“เวนิส” กับการลงทุน-

คอลัมน์ จัตุรัสนักลงทุน

โดย เฉลิมเดช ลีวงศ์เจริญ

“เวนิส” เป็นเมืองท่าตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศอิตาลี อยู่บนเกาะติดกับทะเล Adriatic เคยเป็นเมืองที่รุ่งเรืองมาก มีสถาปัตยกรรมที่สวยงาม เป็นหนึ่งในเมืองที่มีความมั่งคั่งอันดับต้น ๆ ของโลก ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 12-14 ในยุคนั้นการค้าขายตามเส้นทางสายไหม สินค้ามีค่าจากดินแดนตะวันออกอย่างเช่น ผ้าไหม เครื่องเทศ จะถูกค้าขายเปลี่ยนมือมาเป็นทอด ๆ จนถึงดินแดนในแถบประเทศตุรกีในปัจจุบัน จากนั้นสินค้าดังกล่าวมักจะถูกขนส่งลงเรือมาขึ้นฝั่งที่เวนิส ซึ่งเวนิสขณะนั้นเป็นศูนย์กลางการกระจายสินค้าจากตะวันออกไปสู่ดินแดนต่าง ๆ ในทวีปยุโรป ส่งผลให้เวนิสได้ชื่อว่าเป็น “gateway to the orient” การเป็นศูนย์กลางทางการค้าติดต่อกับโลกตะวันออก ทำให้เวนิสร่ำรวยมหาศาล มีอำนาจ มีความทันสมัย เป็นรัฐขนาดเล็กที่สามารถดำรงความเป็นอิสระได้ต่อเนื่องยาวนานหลายร้อยปี

จุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้เวนิสค่อย ๆ สูญเสียความสามารถในการแข่งขันอย่างช้า ๆ เกิดขึ้นเมื่อ Vasco da Gama สามารถเดินเรือจากโปรตุเกสผ่านแหลม Good Hope ที่อยู่ใต้สุดของทวีปแอฟริกา ไปขึ้นฝั่งที่บอม
เบย์ ประเทศอินเดีย ได้สำเร็จในปี ค.ศ. 1497

การค้าตามเส้นทางสายไหมทางบกเดิมจึงค่อย ๆ ถูกลดบทบาทความสำคัญลง จากคู่แข่งทางเรือที่มีต้นทุนในการขนสินค้าต่ำกว่ามาก ไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลางหลายราย ชาวยุโรปตะวันตกสามารถเดินทางทางเรือเพื่อไปค้าขายกับดินแดนทางตะวันออกได้โดยตรง โดยพ่อค้าชาวโปรตุเกสสามารถเดินทางไปค้าขายได้ไกลถึงประเทศญี่ปุ่น ความมั่งคั่งของเวนิสจึงค่อย ๆ ลดลง ขณะที่เมืองเล็ก ๆ อย่างลิสบอน กลับมีความมั่งคั่งขึ้นมาอย่างรวดเร็ว ว่ากันว่า การขนสินค้ามีค่าเต็มลำเรือจากตะวันออกสามารถสร้างกำไรให้พ่อค้าชาวโปรตุเกสได้ถึง 10 เท่า จนในที่สุดในปี ค.ศ. 1797 เวนิสต้องสูญเสียเอกราช และอยู่ภายใต้การปกครองของอาณาจักรออสเตรีย

ความรุ่งเรืองและจุดจบของเวนิสให้ข้อคิดหลายอย่างหากนำไปใช้กับการลงทุน

ข้อแรก ความมั่งคั่ง หรือการได้ผลตอบแทนแบบ “สูงผิดปกติ” จะเกิดขึ้นได้ในสภาวะที่มีการแข่งขันแบบไม่สมบูรณ์การที่เวนิสเป็นที่รวบรวมสินค้าจากตะวันออก ก่อนส่งต่อไปทั่วทวีปยุโรป ทำให้เวนิสมีอำนาจผูกขาด สร้างความมั่งคั่งอย่างมหาศาล ในขณะที่ผู้บริโภคในยุโรปต้องซื้อผ้าไหม เครื่องเทศในราคาที่สูงกว่าต้นทุนหลายสิบหลายร้อยเท่า

ข้อสอง ความสามารถในการแข่งขันของเวนิสไม่ได้ถูกทำลายลงจากคู่แข่งจากรัฐใกล้เคียงอย่างเจนัว ที่พยายามแย่งส่วนแบ่งทางการตลาด แต่เกิดจากรัฐเล็ก ๆ อย่างโปรตุเกส ที่สามารถค้นพบวิธีการใหม่ ๆ ในการขนสินค้าจากโลกตะวันออกผ่านการเดินเรือ

ดังนั้นในฐานะนักลงทุน เราต้องพิจารณาทำความเข้าใจกับสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัว รวมถึงกระแสการเปลี่ยนแปลง เพื่อที่ว่าเราจะได้สังเกตเห็นแนวโน้ม และมองเห็นโอกาสในการลงทุน

สุดท้าย เราอยู่ในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ แนวคิดการลงทุนแบบเน้นคุณค่าเองก็คงต้องมีวิวัฒนาการปรับเปลี่ยนให้ทันยุคสมัย จากสมัย Benjamin Graham ที่เน้นซื้อหุ้นราคาต่ำไว้ก่อน จนถึงยุคของ Warren Buffett และ Charlie Munger ที่เน้นลงทุนในกิจการที่มีคุณภาพสูง มีความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืน โดยยอมจ่ายในราคาที่สมเหตุสมผล

ปัจจุบันเราอยู่ในยุคที่เทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดด ทำให้ความสามารถในการแข่งขันแบบเดิม ๆ เริ่มโดน disrupted โดยเทคโนโลยีแบบใหม่ ๆ บางทีการลงทุนจากนี้ไปอาจต้องให้น้ำหนักในธุรกิจที่เป็นเจ้าของ platform แห่งอนาคต

เพราะโลกอนาคตดูเหมือนว่าหลาย ๆ ธุรกิจจะเป็นลักษณะ winner takes all หรือ winner takes most สังเกตได้จาก Warren Buffett เองที่เริ่มหันมาลงทุนใน Apple หรือแม้แต่บริษัทให้บริการด้าน payment ในอินเดีย ทำให้บริษัทที่เป็นผู้ชนะ เป็นเจ้าของ platform มีแนวโน้มที่จะเติบโตได้อย่างต่อเนื่องยาวนาน ในขณะที่บริษัทส่วนใหญ่อาจจะล้มหายตายจากก็เป็นได้

happy investing

รับข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ก ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ อย่าลืมกดติดตาม
และกดปุ่ม See first (เห็นโพสต์ก่อน)
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat

ติดตามอ่านข่าวสารจากประชาชาติออนไลน์ ทันสมัย-ทันใจ
ดาวน์โหลดผ่านแอปพลิเคชั่น >> Prachachat << ได้แล้ววันนี้
ทั้งระบบ ios และ android

อ่านประชาชาติธุรกิจ ทั้งฉบับผ่าน e-Newspaper
ได้ที่แอปพลิเคชั่น Ookbee เลือก “ประชาชาติ”