ดอลลาร์อ่อนค่า หลัง รมว.การคลังอังกฤษยกเลิกมาตรการลดภาษี

ภาพ : pixabay

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าหลัง รมว.การคลังอังกฤษยกเลิกมาตรการลดภาษีที่ประกาศออกมาก่อนหน้า ขณะที่ให้น้ำหนัก 96% ที่เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ย ร้อยละ 0.75 ในการประชุมครั้งหน้านี้

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 18 ตุลาคม 2565 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (18/10) ที่ระดับ 38.08/09 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (17/10) ที่ระดับ 38.22/24 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อคืนนี้หลังเงินปอนด์แข็งค่าขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยนายเจเรมี ฮันท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอังกฤษคนใหม่ได้ประกาศยกเลิกมาตรการปรับลดภาษีที่ได้มีการประกาศออกมาเมื่อปลายเดือนกันยายน และส่งผลให้เกิดความกังวลและความผันผวนในตลาดการเงินในช่วงก่อนหน้านี้ ซึ่งนายเจเรมี ฮันท์ แถลงการณ์ว่าทางรัฐบาลอังกฤษได้ให้ความสำคัญกับการเร่งฟื้นฟูความเชื่อมั่นและเสถียรภาพของตลาดก่อนที่จะแสวงหาการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ

นอกจากนี้เมื่อคืนที่ผ่านมามีรายงานดัชนีการผลิตรัฐนิวยอร์ก ซึ่งรวบรวมข้อมูลจากการสำรวจผู้ผลิตประมาณ 200 คนในรัฐนิวยอร์ก ในเดือนตุลาคม อยู่ที่ระดับ -9.10 ต่ำกว่าการคาดการณ์ที่ระดับ -4.00 และเดือนก่อนหน้าที่ระดับ -1.50 เป็นสัญญาณบ่งชี้ภาวะทั่วไปของธุรกิจในรัฐนิวยอร์กปรับตัวแย่ลง

โดยดัชนีดอลลาร์สหรัฐซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุล ในตะกร้าเงิน ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 111.90 อีกทั้งนักลงทุนปรับลดคาดการณ์การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเฟดในการประชุมเดือนพฤศจิกายนลงเล็กน้อย โดยยังให้น้ำหนัก 96% ที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ร้อยละ 0.75 และให้น้ำหนัก 4% ที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ร้อยละ 0.50

Advertisment

ทั้งนี้นักลงทุนยังคงจับตาดูตัวเลขทางเศรษฐกิจสหรัฐ และถ้อยแถลงของสมาชิกเฟดเพื่อหาสัญญาณบ่งชี้เกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเฟดในการประชุมเดือนพฤศจิกยนต่อไป

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ มีรายงานถึงถ้อยแถลงของ นายสุรัช แทนบุญ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย ว่าทิศทางนโยบายการเงินในช่วงต่อไปจะเป็นการทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป อย่างไรก็ดี ธนาคารแห่งประเทศไทยพร้อมปรับไปตามสถานการณ์ทางศรษฐกิจ เงินฟ้อ และปัจจัยต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

โดยหากเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวดีกว่าคาดการณ์ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอาจสูงกว่าร้อยละ 0.5 หรือหากเศรษฐกิจชะลอตัวกว่าที่คาดการณ์ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอาจถูกหยุดชั่วคราวหรือลดอัตราการปรับขึ้นดอกเบี้ย ทั้งนี้ ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 37.94-38.16 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 38.08/09 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (18/10) ที่ระดับ 0.9831/35 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (17/10) ที่ระดับ 0.9750/52 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร จากการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้วันนี้มีรายงานตัวเลขความเชื่อมั่้นทางเศรษฐกิจยูโรโซน จากสถาบัน ZEW เดือนตุลาคมอยู่ที่ระดับ -59.7 สูงกว่าคาดการณ์ที่ระดับ -61.2 และสูงกว่าเดือนก่อนหน้าที่ระดับ -60.7 และตัวเลขความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจเยอรมัน จากสถาบัน ZEW เดือนตุลาคม อยู่ที่ระดับ -59.7 และสูงกว่าเดือนก่อนหน้าที่ระดับ -61.9

Advertisment

ซึ่งตัวเลขดังกล่าวบ่งชี้ถึงมุมมองต่อสภาวะเศรษฐกิจในยูโรโซนที่ดีกว่าคาดการณ์ แม้ว่าจะยังคงเป็นมุมมองในด้านลบอยู่ก็ตาม ทั้งนี้ ระหว่างวันค่าเงินยูโร เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 0.9823-0.9873 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 0.9850/54 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (18/10) ที่ระดับ 148.84/85 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (17/10) ที่ระดับ 148.67/69 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนยังคงถูกกดดันจากแนวทางการคงนโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำพิเศษต่อไป ส่งผลให้ส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างสหรัฐและญี่ปุ่นสูงต่อไป ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 148.14-149.29 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 148.98/99 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญสัปดาห์นี้ ได้แก่ การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนกันยายน (18/10), รายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจ หรือ Beige Book จากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) (19/10), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (20/10), ดัชนีการผลิตเดือนตุลาคมจากเฟดฟิลาเดลเฟีย (20/10), ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจเดือนกันยายนจากคอนเฟอเรนซ์บอร์ด (Conference Board) (20/10)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -6.5/-6 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราปัองกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -6.5/-5.5 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ