เปิดขุมทรัพย์น้ำภาคตะวันออก ใครจะบริหารจัดการน้ำ EEC

ข้อพิพาทในการเปิดประมูล โครงการบริหารและดำเนินการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออกของคณะกรรมการที่ราชพัสดุ ที่มีมติให้ บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง เป็นผู้ชนะการประมูล เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2565

ในขณะที่ บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรืออีสท์วอเตอร์ (Eastwater) ผู้บริหารท่อส่งน้ำสายหลักในปัจจุบัน และเป็นผู้เข้าร่วมการประมูลในครั้งนี้ด้วย ได้ยื่นฟ้อง คณะกรรมการคัดเลือก กับกรมธนารักษ์ ต่อศาลปกครองกลาง ในเดือนตุลาคม 2564 เพื่อขอยกเลิกการประมูลที่ผ่านมา

จนกลายเป็นศึกแย่งท่อส่งน้ำสายหลักที่จะส่งน้ำเข้าหล่อเลี้ยงพื้นที่ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) รวมไปถึงพื้นที่ภาคตะวันออกทั้งหมด

จากข้อเท็จจริงในการจัดการน้ำภาคตะวันออกพบว่า “หัวใจ” หลักในการบริหารจัดการน้ำอยู่ที่ “โครงการท่อส่งน้ำดิบ” ที่เชื่อมต่ออ่างเก็บน้ำสำคัญในพื้นที่ 3 จังหวัด ชลบุรี-ระยอง-จันทบุรี เพื่อนำน้ำดิบในอ่างเก็บน้ำของกรมชลประทานมาผ่านกระบวนการส่งน้ำให้กับภาคอุตสาหกรรม-เกษตรกรรม และเพื่อการอุปโภค/บริโภค โดยท่อส่งน้ำดิบดังกล่าว ได้แก่

1) โครงการท่อส่งน้ำดอกกราย มูลค่าโครงการ 772.09 ล้านบาท 2) โครงการท่อส่งน้ำหนองปลาไหล-หนองค้อ มูลค่าโครงการ 2,205.05 ล้านบาท และ 3) โครงการท่อส่งน้ำหนองค้อ-แหลมฉบัง (ระยะที่ 2) มูลค่าโครงการ 254.87 ล้านบาท ปัจจุบันท่อส่งน้ำดิบทั้ง 3 โครงการ อยู่ภายใต้การบริหารจัดการของบริษัท อีสท์วอเตอร์ มาตั้งแต่ปี 2537 มีระยะเวลาการเช่า 30 ปี (เฉพาะท่อส่งน้ำดอกกราย จะครบกำหนดสัญญาเช่าในปี 2566)

โดยท่อส่งน้ำดิบเหล่านี้ได้เชื่อมต่อกับอ่างเก็บน้ำของกรมชลประทาน ซึ่งเป็นแหล่งน้ำดิบที่สำคัญที่สุดในภาคตะวันออก ได้แก่ อ่างเก็บน้ำดอกกราย มีปริมาตรความจุอ่าง 71.40 ล้าน ลบ.ม., อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล มีปริมาตรความจุอ่าง 163.75 ล้าน ลบ.ม.

และอ่างเก็บน้ำหนองค้อ มีปริมาตรความจุอ่าง 21.40 ล้าน ลบ.ม. ครอบคลุมลุ่มน้ำระยองและชลบุรีบางส่วน ด้วยปริมาตรความจุน้ำรวมกัน 256.58 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นปริมาณน้ำดิบในอ่างทั้ง 3 “เกินกว่า” ครึ่งหนึ่งของปริมาณน้ำดิบในอ่างทั้งหมดของจังหวัดระยองกับชลบุรีรวมกัน

สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติได้ประมาณการความต้องการใช้น้ำในภาคตะวันออก (รวมเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก) ล่าสุด โดยคำนวณจากปีฐาน 2560 ความต้องการใช้น้ำรวมอยู่ที่ 4,167 ล้าน ลบ.ม. แบ่งเป็นน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค 251 ล้าน ลบ.ม. (10.38%) น้ำเพื่ออุตสาหกรรม 606 ล้าน ลบ.ม. (25.05%) และน้ำเพื่อเกษตรกรรม 1,562 ล้าน ลบ.ม. (64.57%) มาถึงปี 2580 หรืออีก 15 ปีข้างหน้า

ภาคตะวันออกจะมีความต้องการใช้น้ำรวม 5,775 ล้าน ลบ.ม. แบ่งเป็น น้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค 392 ล้าน ลบ.ม. (12.69%) น้ำเพื่ออุตสาหกรรม 865 ล้าน ลบ.ม. (28%) และน้ำเพื่อเกษตรกรรม 1,832 ล้าน ลบ.ม. (59.31%) หรือเท่ากับความต้องการใช้น้ำโดยรวมในภาคตะวันออกทั้งภาค นับจากปีฐาน 2560 มาจนถึงน้ำในอนาคตปี 2580 จะเพิ่มขึ้น 1,608 ล้าน ลบ.ม. หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 53.5

แต่หากจะคำนวณความต้องการใช้น้ำเฉพาะ 3 จังหวัด ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ชลบุรี-ระยอง-ฉะเชิงเทรา ก็จะพบว่าปี 2560 (ปีฐาน) ทั้ง 3 จังหวัดมีความต้องการใช้น้ำรวม 2,419 ล้าน ลบ.ม. แบ่งเป็น น้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค 251 ล้าน ลบ.ม. (10.38%) น้ำเพื่ออุตสาหกรรม 606 ล้าน ลบ.ม. (25.05%)

และน้ำเพื่อเกษตรกรรม 1,562 ล้าน ลบ.ม. (64.57%) จนมาถึงปี 2580 ทั้ง 3 จว.จะมีความต้องการใช้น้ำรวม 3,089 ล้าน ลบ.ม. แบ่งเป็น น้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค 392 ล้าน ลบ.ม. (12.69%) น้ำเพื่ออุตสาหกรรม 865 ล้าน ลบ.ม. (28%) และน้ำเพื่อเกษตรกรรม 1,832 ล้าน ลบ.ม. (59.31%)

นั่นหมายถึง เฉพาะพื้นที่ EEC นับจากปีฐานมาถึงปี 2580 จะต้องหาน้ำเพิ่มขึ้น 670 ล้าน ลบ.ม. หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 27.7 โดยความต้องการใช้น้ำในภาคอุปโภค-บริโภค จะมีอัตราเพิ่มขึ้นสูงสุด หรือ 56% รองลงมาได้แก่ ภาคอุตสาหกรรม 43% และภาคการเกษตร 17% จังหวัดที่มีความต้องการใช้น้ำมากที่สุดในอีก 15 ปีข้างหน้า จะเป็นจังหวัดฉะเชิงเทรา, ระยอง, ชลบุรี ตามลำดับ

ดังนั้น โจทย์ใหญ่ของภาคตะวันออก รวมพื้นที่ EEC นอกเหนือจากการหาแหล่งน้ำมาเพิ่มเติมก็คือ การบริหารจัดการ เพื่อให้มี “น้ำ” ส่งต่อไปถึงผู้ใช้น้ำทั้ง 3 ภาค ซึ่งภาคอุตสาหกรรมมีความต้องการใช้น้ำเป็นอันดับ 2 รองจากน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค

รัฐบาลได้วางโครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อรองรับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก EEC ระหว่างปี 2563-2580 ไว้ถึง 38 โครงการ คิดเป็นมูลค่า 52,874 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นโครงการที่ดำเนินการเสร็จแล้ว 11 โครงการ มูลค่า 6,278.76 ล้านบาท อยู่ระหว่างดำเนินการ 10 โครงการ มูลค่า 10,086.75 ล้านบาท และอยู่ระหว่างการขับเคลื่อนอีก 17 โครงการ มูลค่า 36,508.96 ล้านบาท

ที่น่าสนใจก็คือ โครงการเครือข่ายผันน้ำผ่านท่อส่งน้ำดิบ ซึ่งเป็น “หัวใจ” ของการนำน้ำจากแหล่งน้ำดิบ (อ่างเก็บน้ำหลักใน 3 จังหวัด) มาส่งต่อให้กับผู้ใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคอุตสาหกรรม ในพื้นที่ EEC พบว่า มีโครงการที่ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว

ได้แก่ โครงการเพิ่มประสิทธิภาพระบบผันน้ำแม่น้ำบางปะกง-อ่างเก็บน้ำบางพระ จ.ชลบุรี, โครงการเพิ่มประสิทธิภาพและปริมาณการจ่ายน้ำท่อส่งน้ำหนองปลาไหล-หนองค้อ จ.ชลบุรี, โครงการสระทับมา จ.ระยอง และโครงการก่อสร้างระบบท่อส่งน้ำดิบอ่างเก็บน้ำคลองหลวง-ชลบุรี ซึ่งโครงการทั้งหมดนี้ถูกดำเนินการโดยบริษัท อีสท์วอเตอร์

โครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ได้แก่ โครงการปรับปรุงเครือข่ายอ่างเก็บน้ำคลองใหญ่-หนองปลาไหล จ.ระยอง, โครงการปรับปรุงคลองพานทองเพื่อผันน้ำไปยังอ่างเก็บน้ำบางพระ จ.ชลบุรี และโครงการที่ต้องขับเคลื่อนต่อไป ได้แก่ โครงการเครือข่ายอ่างประแสร์-หนองค้อ-บางพระ จ.ชลบุรี, โครงการเครือข่ายน้ำอ่างคลองโพล้-อ่างประแสร์ และโครงการเครือข่ายคลองวังโตนด-อ่างประแสร์ จ.ระยอง

ความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นกับผู้บริหารจัดการน้ำในภาคตะวันออก ตลอดระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมา ถูกดำเนินการโดยบริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก หรือ Eastwater (การประปาส่วนภูมิภาคถือหุ้นอยู่ 40.20%)

นอกเหนือไปจากโครงการท่อส่งน้ำดิบหลัก 3 โครงการในปัจจุบัน (ท่อดอกกราย-ท่อหนองปลาไหล-หนองค้อ และท่อหนองค้อ-แหลมฉบัง) ที่กำลังจะถูกเปลี่ยนมือจาก Eastwater มาเป็นบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง ซึ่งถือเป็นโครงข่ายหลักในการส่งน้ำเข้าพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษ EEC จะกระทบไปถึงโครงการที่กำลังถูกขับเคลื่อนมูลค่าหลายหมื่นล้านบาทในอนาคตอีกด้วย

เพราะ “ใคร” กุมโครงข่ายการส่งน้ำ-แหล่งน้ำดิบในพื้นที่ได้ ย่อมกุม “หัวใจ” น้ำในภาคตะวันออกได้ทั้งหมด