ค่าเงินบาทแข็งค่า ก่อนผลการประชุมเฟด

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 31 มกราคม 2561 ค่าเงินบาทเปิดตลาดที่ระดับ 31.40/42 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ใกล้เคียงจากระดับปิดตลาดในวันอังคาร (30/1) ที่ระดับ 31.41/43 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้เริ่มแถลงนโยบายประจำปี (State of the Union) ต่อสภาคองเกรสในช่วงเช้าวันนี้ (31/1) โดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวถึงหนึ่งในผลงานที่ประสบความสำเร็จนับตั้งแต่ที่ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง คือการสร้างงานใหม่ 2.4 ล้านตำแหน่ง ขณะที่จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานลดลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 45 ปี พร้อมยังกล่าวอีกว่า ความเชื่อมั่นของกลุ่มธุรกิจขนาดเล็กในสหรัฐ ปรับตัวเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ พร้อมกล่าวว่า มาตรการปรับลดภาษีขนาดใหญ่ของรัฐบาล ได้ช่วยฟื้นฟูภาคเอกชนให้แข็งแกร่งขึ้นอย่างมาก และส่งผลให้ค่าแรงปรับตัวสูงขึ้นในที่สุด นอกจากนี้ทางรัฐบาลสหรัฐมีเป้าหมายที่จะลงทุนในการพัฒนาและฝึกฝนบุคลากร และประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ยังได้เรียกร้องให้มีการใช้จ่ายในด้านโครงสร้างพื้นฐาน เป็นวงเงินอย่างน้อย 1.5 ล้านล้านดอลลาร์

ส่วนความเคลื่อนไหวภายในประเทศ นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) (30/1) มีมติรับทราบการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามมติคณะกรรมการค่าจ้าง โดยในเอกสารการประชุมระบุว่าจะมีการปรับขึ้น 5-22 บาทต่อวัน ในทุกจังหวัดมาที่ 308-330 บาท เริ่มมีผลตั้งแต่ 1 เมษายน 2561 พร้อมทั้งมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงอุตสาหกรรม ดำเนินการตามมาตรการเพื่อลดผลกระทบจากการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำต่อไป นอกจากนี้ น.ส.วชิรา อารมย์ดี กล่าวว่า ธปท.จะยังคงติดตามและตรวจสอบการทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศอย่างใกล้ชิด รวมถึงพร้อมทบทวนมาตรการเพิ่มเติมเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการติดตามเงินทุนเคลื่อนย้ายต่อไป ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 31.31-31.41 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนจะปิดตลาดที่ระดับ 31.32/33 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับค่าเงินยูโรวันนี้ (31/1) เปิดตลาดที่ระดับ 1.12418/20 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดในวันอังคาร (30/1) ที่ระดับ 1.2386/88 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติยุโรป (ยูโรสแตท) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจยูโรโซนมีการขยายตัว 2.5% ในปีที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ที่มีการขยายตัว 3.0% ในปี 2550 ทั้งนี้ยูโรสแตทยังระบุว่าเศรษฐกิจยูโรโซนมีการขยายตัว 0.6% ในไตรมาส 4 ของปีที่แล้ว เมื่อเทียบรายไตรมาส และสอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ อย่างไรก็ตาม คณะกรรมาธิการยุโรป เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจในยูโรโซนปรับตัวลดลง สู่ระดับ 114.7 ในเดือนมกราคม จากระดับ 115.1 ในเดือนธันวาคม ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 17 ปี โดยคณะกรรมาธิการยุโรป ระบุว่า ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจในเดือนมกราคม ที่ชะลอตัวลง มีสาเหตุจากความเชื่อมั่นในภาคค้าปลีก และภาคบริการที่ปรับตัวลง อย่างไรก็ดี ความเชื่อมั่นในภาคอุตสาหกรรมยังคงทรงตัวที่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ทำไว้ในเดือนธันวาคม ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 1.2403-1.2457 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 1.2445/47 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

ในส่วนของค่าเงินเยนวันนี้ (31/1) เปิดตลาดที่ระดับ 108.94/96 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดในวันอังคาร (30/1) ที่ระดับ 108.65/66 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมญี่ปุ่นเปิดเผยในรายงานเบื้องต้นว่า การผลิตภาคอุตสาหกรรมประจำเดือนธันวาคม ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.7% จากเดือนก่อนหน้า โดยได้ปัจจัยหนุนจากความแข็งแกร่งของการผลิตอุปกรณ์ด้านการขนส่ง ทั้งนี้ กระทรวงได้คงระดับการประเมินการผลิตภาคอุตสาหกรรม โดยระบุว่า การผลิตภาคอุตสาหกรรม เริ่มส่งสัญญาณดีขึ้น ส่วนแนวโน้มการผลิตภาคอุตสาหกรรมในอีกสองเดือนข้างหน้านั้น ผลสำรวจบ่งชี้ว่า กลุ่มผู้ผลิตของญี่ปุ่นคาดการณ์ว่า การผลิตภาคอุตสาหกรรมจะปรับตัวลดลง 4.3% ในเดือนมกราคม ก่อนที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้น 5.7% ในเดือนกุมภาพันธ์ ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 108.63-109.09 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 108.74/76 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลทางเศรษฐกิจของสหรัฐที่สำคัญที่ต้องจับตาดูในสัปดาห์นี้ ได้แก่ อัตราว่างงานอียู เดือนธันวาคม (31/1) ตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนสหรัฐ เดือนมกราคม (31/1) ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้ออียู ภาคการผลิตเดือนมกราคม (1/2) จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์สหรัฐ (1/2) ตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรสหรัฐ เดือนมกราคม (2/2) ดัชนีราคาผู้ผลิตอียู เดือนธันวาคม (2/2)

Advertisment

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -2.1/-1.7 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศ อยู่ที่ -2.25/-3.00 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ

ติดตามข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ค ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat

สามารถดาวน์โหลด ประชาชาติธุรกิจ ฉบับ e-Newspaper
หรือ e-Book ได้ที่แอปพลิเคชั่น Ookbee เลือก “ประชาชาติ”

Advertisment