วิกฤตเหลื่อมล้ำการศึกษา ปัญหาเด็กไทย ในทัศนะ “เศรษฐา ทวีสิน”

คอลัมน์ นอกรอบ

เศรษฐา ทวีสิน

 

ในมุมมองของผู้ใหญ่ วิกฤตโควิดมีหลายเรื่องที่เราต้องกังวลกัน ไหนจะเรื่องเข้าถึงวัคซีน ไหนจะเรื่องเศรษฐกิจปากท้อง ทำให้เรื่องของเด็ก ๆ อาจจะถูกละความสำคัญในการถกเถียงหาข้อสรุปและทางออก ปัญหาดังกล่าวก็คือเรื่องความเสมอภาคทางการศึกษาของเด็กไทย ที่กำลังเผชิญปัญหาใหญ่ไม่แพ้กัน กลัวว่าจะถูกผลักไปไว้หลัง ๆ ของปัญหาที่ต้องแก้ไข

ก่อนโควิดจะมาต้องบอกว่าระบบนิเวศของการศึกษาไทยมีช่องว่างที่ถ่างกว้างอยู่แล้ว ระหว่างเด็กที่มีโอกาสเข้าถึงระบบการศึกษาในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม กับเด็กที่ด้อยโอกาส ที่แม้กระทั่งชุดนักเรียนและเครื่องมือในการเรียนปกติยังมีไม่ครบถ้วน ซึ่งเป็นการลิดรอนสิทธิเข้าถึงการศึกษาที่เหมาะสมของพวกเขาในระดับหนึ่ง

ยิ่งในสารบบการศึกษาไทยที่ให้ความสำคัญกับระบบการประเมินผลการเรียนที่เน้นสายวิชาการ การปลูกฝังให้แข่งขันกันเรื่องการเรียนเพื่อช่วงชิงโอกาสในการศึกษาดี ๆ ในระดับต่อไป ความเหลื่อมล้ำยิ่งรุนแรงเพราะจะมีเด็กสักกี่เปอร์เซ็นต์ที่พ่อแม่สามารถส่งเข้าเรียนในบรรดาสถาบันกวดวิชา เก็งข้อสอบต่าง ๆ ที่ถูกสร้างขึ้นมาป้อนเด็กเข้าระบบ และที่ประเมินความสามารถแบบนี้ เด็กที่ด้อยโอกาสไม่เสียเปรียบหรือครับ ในการที่จะเข้าเรียนในสถาบันที่เหมาะสมกับการพัฒนาศักยภาพที่เขาพึงควรได้

จากตัวเลขของหน่วยงานที่ดูแลเรื่องความเสมอภาคทางการศึกษาบอกว่า มีเด็กยากไร้ถึงกว่า 1.8 ล้านคนที่สุ่มเสี่ยงจะหลุดออกจากระบบการศึกษา และอีกกว่า 4 แสนคนกำลังเข้าข่ายสุ่มเสี่ยงเนื่องจากรายได้ครัวเรือนที่ลดลงในช่วงวิกฤตโควิดอย่างมาก ซึ่งส่งผลต่อการส่งบุตรหลานเข้าโรงเรียน หรือแม้กระทั่งเด็กถูกดึงออกจากระบบการศึกษาเพื่อมาช่วยครอบครัวทำมาหากิน ยิ่งในช่วงโควิดที่มีการหยุดการเรียนการสอน และเปลี่ยนมาเรียนออนไลน์ ปัญหานี้จะถูกขยายให้ใหญ่ยิ่งขึ้น

ถ้าอ้างอิงบทความของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) อันหนึ่งที่บอกว่าไทยเราเองปิดโรงเรียนทั่วประเทศไปแล้ว 15 สัปดาห์จากภาคเรียน 20 สัปดาห์ เท่ากับว่านักเรียนไทยไม่สามารถไปโรงเรียนเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดไปแล้วถึง 3 ใน 4 ภาคเรียน ซึ่งเมื่อประมวลเปรียบเทียบกับสถิติประเทศอื่น ๆ แล้วเขาบอกว่านักเรียนไทยจะเสียการเรียนรู้ประมาณ 28 เปอร์เซ็นต์ของภาคการศึกษาเลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม ผมเชื่อว่าเด็กที่อยู่ในครอบครัวที่อ่อนไหวทางเศรษฐกิจ จะสูญเสียการเรียนรู้มากกว่าตัวเลขประมาณการข้างต้น อันเนื่องมาจากปัญหาความพร้อมทางด้านอุปกรณ์ในการเรียนออนไลน์ โทรศัพท์ หรือแท็บเลต อย่างน้อยก็ต้องขึ้นหลักพันบาท แถมค่าแพ็กเกจอินเทอร์เน็ตอีกเดือนละ 3-4 ร้อยบาท เป็นต้นทุนที่สูงมากสำหรับครอบครัวที่อยู่ในกลุ่มอ่อนไหวทางเศรษฐกิจ เข้าขั้น “ผู้ยากไร้” ที่มีรายได้เฉลี่ยต่อคนต่อเดือนลดลงเหลือแค่พันต้น ๆ ในวิกฤตนี้

เรื่องอุปกรณ์การเรียนออนไลน์นี้เป็นประเด็นที่ดูวูบวาบเป็นข่าวช่วงที่ผ่านมาแล้วก็เงียบหายไป แต่ยิ่งพิจารณาดี ๆ จะเห็นว่า ความไม่พร้อมทางด้านการเงิน อุปกรณ์ ไม่ได้แค่ทำให้นักเรียนกลุ่มอ่อนไหวทางเศรษฐกิจเสียการเรียนรู้ชั่วคราวในอัตราที่สูงกว่ากลุ่มอื่นเท่านั้น แต่เป็นจุดสำคัญที่อาจผลักให้นักเรียนกลุ่มนี้หลุดออกจากระบบการศึกษาแบบถาวร ความเหลื่อมล้ำจะหนักหนาขึ้นไปอีก อันเนื่องมาจากการฟื้นตัวของระบบการศึกษาไทยจะเป็นรูปทรง K-shape คนที่มีโอกาสได้รับการศึกษาเหมาะสมจะยิ่งทิ้งห่างคนที่ไม่มีโอกาสออกไปเรื่อย ๆ ภายหลังวิกฤตคลี่คลาย

เรื่องความเท่าเทียมด้านการศึกษาเป็นเรื่องใหญ่ที่ผมว่าต้องแก้กันหลาย ๆ องค์ประกอบ แต่สิ่งหนึ่งที่ผมเห็นว่าน่าสนใจและเป็นการมองในระยะยาวก็คือ แนวคิดของบางประเทศที่สนับสนุนและส่งเสริมระบบการเลือกเรียน และประเมินผลในด้านวิชาชีพแทนที่จะเน้นวิชาการ ในมุมมองของผู้ว่าจ้างภาคเอกชน เราเห็นกันว่าทักษะของแรงงานในอนาคตอันใกล้นี้จะไม่เหมือนเดิม เนื้องานมีรูปแบบใหม่ที่ทักษะเฉพาะจะมีความสำคัญมากขึ้น การยกระดับหลักสูตร ปวช. ปวส. โพลีเทคนิคต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับโลกยุคใหม่น่าจะเป็นแนวทางที่ผู้เกี่ยวข้องควรพิจารณา

ถ้ามีแผนการยกระดับปฏิรูปการศึกษาภาควิชาชีพดี ๆ ผมเชื่อว่าภาคเอกชนก็ยินดีสนับสนุน และเมื่อภาคเอกชนเข้ามาสนับสนุน ทุนทรัพย์ในการสนับสนุนเด็กและเยาวชนที่ด้อยโอกาสทางการศึกษาก็จะมีมากขึ้นเช่นกัน ฝากไว้คิดกันครับ