สจล.ขานรับรัฐบาล เดินหน้าจัดตั้ง “CMKL University” เปิดสอนปี’61

“ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์” อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เปิดเผยความคืบหน้าการจัดตั้งมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน (Carnegie Mellon University) ในประเทศไทย โดยร่วมมือกับ สจล. บริหารจัดการและเปิดดำเนินการเรียนการสอน ในปีการศึกษา 2561 ว่า หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบให้มหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน เข้ามาเปิดดำเนินการในประเทศไทยร่วมกับ สจล. ภายใต้ชื่อว่า มหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล (CMKL University) ผู้บริหารทั้งสองสถาบันการศึกษาจึงได้เร่งดำเนินการตามแผนการจัดตั้งมหาวิทยาลัย เพื่อให้สามารถจัดการเรียนการสอนได้ทัน ในปีการศึกษา 2561

โดยนำร่องเปิดสอนหลักสูตรสาขาวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ (Electrical and Computer Engineering) ในระดับปริญญาเอกและปริญญาโท และสาขาวิศวกรรมซอฟต์แวร์ (Software Engineering) ในระดับปริญญาโท จากนั้นจึงจะขยายหลักสูตรเพิ่มเติมในปีการศึกษาถัดไป

“ในช่วงต้นเดือน ธ.ค.นี้ คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน จะเดินทางมาประเทศไทยเพื่อร่วมหารือกับ สจล. พร้อมลงพื้นที่ตรวจสอบความคืบหน้าการจัดสร้างมหาวิทยาลัย หลังจากที่ก่อนหน้านี้ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และคณะผู้บริหาร สจล. ได้เดินทางไปยัง มหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อร่วมหารือให้สามารถดำเนินการได้ตามแผนงานที่วางไว้”

“ในส่วนของรายละเอียดหลักสูตรและรูปแบบการบริหารจัดการ จะมีการให้ข้อมูลอย่างเป็นทางการ ในช่วงที่คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน เดินทางมาประเทศไทย”

“ศ.ดร.สุชัชวีร์” กล่าวต่อว่า สจล. กับ มหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน ยังมีความร่วมมือในด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาการศึกษาไทย ได้แก่ การจัดทำโครงการวิจัยร่วมเพื่อตอบปัญหาของประเทศ (Collaborative Research) โดยโครงการวิจัยทุกโครงการจะใช้อาจารย์และนักวิจัยหลักจากมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน ร่วมกับมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลก มหาวิทยาลัยในประเทศไทย และภาคเอกชน ในลักษณะเป็นเครือข่ายนักวิจัยและถ่ายทอดความรู้ เพื่อสร้างงานวิจัยและนวัตกรรมที่มีโอกาสต่อยอดทางธุรกิจ

รวมถึงการแลกเปลี่ยนอาจารย์และนักวิจัยเพื่อพัฒนาทักษะ (Faculty Exchange) ซึ่งการแลกเปลี่ยนบุคลากรผู้มีความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ถือเป็นหนึ่งในการพัฒนาบุคลากรไทยให้ทัดเทียมมาตรฐานโลก พร้อมผลักดันให้ประเทศไทยขยับขึ้นเป็นศูนย์กลางด้านการวิจัยและนวัตกรรมของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อันเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนและบริษัทข้ามชาติในการเข้ามาตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนา (R&D Center) หรือการผลิตขั้นสูงในประเทศไทย

สำหรับแผนความร่วมมือระยะยาวนั้น จะมีการผลิตนักศึกษาปริญญาเอกไม่ต่ำกว่า 100 คน และผลิตนักศึกษาปริญญาโทไม่ต่ำกว่า 250 คน พร้อมยกระดับคุณภาพอาจารย์และนักวิจัยไทยให้มีมาตรฐานระดับโลก โดยสร้างโครงการวิจัยเพื่อต่อยอดเป็นวัตกรรมหรือมีศักยภาพเชิงพาณิชย์ และสร้างแพลตฟอร์มและเครือข่ายให้อาจารย์ นักวิจัย นักศึกษา และบริษัทในประเทศไทย ได้เข้ามาเพิ่มพูนความรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ กับอาจารย์และนักวิจัยด้านเทคโนโลยีระดับแนวหน้าของโลก

“ความร่วมมือครั้งสำคัญระหว่าง สจล. กับมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน จะช่วยยกระดับความรู้และทักษะแห่งโลกยุคใหม่ในทุกภาคส่วน ไม่เฉพาะด้านการศึกษา แต่ยังรวมไปถึงด้านการให้บริการและธุรกิจดิจิทัล ด้านโลจิสติกส์และการคมนาคมขนส่ง ด้านหุ่นยนต์สมองกลฝังตัวและการควบคุมจักรกลอัตโนมัติ ซึ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสาขาวิชาที่ สจล. มีความพร้อมในการพัฒนาก้าวสู่การเป็นผู้นำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาชั้นนำระดับโลกด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยเฉพาะด้านวิศวกรรมศาสตร์และคอมพิวเตอร์”