คูโบต้าผนึก SCG ตั้งเกษตรอินโนทุ่มพันล้านบุกเกษตรสมัยใหม่ครบวงจร

“คูโบต้า” เร่งปิดดีลเอสซีจีตั้งบริษัท “เกษตรอินโน KasetInno” ชูบริการโซลูชั่นการเกษตรครบวงจร รุกตลาดเครื่องจักรนวัตกรรมใหม่ เจาะกลุ่มชาวสวนทุเรียน-เครื่องตัดหญ้าเนเปียร์ คาดปั๊มยอดขายปี’65 ทะลุ 6.3 หมื่นล้าน

นายทาคาโนบุ อะซึมะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด เปิดเผยว่า ในปีนี้บริษัทมุ่งเน้นไปที่การสร้างนวัตกรรม สร้างผลิตภัณฑ์การเกษตรสมัยใหม่ โดยกำหนดแผนการลงทุน วงเงิน 1,000 ล้านบาท และอยู่ระหว่างการร่วมลงทุน JV (jont venture) กับบริษัท เอสซีจี เพื่อจัดตั้งบริษัท เกษตรอินโน (KasetInno) ให้บริการโซลูชั่นการเกษตรครบวงจร โดยการนำองค์ความรู้ด้านพืช เครื่องจักรกลการเกษตร และระบบ IOT ที่ทันสมัยมาใช้ เพื่อให้การทำเกษตรก้าวข้ามขีดจำกัดเดิม ซึ่งจะสอดรับเทรนด์แห่งการเกษตรสมัยใหม่ smart farm คาดว่าจะได้เห็นความชัดเจนเร็ว ๆ นี้

สำหรับภาพรวมธุรกิจในปี 2565 ตั้งเป้าหมายสร้างรายได้ยอดขายถึง 63,000 ล้านบาท จากปี 2564 ที่มี 69,000 ล้าน โดยเป็นการขยายตลาดในประเทศ 60% และส่งออก 40% ไปยังประเทศ อาทิ สปป.ลาว กัมพูชา

นายพิษณุ มิลินทานุช ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้จัดการทั่วไป สายงานขาย การตลาดและบริการ เปิดเผยว่า บริษัทเห็นแนวโน้มว่าตลาดส่งออกสินค้าทุเรียนมีคำสั่งซื้อจำนวนมากขึ้นถึง 60% ในปี 2564 ส่งผลให้เกษตรกรหันมาเพิ่มพื้นที่ปลูกทุเรียนโตขึ้นเฉลี่ย 10% เพื่อส่งไปจีน ภายหลังจากที่จีนได้เปิดเส้นทางโลจิสติกส์ใหม่ด้วยรถไฟจีน-ลาว นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา และผลดีจากการเปิดด่านเส้นทางทางบกที่สะดวก ทำให้ตลาด สปป.ลาว กัมพูชา มีแนวโน้มดีขึ้น ซึ่งดีลเลอร์ในประเทศต่าง ๆ สะท้อนภาพว่าคึกคักมากกว่าปีที่ผ่าน ๆ มา

ล่าสุด คูโบต้ามุ่งเน้นพัฒนาเครื่องจักรกลการเกษตร รถขุดเล็ก ซึ่งเป็นกลุ่มสินค้าที่ตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงภาคเกษตร ขณะเดียวกันจะมีการพัฒนาสินค้าเครื่องตัดหญ้าเนเปียร์สำหรับธุรกิจฟาร์มโคนมและพลังงานชีวมวลแทรกเตอร์ B2401 เครื่องตัดหญ้าใต้ท้องรถ (Mid mower) และพัฒนารถดำนาเดินตาม 6 แถวใหม่ นอกจากนี้ยังขยายฐานลูกค้าสู่นอกภาคเกษตรอย่างรถกระบะบรรทุกหนัก มุ่งรุกตลาดน้ำมันเครื่องยนต์ดีเซล ตราช้าง ซุปเปอร์ คอมมอนเรล

Advertisment

“สินค้ากลุ่มใหม่จะมาช่วยทดแทนสินค้ากลุ่มแทรกเตอร์และรถเกี่ยวนวดข้าวที่อาจลดลงจากภาวะการส่งออกข้าวที่มีต้นทุนสูงขึ้น ประกอบกับภาคการผลิตอาจจะลดลงจากสถานการณ์น้ำที่น่าจะต่ำกว่าคาดการณ์ในช่วงครึ่งปีหลัง อีกทั้งโครงการแปลงใหญ่ภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาลยังไม่ชัดเจน”

อย่างไรก็ตาม บริษัทวางกลยุทธ์การทำการตลาดแบบเฉพาะบุคคล (personalized marketing) รวมถึงให้ความสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล (digitalization) เพื่อสื่อสารและตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่มีจำนวนมากขึ้นได้อย่างรวดเร็ว อาทิ ระบบ QRoC หรือ QRadar on Cloud ที่คอยตอบคำถาม เพื่อสนับสนุนการทำงานของช่างบริการผ่านช่องทางไลน์ ระบบ Scan QR code เพิ่มความสะดวกสบายในการชำระค่าบริการของลูกค้า

รวมถึงการเพิ่มฟีเจอร์แชตสอบถามข้อมูลอะไหล่ในเว็บไซต์ KUBOTA Store เพื่อยกระดับการบริการให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์ที่ดี สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ลูกค้ายุคปัจจุบัน นอกจากนี้ยังมีแผนขยายศูนย์กระจายอะไหล่ สยามคูโบต้าไปยังภูมิภาค อีก 2 แห่ง ที่ จ.นครราชสีมา และฉะเชิงเทรา เพื่อรองรับการจัดส่งอะไหล่แท้ให้ถึงมือลูกค้ารวดเร็วขึ้น รวมถึงมองโอกาสการขยายตลาดไปยังกลุ่มลูกค้าใหม่ที่อยู่นอกภาคเกษตร อย่างรถกระบะบรรทุกหนัก ตลาดน้ำมันเครื่องยนต์ดีเซล ตราช้าง ซุปเปอร์ คอมมอนเรลด้วย

นางวราภรณ์ โอสถาพันธุ์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส เปิดเผยว่า แม้ภาวะเศรษฐกิจภาคการเกษตรไทยในปีที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แต่การส่งออกสินค้าทางการเกษตรมีแนวโน้มที่ดีขึ้น จากทั่วโลกยังมุ่งเรื่องความมั่นคงทางด้านอาหาร (food security) จึงมีความต้องการสินค้าเกษตรและอาหารคุณภาพอย่างต่อเนื่อง เป็นโอกาสที่ตลาดเครื่องจักรกลการเกษตรจะยังเติบโตต่อเนื่องในปี 2565

Advertisment