คุณหญิงกัลยา ยันอาชีวะเป็นแหล่งป้อนแรงงานคุณภาพสูง

คุณหญิงกัลยา ตอบกระทู้สภายืนยันหนุนอาชีวะ ย้ำเป็นแหล่งป้อนแรงงานคุณภาพสู่ตลาดแรงงาน  เร่งผลักดันนโยบายการศึกษา ปูพรม Coding วิทยาศาสตร์พลังสิบ อาชีวะเกษตรเทคโนโลยี สร้างคน เพิ่มความสามารถทางการแข่งขัน

วันที่ 17 กันยายน 2564 ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ตอบกระทู้ สส.นิยม เวชกามา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สกลนคร พรรคเพื่อไทย ที่รัฐสภาวานนี้ (16 ก.ย.64) ต่อประเด็น เรื่องการจัดตั้งวิทยาลัยอาชีวศึกษาระดับอำเภอ (อำเภอกุสุมาลย์ และอำเภอโพนนาแก้ว) จังหวัดสกลนคร 

โดยคุณหญิงกัลยา กล่าวว่า รัฐบาลสนับสนุนและให้ความสำคัญเรื่องการศึกษาเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอาชีวศึกษา ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงศึกษาได้ขับเคลื่อนนโยบายที่จะพัฒนาและยกระดับอาชีวศึกษาในมิติใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง

สำหรับประเด็นเรื่องการจัดตั้งวิทยาลัยอาชีวศึกษาระดับอำเภอ (อำเภอกุสุมาลย์ และอำเภอโพนนาแก้ว) จังหวัดสกลนคร นั้น อยากเสนอทางเลือกที่จะสามารถทำได้เร็ว และประชาชนจะได้รับประโยชน์ในทันที นั่นคือการจัดตั้งเป็นศูนย์เรียนรู้อบรมวิชาชีพที่ประชาชนในพื้นที่มีความต้องการก่อน อาจจะใช้อาคารของท้องถิ่นหรือโรงเรียนที่มีอาคารว่างมาเป็นศูนย์การเรียนรู้วิชาชีพก่อน ซึ่งถ้ามีอาคารมีสถานที่มีคนที่จะเรียนก็สามารถดำเนินการตั้งศูนย์ฯ ได้เลย โดยมีวิทยาลัยเทคนิคสกลนครเป็นวิทยาลัยแม่ อำนวยความสะดวกในเรื่องการเรียนการสอน และเมื่อศูนย์ฯ พัฒนาไปถึงระดับหนึ่งแล้วก็จะสามารถที่จะยกระดับขึ้นเป็นวิทยาลัยอาชีวศึกษาได้ 

“จังหวัดสกลนครมี 11 อำเภอ มีอาชีวศึกษาจำนวน 24 แห่ง โดยเป็นของรัฐบาล 4 แห่ง ที่เหลือเป็นของเอกชนอีก 20 แห่ง กระจายไปตามอำเภอต่างๆ ซึ่งมีอาชีวศึกษาหลายแห่งที่อยู่ใกล้กับอำเภอกุสุมาลย์ และอำเภอโพนนาแก้ว เพราะฉะนั้นนักเรียนที่จบม.3 ก็สามารถที่จะเดินทางไปเรียนได้สะดวก แต่เมื่อกุสุมาลย์ และโพนนาแก้วมีความประสงค์จะตั้งวิทยาลัยอาชีวศึกษาของตัวเองก็ไม่ได้ขัดข้อง หากเข้าเงื่อนไขที่กำหนดไว้ แต่อยากให้เริ่มจากศูนย์เรียนรู้อบรมวิชาชีพก่อนซึ่งประชาชนจะได้ประโยชน์ในทันที สามารถเริ่มได้เลย และเมื่อพัฒนาไปถึงระดับหนึ่งก็จะสามารถที่จะยกระดับเป็นวิทยาลัยฯ ส่วนผู้ที่ไม่สามารถเดินทางไปเรียนวิทยาลัยได้ ทางกระทรวงศึกษาก็มีนโยบาย  ที่จะช่วยเหลือและอำนวยความสะดวก เช่น การจัดรถตู้ให้หรือให้ค่าเดินทางเป็นกรณีไป”

ดร.คุณหญิงกัลยา กล่าวต่อว่า ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ได้ผลักดันนโยบายการศึกษาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ 2 นโยบายซึ่งเป็นพื้นฐานของการศึกษา รวมทั้งอาชีวศึกษาด้วย นั่นคือ 

1.นโยบาย Coding ซึ่งทุกคนต้องเรียนเป็นภาษาใหม่ที่เด็กทุกคน คนไทยทุกคนจะต้องมีในยุคดิจิทัล คือการสร้างทักษะใหม่ให้กับคนไทยให้สามารถที่จะคิดวิเคราะห์เป็นเหตุเป็นผลเชิงวิทยาศาสตร์ คณิศาสตร์ สามารถแก้ปัญหาเป็นขั้นเป็นตอน กล้าลงมือทำ โดยเฉพาะอาชีวศึกษาซึ่งเป็นการเรียนที่ต้องลงมือทำ จะเพิ่มความสามารถในการเรียนและการทำงานได้ เช่น Coding for ฟาร์ม , Coding for ชาวนา ถือเป็นการปฏิรูปและลดความเหลื่อนล้ำด้านการศึกษาอย่างแท้จริง

2.นโยบายวิทยาศาสตร์พลังสิบ ถือเป็นการเปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของกระทรวงศึกษาธิการ ไม่ว่าระดับไหนให้มีโอกาสเรียนวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมในช่วง 10 ปี งบประมาณเกือบ 1 หมื่นล้านบาท โดยโครงการนี้ได้เริ่มดำเนินการไปแล้ว ปีนี้มีกว่า 200 โรงเรียนที่จะมีครูสอนวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีในรูปแบบใหม่ ลดเนื้อหาวิชาการ และเน้นปฏิบัติมากขึ้นให้กับเด็กชั้นประถมและมัธยมสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้จริง

นอกจากนี้ยังมีเรื่องอาชีวะเกษตร โดยวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีได้ดำเนินการโครงการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ซึ่งขณะนี้เราสามารถที่จะพัฒนาเป็นหลักสูตร “ชลกร” ได้แล้ว โดยมีเป้าหมายที่สำคัญคือ การช่วยเหลือเกษตรกร ให้มีน้ำกิน น้ำใช้ แก้ปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืน โดยเชื่อว่าอาชีวะเกษตรจะสร้างชาติ ด้วยชลกรที่จะเข้ามาเปลี่ยนประเทศไทย

“ดิฉันได้วางรากฐานการศึกษาให้กับคนไทยแล้ว Coding, วิทยาศาสตร์พลังสิบ รวมไปถึงอาชีวะที่ต้องสมาร์ทและอัจฉริยะ ดิฉันเป็นคนอีสาน อยากเห็นเกษตรกรซึ่งเป็นอาชีพหลักและเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศได้รับการพัฒนา วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี เราส่งเสริมจัดการเรียน เช่น  AI, IOT ไปจนถึงโดรน เพื่อให้เกษตรกรมีความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 

เชื่อว่าไม่กี่ปีข้างหน้าเมื่อเรามี Coding มีวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี เต็มพื้นที่แล้ว การเรียนไม่ว่าจะระดับสามัญหรืออาชีวะ จะจบออกมาเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพ สามารถเข้าสู่ตลาดแรงงานทั้งในประเทศและต่างประเทศได้ อยู่ในโลกดิจิทัล ในศตวรรษที่ 21 อย่างมีภูมิคุ้มกัน เพิ่มความสามารถทางการแข่งขันให้กับประเทศได้”