ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าในกรอบจำกัด ขณะยอดค้าปลีกดีเกินคาด

ภาพ : pixabay

ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าในกรอบจำกัด ขณะยอดค้าปลีกประจำเดือนตุลาคมปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.3% จากเดือนก่อนหน้าและสูงกว่าที่มีการคาดการณ์

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 17 พฤศจิกายน 2565

ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (17/11) ที่ระดับ 35.82/83 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (16/11) ที่ระดับ 35.65/67 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ตามการฟื้นตัวของดอลลาร์สหรัฐ โดยนักลงทุนกลับมาถือครองดอลลาร์สหรัฐในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยจากความกังวลเกี่ยวกับความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์ หลังจากที่รัสเซียมีการยิงขีปนาวุธไปตกในพื้นที่ของประเทศโปแลนด์ ซึ่งเป็นประเทศสมาชิกขององค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต)

อย่างไรก็ตามนายเยนส์ สโตลเทนเบิร์ก เลขาธิการองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต) กล่าวว่า มีความเป็นไปได้ที่ขีปนาวุธที่มีการยิงตกใส่ชายแดนโปแลนด์ อาจเป็นขีปนาวุธของระบบป้องกันภัยทางอากาศของยูเครน จึงทำให้ตลาดเริ่มผ่อนคลายความตึงเครียดลง นอกจากนี้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐยังได้รับแรงหนุนหลังตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่มีการเปิดเผยในคืนวานนี้ (16/11)

ได้แก่ ยอดค้าปลีกประจำเดือนตุลาคม ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.3% จากเดือนก่อนหน้าและสูงกว่าที่มีการคาดการณ์ที่ระดับ 1.0% โดยตัวเลขดังกล่าวได้รับแรงสนับสนุนจากการปรับตัวสูงขึ้นของยอดขายรถยนต์และราคาน้ำมันเบนซินซึ่งช่วยเพิ่มยอดขายของสถานีบริการน้ำมัน สำหรับยอดค้าปลีกพื้นฐานไม่รวมยอดขายรถยนต์ น้ำมัน วัสดุก่อสร้าง และอาหาร ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.7% สูงกว่าเดือนก่อนหน้าที่ 0.6%

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกไม่ได้กระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอย่างมีนัยสำคัญ โดยเศรษฐกิจไทยยังคงได้รับแรงสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคในประเทศ

นอกจากนี้ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3/2565 จะขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่าระดับ 3% โดยเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 2/2565 และไตรมาส 3/2565 2.5% และ 2.2% ตามลำดับ ซึ่งสอดคล้องกับประมาณการของ ธปท.ที่คาดว่าเศรษฐกิจปี 2565 จะขยายตัวได้ 3.3% ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 35.70-35.91 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 36.76/78 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (17/11) ที่ระดับ 1.0422/26 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวาน (15/11) ที่ระดับ 1.0394/96 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ตามการแข็งค่าของดอลลาร์ สำหรับปัจจัยในภูมิภาค สำนักงานสถิติแห่งชาติอังกฤษ (ONS) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) หรือมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อของอังกฤษ ประจำเดือนตุลาคมเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 11.1% โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นสุดในรอบ 41 ปีเมื่อเทียบรายปี

สาเหตุยังคงมาจากแรงกดดันในเรื่องของราคาอาหารและพลังงานที่อยู่ในระดับสูงทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0361-1.0406 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0381/85 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (17/11) ที่ระดับ 139.43/44 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (16/11) ที่ระดับ 139.31/36 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ล่าสุดกระทรวงการคลังญี่ปุ่นเปิดเผยว่า ยอดส่งออกประจำเดือนตุลาคมของญี่ปุ่นปรับตัวเพิ่มขึ้น 25.3% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 20 โดยได้รับแรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของยอดส่งออกรถยนต์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ในส่วนของยอดนำเข้าปรับตัวสูงขึ้น 53.5% จากการนำเข้าน้ำมันดิบ, ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติเหลว ส่งผลให้ยอดขาดดุลการค้าประจำเดือนตุลาคมอยู่ที่ระดับ 2.16 ล้านล้านเยน (1.55 หมื่นล้านดอลลาร์) ถือว่าเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์และขาดดุลการค้าต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 15

โดยสำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า การขาดดุลการค้าติดต่อกันเป็นเวลานาน สะท้อนว่าญี่ปุ่นยังคงฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ไม่ดีนัก โดยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 3 ของญี่ปุ่นหดตัวลง 1.2% ซึ่งสวนทางกับการคาดการณ์ของตลาด โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการอ่อนค่าของเงินเยน ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 138.89-139.80 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 139.47/48 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคของโซนยูโร (17/11), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐ (17/11), ดัชนีการผลิตเดือนพศจิกายนจากเฟดฟิลาเดลเฟียของสหรัฐ (17/11), ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจเดือนตุลาคมจาก Conference Board ของสหรัฐ (18/11)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -8.50/-8.00 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -10.00/-7.20 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ