ไทยพร้อมผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล จ่อคลอดโปรเจ็กต์ตุลาคมนี้

สทนช. ประชุมแลกเปลี่ยนเชิงเทคนิคเรื่องการผลิตน้ำจืดจากทะเลร่วมกับนานาชาติ 6 ประเทศ มุ่งเน้นแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำใน EEC อย่างยั่งยืน พร้อมให้ความสำคัญกับผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและการชดเชยที่ดินอย่างเหมาะสม เผยปัจจุบันคืบหน้าแล้วกว่าร้อยละ 89 คาดแล้วเสร็จกลางเดือนตุลาคมนี้

วันที่ 28 กันยายน 2564 นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมแลกเปลี่ยนข้อมูลเชิงเทคนิค ครั้งที่ 3 โครงการศึกษาการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล (Desalination) เพื่อแก้ไขปัญหาความเสี่ยงของการขาดแคลนน้ำในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ณ ห้องประชุม 308 อาคารอาทิตย์ อุไรรัตน์ มหาวิทยาลัยรังสิต พร้อมถ่ายทอดการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย ผู้เชี่ยวชาญโครงการฯ ผู้แทนจาก สทนช. และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ผู้แทนจากสถานทูตสเปน ฝรั่งเศส อิสราเอล จีน ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ ว่า การแลกเปลี่ยนข้อมูลเชิงเทคนิคในวันนี้ เป็นการแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับระบบผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลของประเทศไทย และประเทศต่าง ๆ ได้แก่ ประเทศสเปน ฝรั่งเศส อิสราเอล จีน ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ 

โดยสำหรับประเทศไทย สทนช. ได้ร่วมกับสถาบันการขนส่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินโครงการศึกษาการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลเพื่อแก้ไขปัญหาความเสี่ยงของการขาดแคลนน้ำในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยมีพื้นที่ศึกษาในจังหวัดชลบุรีและจังหวัดระยอง ซึ่งมีพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดและเมืองพัทยา ซึ่งการพัฒนาแหล่งน้ำทางเลือกที่ไม่จำเป็นต้องอิงสภาพน้ำฝน-น้ำท่าตามธรรมชาติ จะช่วยลดภาระการใช้น้ำดิบจากอ่างเก็บน้ำ สร้างความยืดหยุ่นด้านการใช้น้ำ สามารถนำน้ำดิบดังกล่าวไปวางแผนใช้ประโยชน์เพื่อรองรับความต้องการใช้น้ำในพื้นที่อื่นหรือกิจกรรมอื่นที่จำเป็น รวมทั้งเป็นการลดความขัดแย้งระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ และสร้างความมั่นคงของทรัพยากรในพื้นที่ EEC ด้วย

โดยในการดำเนินโครงการได้มีการศึกษาวิเคราะห์อย่างรอบด้านเพื่อหาแนวทางความเป็นไปได้ที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งการคัดเลือกพื้นที่ตั้งระบบผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล อัตรากำลังการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลที่เหมาะสม การคัดเลือกเทคโนโลยการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล ผลกระทบการระบายน้ำทิ้งจากระบบผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล รวมไปถึงงานศึกษาในด้านสังคม สิ่งแวดล้อม เศรษฐศาสตร์ กฎหมาย และการลงทุน

ทั้งนี้ จากการประเมินความเสี่ยงของการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ศึกษา พบว่า พื้นที่เสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำเป็นพื้นที่

การใช้น้ำในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดและนิคมอุตสาหกรรมใกล้เคียง ซึ่งความเสี่ยงจะเพิ่มในอัตราที่สูงกว่าพื้นที่จังหวัดชลบุรี โดยการวิเคราะห์อัตรากำลังการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลที่เหมาะสมจากการศึกษาสมดุลน้ำ บ่งชี้ว่าสถานการณ์ความต้องการใช้น้ำในปี 2570 จำเป็นต้องมีการพัฒนาระบบ Desalination บนพื้นที่บริเวณมาบตาพุด ขนาดไม่น้อยกว่า 100,000 ลบ.ม./วัน โดยจะต้องมีการผลิตอย่างต่อเนื่อง รวมถึงควรมีการพัฒนาระบบสำรองเพิ่มเติมในปีที่มีปริมาณน้ำน้อย อีกประมาณ 100,000 ลบ.ม./วัน และในปี 2580 จะมีความจำเป็นต้องมีการพัฒนาระบบ Desalination บนพื้นที่บริเวณมาบตาพุด ขนาดไม่น้อยกว่า 200,000 ลบ.ม./วัน โดยจะต้องมีการผลิตอย่างต่อเนื่อง รวมถึงควรมีการพัฒนาระบบสำรองเพิ่มเติมในปีที่มีปริมาณน้ำน้อย อีกประมาณ 100,000 ลบ.ม./วัน และการพัฒนาระบบ Desalination บนพื้นที่บริเวณพัทยา – ชลบุรี ขนาดประมาณ 100,000 ลบ.ม./วัน โดยได้มีการคัดเลือกเทคโนโลยีการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลจากการตัดสินใจแบบหลายหลักเกณฑ์ 

พร้อมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญ พบว่า กระบวนการ RO หรือ Reverse Osmosis ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนน้ำทะเลผ่านสู่ระบบเยื่อกรองด้วยแรงดันสูง เป็นกระบวนที่เหมาะสมที่สุด เนื่องจากใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด สามารถใช้ร่วมกับพลังงานทางเลือกได้ และมีความยั่งยืนมากกว่าเทคโนโลยีอื่น ๆ ทั้งยังเป็นระบบที่ได้รับการพัฒนาจนมีต้นทุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน (OPEX) และค่าใช้จ่ายในการลงทุน (CAPEX) ต่ำกว่ากระบวนการอื่น ๆ โดยผลการวิเคราะห์ประเมินตามเกณฑ์พิจารณา พบว่าพื้นที่มีศักยภาพสูงที่เหมาะสมสำหรับตั้งโรงผลิตน้ำจืดจากทะเลอยู่บริเวณพื้นที่มาบตาพุด (นอกเขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด) อำเภอเมือง จังหวัดระยอง อย่างไรก็ตาม จำเป็นต้องมีการพิจารณาเงื่อนไขของการสำรวจพื้นที่จริงและกระบวนการชดเชยที่ดินและทรัพย์สินตามหลักฐานการถือครองและการประเมินมูลค่าทรัพย์สินตามแนวองค์ประกอบโครงการต่อไป

“การศึกษาไม่เพียงมุ่งเน้นในแง่ของเทคโนโลยีและการลงทุนที่คุ้มค่าเท่านั้น แต่ สทนช. ให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งในการศึกษาได้มีการคัดเลือกระบบบำบัดขั้นต้นและระบบการจัดการเกลือเข้มข้นและน้ำทิ้งที่เหมาะสม ทั้งยังวิเคราะห์ผลกระทบในการระบายน้ำทิ้งจากระบบผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล ตั้งแต่กระบวนการสูบน้ำ กระบวนการผลิตน้ำจืด ไปจนถึงการกำจัดเกลือเข้มข้น โดยได้มีการทบทวน ศึกษา รวมถึงอาศัยแบบจำลองต่าง ๆ ในการพิจารณาอย่างรอบคอบ รวมทั้งจะมีการศึกษาทบทวนสภาพสิ่งแวดล้อมปัจจุบันและแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในบริเวณพื้นที่ที่จะเสนอก่อสร้างระบบ รวมถึงสภาพแวดล้อมทางทะเล พร้อมศึกษาทบทวนมาตรฐานและแนวปฏิบัติของต่างประเทศในเรื่องที่เกี่ยวข้องด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อผู้อยู่อาศัยและทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่โดยรอบ พร้อมให้ความสำคัญกับการการชดเชยที่ดินและทรัพย์สินอย่างเหมาะสม โดยขณะนี้มีความก้าวหน้าของการดำเนินงาน ร้อยละ 89 ซึ่งรวดเร็วกว่าแผนงานที่กำหนดไว้ คาดว่าโครงการศึกษาฯ จะแล้วเสร็จในช่วงกลางเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้ อย่างไรก็ตาม จำเป็นจะต้องปรับแนวทางการดำเนินงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ด้วย ซึ่งทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต่างให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่เพื่อให้การขับเคลื่อนโครงการเป็นไปตามแผนที่วางไว้” เลขาธิการ สทนช. กล่าว.