สาธิตมธ.ให้ครูพัฒนาตนเองเพื่อประโยชน์ผู้เรียน

สาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ใช้ Professional Development คืนสิทธิให้ครูพัฒนาศักยภาพตนเอง เพื่อสร้างครูที่เข้มแข็ง ตอบสนองกับผู้เรียนที่หลากหลาย บนพื้นฐานของ “สังคมแห่งความเคารพและการเรียนรู้ร่วมกัน”

อาจารย์อมรรัตน์ สีหะปัญญา หรือ ครูส้ม ผู้ดูแลโครงการ Professional Development “โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” กล่าวว่า ในฐานะชุมชนแห่งการเรียนรู้ก็ตระหนักและให้ความสำคัญกับบุคลากรที่เป็นแม่พิมพ์ของชาติอย่างมาก ได้ริเริ่มโครงการ Professional Development หรือว่า PD ขึ้นมา เพื่อปลูกความรู้สึกของครูว่าตัวเองนั้นมีสิทธิในการพัฒนาศักยภาพของตน เพื่อตอบสนองโจทย์ใหญ่ของทางโรงเรียนคือ “เด็ก” หรือ “ผู้เรียน” เมื่อราว 2 ปีที่แล้ว

โดยก่อนโรงเรียนเริ่มเปิดการเรียนการสอน ทางผู้บริหารและคณะครูได้ทำการร่วมกันประชุม และเล็งเห็นว่าโรงเรียนมีทรัพยากรครูที่มีความแตกต่างหลากหลาย ซึ่งเกือบทั้งหมดมิได้จบครูมาโดยตรง แต่ว่าปลายทางของทุกคนคือ ร่วมกันสร้างกระบวนการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ

การพัฒนาตัวเองของครูให้มีความพร้อมและมีศักยภาพมากพอที่จะออกแบบกระบวนการเรียนรู้ให้ผู้เรียนเติบโตตามศักยภาพและความหลากหลายของเขาได้อย่างสูงสุด จึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นของ Professional Development ในวันนี้”

อ.อมรรัตน์ กล่าวอีกว่า “ระยะที่ 1 ของโครงการ เป็นการเตรียมความพร้อมให้ครูตั้งแต่ก่อนเปิดโรงเรียนด้วยการเติมเครื่องมือที่หลากหลาย เช่น Socratic teaching, Happiness classroom และ ศิลปะในการสะท้อนการเรียนรู้ ให้กับครู แต่การออกแบบและการจัดกระบวนการเรียนรู้ คือ สิ่งที่ทางคุณครูทุกท่านให้ความสำคัญ

โดยเน้น 3 ประเด็นหลัก คือ จะนำเด็กเข้าสู่กระบวนการได้เรียนรู้อย่างไร, จะให้กระบวนการเขาอย่างไร และจะพาเขาไปต่อในกระบวนการได้อย่างไร

ซึ่งครูของเราได้มีการจำลองการจัดกระบวนการเรียนรู้ตามกลุ่มประสบการณ์ (5 กลุ่มประสบการณ์การเรียนรู้) ในฐานะครูจะมองเห็นความพร้อมและปัญหาที่ต้องพัฒนาตัวเองต่อไป จากการสะท้อนความคิดจากเพื่อนครูที่จำลองบทบาทของผู้เรียน รวมถึงการแลกเปลี่ยนความคิดกับวิทยากร เพราะเราเชื่อว่าโรงเรียนแห่งนี้คือชุมชนแห่งการเรียนรู้ที่ต้องเดินไปด้วยกัน” วันนี้ ครูของโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้นำเครื่องมือ และการจัดกระบวนการเรียนรู้ไปใช้กับเด็กๆ แล้ว 1 ภาคการศึกษา ซึ่งประสบการณ์ที่ครูแต่ละท่านได้พบเจอในชั้นเรียนได้กลายเป็นโจทย์ของ Professional Development ในระยะที่ 2 ซึ่งกำลังดำเนินกิจกรรมอยู่ในปัจจุบัน

โจทย์ยากของครูไทย คือ “การรับระบบพัฒนาครูมาจากส่วนกลาง” ซึ่งแปลว่าครูทั้งประเทศจะรับรู้เรื่องเดียวกัน ดังนั้นจะดีกว่าหรือไม่ หากระบบพัฒนาครูมาจากส่วนกลางจะเป็นแค่แนวคิด ซึ่งผู้บริหารแต่ละโรงเรียนนำมาปรับใช้ให้เหมาะกับบริบทที่แวดล้อม

อ.อมรรัตน์ ให้ความเห็นส่วนนี้ว่า “สิ่งสำคัญที่สุดคือการได้รับสิทธิที่จะพัฒนาตัวเองของกลุ่มครูในโรงเรียนให้ยั่งยืน เพื่อสร้างการเรียนรู้บนฐานของประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นในชุมชนแห่งการเรียนรู้นั้นๆ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องครูหรือเรื่องการศึกษา ควรเปิดโอกาสให้ครูมีสิทธิในการพัฒนาตัวเองอย่างเต็มที่ กล้าคืนอำนาจในการพัฒนาตัวเองให้กับครู กระตุ้นให้เขารู้สึกว่าทุกคนสามารถสร้างการเรียนรู้และพัฒนาตัวเองได้ โดยเชื่อมโยงจากประสบการณ์จริง ทำให้ครูรู้ว่าภาครัฐหรือหน่วยงานยอมรับฟังความคิดของพวกเขาโดยไม่ตัดสินว่า คิดแบบนี้ผิดหรือถูก และกลุ่มครูของแต่ละโรงเรียนต้องลงมือปรุงกระบวนการที่เรียกว่า Professional Development ขึ้นมาเอง เพื่อพัฒนาศักยภาพที่ต่างกันของครูแต่ละท่านให้ตอบสนองกับเด็ก แต่การทำงานของครูเพียงคนเดียวอาจไม่เพียงพอต่อการสร้างประสบการณ์ทางการเรียนรู้ให้ผู้เรียน จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือ และความร่วมใจกันของนิเวศการเรียนรู้ในโรงเรียนนั้น ทั้งเพื่อนครูในศาสตร์ต่างๆ ผู้ปกครอง ผู้บริหาร ผู้เรียน และภาคส่วนอื่นๆ เพื่อร่วมมือกันสร้าง Human Capital ของประเทศเราให้มีคุณภาพสู่สังคม ซึ่งครูของโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เอง ก็ได้รับสิทธิ์และอิสระในการพัฒนาศักยภาพ เติมเต็มศาสตร์ที่ตนเองสนใจ และสร้างอัตลักษณ์ของตัวเองขึ้นมา โดยโครงการมีแผนระยะยาว 5 ปี ซึ่งแต่ละปีจะมี outcome ต่างกันตามโจทย์ที่เราเจอ ซึ่งปลายทางโครงการ Professional Development ของ โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นั้น นอกจากการพัฒนาครู คือการสร้างนวัตกรรมของการพัฒนาครู เพื่อสร้างการเป็นนักจัดการเรียนรู้มืออาชีพ นั่นเอง”