SCB 2018 ทรานส์ฟอร์มภาคใหม่ “อาทิตย์” ชูสูตร “กลับหัวตีลังกา”-

เขย่ากระแสกันแต่ต้นปี ค่ายแบงก์ใหญ่ SCB หรือ “ธนาคารไทยพาณิชย์” เมื่อ “อาทิตย์ นันทวิทยา” กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) SCB ออกมาประกาศทิศทางที่จะเคลื่อนไปข้างหน้าใน 1-3 ปีจากนี้ ผ่านงานแถลงข่าว “2020 SCB VISION” ท่ามกลางผู้ร่วมงานที่มีทั้งพันธมิตร นักลงทุน และสื่อราว 500 ชีวิต

ซีอีโอปรับเปลี่ยนโหมดเดินหน้าแนวทางธุรกิจแบบ “going upside down” หรือเรียกง่าย ๆ ว่า “การกลับหัวตีลังกา” ซึ่งจะทำให้ภาพการดำเนินธุรกิจของแบงก์แตกต่างจากอดีตอย่างสิ้นเชิง ด้วยเหตุผลที่ว่า แหล่งที่มาของรายได้แบบเดิม ๆ กำลังถูก “disruption” จากโลกดิจิทัลแบงกิ้ง กระทบรายได้จากค่าธรรมเนียม (ค่าฟี) ที่มีสัดส่วน 30% ของรายได้รวม ที่มีโอกาสจะ “ลดลง” ในระยะข้างหน้า เมื่อทุกคนเข้าไปอยู่กับเทคโนโลยีบนโมบายมากขึ้น ดังนั้นการอยู่แบบเดิม ๆ คงไม่ได้

“แบงก์ก็ต้องบีบตัวเองเพื่อหาขีดความสามารถใหม่ ๆ ซึ่งเป้าหมายแรกที่ทำก็คือ การลดต้นทุนองค์กร โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยทำงานแทนพนักงานแบงก์ เราต้องพาลูกค้าไปอยู่บนดิจิทัล พบแพลตฟอร์มใหม่ของธนาคาร”

และสิ่งที่จะทำในช่วง 1 ปีนี้ (ปี 2018) คือ 1.ธนาคารจะเข้าไปจับมือกับพาร์ตเนอร์ใหม่ทางธุรกิจ เพื่อเสริมทัพให้แข็งแกร่งขึ้น 2.การสร้างดาต้า โดยนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้ในการปล่อยสินเชื่อรูปแบบใหม่ เช่น สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อเอสเอ็มอี ที่ธนาคารจะนำเอาดาต้ามาใช้วิเคราะห์ให้การปล่อยสินเชื่อตรงจุดตรงเป้าหมาย และลดความเสี่ยงจากการปล่อยสินเชื่อได้

อีกการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในปีนี้ คือ รูปแบบสาขาของธนาคาร จะไปสู่รูปแบบ “ศูนย์ให้บริการด้านธุรกิจ” หรือบิสซิเนสเซ็นเตอร์ และอินเวสต์เมนต์เซ็นเตอร์ (ศูนย์บริการด้านการลงทุน) เข้ามาแทนที่รูปแบบสาขาเดิม ๆ เพื่อรองรับการให้บริการต่าง ๆ แก่เอสเอ็มอี รวมถึงกลุ่มลูกค้ามั่งคั่งมากขึ้น

โดยปีนี้จะเป็นปีแรกของแผนดำเนินการระยะยาว 3 ปี (ปี 2018-2020) ที่จะเริ่มเห็นการปรับลดทั้ง “สาขาและพนักงาน” ลงต่อเนื่อง โดยคาดว่าปี 2020 จะเหลือสาขาประมาณ 400 สาขา จากปัจจุบันที่มี 1,153 สาขา ขณะที่พนักงานแบงก์จะเหลือ 15,000 คน จาก 27,000 คน ซึ่งซีอีโอยืนยันว่า ไม่ใช่ “การปลดพนักงาน” เพราะแต่ละปีมีพนักงานธนาคารลาออกเกือบ 3 พันคนต่อปีอยู่แล้ว ดังนั้นจึงเป็นทยอยลดลง ท่ามกลางภาวะที่ลูกค้าจะหันไปใช้บริการบนโมบายแบงกิ้งมากขึ้น

“เราไม่ต้องเลย์ออฟ (ปลดคน) ขนานใหญ่ เพราะวันนี้แต่ละสาขามีพนักงาน 10-12 คน แต่ในอนาคตจะปรับเป็นสาขาที่ใช้คนน้อยลงกว่าครึ่ง โดยสาขาก็จะอยู่ในรูปแบบเป็นศูนย์ธุรกิจ พนักงานจะไม่อยู่ในรูปแบบคนทำงาน แต่จะเป็นแมเนเจอร์ และจะช่วยลูกค้าเอสเอ็มอีให้เก่งขึ้น พนักงานจะมาช่วยดูแลลูกค้า สิ่งเหล่านั้นจะเข้ามาแทนที่ ไม่ใช่ว่า ธงของเรา จะต้องปิด (สาขา) ต้องลด (พนักงาน)” นายอาทิตย์กล่าว

ทั้งนี้ ในปีนี้จะเห็นการเพิ่มสาขาเฉพาะทางมากขึ้น ได้แก่ การเปิดศูนย์บริการด้านการลงทุน 60 จุด และศูนย์บริการด้านธุรกิจ) 25 จุด และ express (จุดให้บริการเร่งด่วน) 100 จุด

การวัดความสำเร็จของการเปลี่ยนครั้งใหญ่ของ SCB ครั้งนี้ คือ ซีอีโอหนุ่ม “อาทิตย์” ประกาศในงานแถลงนี้ว่า ตนจะขอเอาตำแหน่งเป็น “เดิมพัน” หากว่าแบงก์ไม่สามารถพาตัวเองไปสู่ขีดความสามารถใหม่ ๆ หรือปรับเปลี่ยนไปสู่เป้าหมายระยะสั้น 1 ปีนี้ได้

“หากไม่บีบตัวเอง ไม่เปลี่ยนตัวเองให้ไปสู่ขีดความสามารถใหม่ ๆ เราก็จะได้แต่นั่งรอให้เรื่องเหล่านี้เกิดขึ้น ดังนั้นหากปีนี้ไม่สำเร็จตามที่วางไว้ ซีอีโอก็คงไล่ตัวเองออก ไม่ได้พูดเล่น ๆ แต่ผมได้พูดกับฝ่ายจัดการแล้วว่า ไม่มีใครไล่ผมออก นอกจากผมจะพาตัวผมออกไปเอง หากไทยพาณิชย์เปลี่ยนไม่ได้ในปีนี้ ตามเป้าหมายที่วางไว้ ฝ่ายจัดการทุกคนต้องนั่งถามตัวเองว่า เราเป็นอุปสรรค เป็นปัญหาองค์กรหรือเปล่า ดังนั้นหากรู้สึกว่าคณะนี้ไม่สามารถพาองค์กรไปข้างหน้าได้ ผมจะพาตัวเองออกคนแรกเลย” นี่คือคำพูดจาก “อาทิตย์”

พร้อมกับทิ้งท้ายว่า ภายใน 3 ปีนี้ สิ่งที่ธนาคารกำลังจะไป คือ แม้จะไม่มุ่งเน้นการเติบโตในหลาย area ที่มีการแข่งขันรุนแรงเกินไป แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า เราจะเลิกธุรกิจนั้น เช่น สินเชื่อบ้าน จะไม่เน้นการโตหรือว่าโตเท่าตลาด ส่วนรายได้ใหม่ที่จะเข้ามาแทนที่ ก็คงเป็นสินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อเอสเอ็มอีขนาดเล็ก ที่ธนาคารจะรุก “มากขึ้น”

ขณะที่ “ธนา เธียรอัจฉริยะ” รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส chief marketing officer ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า การปรับตัวของธนาคารจะมุ่งไปที่การใช้ฐานข้อมูล เพื่อวิเคราะห์และเข้าถึงตัวลูกค้ามากขึ้น นอกจากจะใช้ฐานข้อมูลภายในแล้ว ธนาคารก็ยังต้องร่วมมือกับพันธมิตร เช่น ผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือ ร้านค้า ฯลฯ เพื่อให้ได้ฐานข้อมูลลูกค้าในหลายมิติ โดยในปีนี้ธนาคารจะเพิ่มบริการใหม่ ๆ อีกหลายด้าน ทั้ง QR code และการขอสินเชื่อบนมือถือ และจะมีพัฒนาต่อเนื่องอีก ตอนนี้ต้องยอมรับว่าการทำธุรกรรมบนดิจิทัลจะมีต้นทุนที่ต่ำกว่าสาขามาก เช่น เครื่องหรือตู้ให้บริการที่ตั้งในสาขา มีต้นทุน 1 บาทต่อธุรกรรม แต่ถ้าเป็นถ้าทำผ่านเคาน์เตอร์ปกติจะ 50 บาทต่อธุรกรรม ดังนั้นช่องทางดิจิทัลจะกลายเป็นเรื่องหลักของธนาคารอีกด้วย

“ตอนนี้ข้อมูลสำคัญมาก เพราะยิ่งมีฐานข้อมูลขนาดใหญ่ เรายิ่งรู้จักลูกค้ามากขึ้น อย่างที่เมืองจีน เขาปล่อยเงินกู้จากข้อมูลแล้ว (information based lending) ไม่ใช่การปล่อยสินเชื่อตามสินทรัพย์เหมือนปัจจุบัน ซึ่งถ้าแบงก์อย่างเรามีฐานข้อมูลลูกค้ามากขึ้นก็จะสามารถปล่อยสินเชื่อได้แม่นยำ มีอัตราดอกเบี้ยที่ถูกลงให้คนที่มีพฤติกรรมดี แบงก์ก็มีข้อดีที่เอ็นพีแอล (หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้) จะน้อย ซึ่งทั้งเทคโนโลยีและรูปแบบภายนอกแบงก์มีเยอะแล้ว เหลือแต่เราจะเอามาปรับใช้อย่างไร” นายธนากล่าว

พลังบวกของผู้บริหาร SCB จะนำ SCB ไปสู่การเปลี่ยนแปลงแค่ไหน คงต้องตามดูเป็นระลอก ๆ

ติดตามข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ค ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat

สามารถดาวน์โหลด ประชาชาติธุรกิจ ฉบับ e-Newspaper
หรือ e-Book ได้ที่แอปพลิเคชั่น Ookbee เลือก “ประชาชาติ”