตุ้นเม็ดเงินให้จังหวัดได้ดี

สอดคล้องกับที่ “มงคล จุลทัศน์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท มงคลคาร์เซ็นเตอร์ จำกัด จังหวัดอุบลราชธานี ชี้ว่า ในฐานะผู้ประกอบการเต็นท์รถมือสอง มองทิศทางเศรษฐกิจในจังหวัดอุบลราชธานีว่าดีขึ้นจากปีที่แล้ว โดยเฉพาะราคาข้าว ซึ่งในปี 2559 การประกอบธุรกิจของธุรกิจขายรถมือสองต้องออกโครงการข้าวแลกรถ เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระของเกษตรกรเนื่องจากข้าวขายได้ราคาต่ำ แต่ในปี 2560 ยอดขายรถมือสองเริ่มดีขึ้น เนื่องจากพืชผลทางการเกษตรมีราคาดีขึ้น ลูกค้าส่วนใหญ่นิยมใช้เงินสดซื้อรถ มากกว่าการผ่อนจ่ายที่ทำให้เป็นหนี้

ด้านจีดีพีประเทศที่เติบโตขึ้นอาจไม่สอดคล้องภาคเกษตร อย่างเกษตรกรที่ปลูกยางพาราขณะนี้ราคายางตกต่ำมาก แต่โดยภาพรวมไม่กระทบเศรษฐกิจหนองคาย เนื่องจากเกษตรกรที่ปลูกยางพารามีส่วนน้อย

โดยสรุปแนวโน้มและทิศทางเศรษฐกิจภาพรวมดีขึ้น เริ่มตั้งแต่ปลายปี 2560 ไฟแนนซ์มีการผ่อนผันในเรื่องเครดิตบูโร และปล่อยกู้เพิ่มขึ้น ในฐานะผู้ประกอบการเต็นท์รถมือสองบอกได้เลยว่าการขายรถเป็นตัวชี้วัดเศรษฐกิจได้ดี และคาดหวังว่าในปี 2561 จะเป็นไปในทิศทางบวก

ภาคเกษตรอ่วมกำลังซื้อกู่ไม่กลับ

ด้าน “วิโรจน์ จิรัฐิติกาลโชต์” ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคเหนือ มองว่า คาดว่าเศรษฐกิจภาคเหนือปี 2561 จะไม่เปลี่ยนแปลงจากนี้มากนัก เพราะยังมีปัจจัยลบราคาสินค้าเกษตร กับภัยแล้งและน้ำท่วม ทำให้กำลังซื้อคนส่วนใหญ่ยังไม่กลับมา อย่างไรก็ตาม การท่องเที่ยวยังไปได้ มีการเติบโต และการค้าชายแดนเหนือยังเป็นลูกค้าที่ดีพอไปได้ คาดว่าปี 2561 เศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้คือไตรมาสที่ 2 และที่ 3 ฝากว่าหากเม็ดเงินจะตกมาถึงภูมิภาคได้ คอร์รัปชั่นต้องลดลง

“เรืองชัย ลิ้มบูรณพันธ์” ประธานหอการค้าจังหวัดอ่างทอง และประธานบริษัท ประชารัฐรักสามัคคีอ่างทอง (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด กล่าวว่า หลังน้ำท่วม อ่างทองตอนนี้อยู่ในช่วงเยียวยา แต่ในวิกฤตก็ถือเป็นโอกาส เพราะน้ำลดเรามีพื้นที่เป็นปุ๋ย เกษตรกรจะเริ่มทำนา เพาะปลูก ภาคการเกษตรน่าจะเริ่มมีกิจกรรมมากขึ้น ส่วนการลงทุนภาคเอกชน ถือยังอยู่ในภาวะทรงตัว แต่มีการลงทุนมากขึ้น อาทิ มีการสร้างตลาด 2 ตลาด คือ ตลาดทรัพย์ทวี กับตลาดร่วมเจริญ เป็นตลาดขนาดใหญ่ อนาคตจะเป็นตลาดกลางค้าส่งผัก และตลาดกลางค้าส่งปลา ขณะนี้อยู่ในช่วงก่อสร้าง ใช้เงินลงทุนระดับ 100 ล้านทั้งสองแห่ง

“ปีหน้าแนวโน้มเศรษฐกิจน่าจะดีขึ้น เพราะหลังน้ำท่วม ประชาชนเริ่มลงทุนเพาะปลูก และรัฐส่งเสริมแหล่งเงินทุนโดยบริษัทประชารัฐ นอกจากนี้จังหวัดได้ลงไปยังชุมชนในพื้นที่หาผู้ประกอบการที่สนใจจะสร้างรายได้ พัฒนาผลิตภัณฑ์หรือสินค้า โดยผลักดันให้เกษตรกรในพื้นที่ได้มีการเพาะปลูก เช่น เพาะเห็ดเศรษฐกิจฮังการี เห็ดนางรมทอง โดยประชารัฐหาตลาดให้ ในส่วนของจังหวัดก็มีโครงการครัวสุขภาพเพื่อมหานคร มีการประสานกับห้างเดอะมอลล์นำสินค้าไปโรดโชว์ในกรุงเทพฯ เป็นการเปิดช่องทางตลาด เนื่องจากเศรษฐกิจอ่างทองขับเคลื่อนโดยภาคเกษตรเกือบ 100% แต่อ่างทองก็มีอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เช่น ไทยเรยอน ไทยคาร์บอนแบล็ค บ่อทราย และอุตสาหกรรมไม้ ทำให้โดยภาพรวมเศรษฐกิจยังไปได้”