แบงก์ลุยไฟแนนซ์ ESG ปรับพอร์ตสู่กรีน

สินเชื่อสิ่งแวดล้อม

แบงก์ตบเท้าปล่อยกู้เพื่อสิ่งแวดล้อม-ล้อกระแส ESG “ทีทีบี” กางแผนส่งเสริม 7 หมวดหมู่ ตีกรอบสินเชื่อต้องห้าม ขณะที่ “ทิสโก้-กรุงศรีฯ” เดินหน้าขยายพอร์ตกรีนไฟแนนซ์ต่อเนื่อง ฟาก “EXIM BANK” ตั้งเป้า 3 ปี พอร์ตสินเชื่อสีเขียวต้องเป็น 50%

นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทีเอ็มบีธนชาต (ttb) กล่าวว่า ปี 2566 นี้ ธนาคารมุ่งส่งเสริมการให้สินเชื่อสีเขียว 7 หมวดหมู่ด้วยกัน ได้แก่ พลังงานหมุนเวียน การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ, การจัดการน้ำและน้ำเสียอย่างยั่งยืน, การป้องกันมลพิษและการจัดการของเสีย, การขนส่งที่ใช้พลังงานสะอาด, อาคารสีเขียว

และการจัดการแหล่งและทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน โดยในปี 2565 ที่ผ่านมา ธนาคารมีสินเชื่อปล่อยใหม่ที่เป็นสินเชื่อสีเขียว (green loan) 13,110 ล้านบาท จากเป้าหมายที่ตั้งไว้เพียง 4,500 ล้านบาท

“ทีทีบีมุ่งเน้น 3 ด้าน ได้แก่ จัดการผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมภายในองค์กร ส่งเสริมการให้สินเชื่อสีเขียว จัดการความเสี่ยงด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งมีการกำหนดรายชื่อสินเชื่อต้องห้ามโดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง

เช่น โรงไฟฟ้าถ่านหิน เหมืองถ่านหิน การขุดเจาะน้ำมันทราย งดการให้สินเชื่อโรงไฟฟ้าถ่านหิน เหมืองถ่านหิน และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับถ่านหิน ตั้งแต่ปี 2563 และลดสินเชื่อดังกล่าวจากพอร์ตสินเชื่อให้เป็นศูนย์ภายในปี 2571”

ปิติ ตัณฑเกษม
ปิติ ตัณฑเกษม

นายศักดิ์ชัย พีชะพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มทิสโก้ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในปี 2566 นี้ ธนาคารมีแผนการสนับสนุนสินเชื่อสีเขียว (ESG) ต่อเนื่อง ทั้งสินเชื่อพลังงานหมุนเวียน และพลังงานสะอาด โดยปัจจุบันสัดส่วนพอร์ตสินเชื่อสีเขียวของธนาคารอยู่ที่ 20% หรือกว่า 1 หมื่นล้านบาท จากยอดสินเชื่อคงค้างลูกค้ารายใหญ่ที่มีอยู่ประมาณ 4 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ ภายใต้การจัดกลุ่มตาม taxonomy ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เบื้องต้นยังไม่ได้มีผลกระทบต่อพอร์ตสินเชื่อของธนาคาร

นายประกอบ เพียรเจริญ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่และวาณิชธนกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า ธนาคารวางเป้าหมาย ภายในปี 2573 จะปล่อยสินเชื่อทางด้านความยั่งยืนอยู่ที่ราว 5 หมื่นล้านบาท ถึง 1 แสนล้านบาท

โดยแผนในปี 2566 ธนาคารยังเดินหน้าสนับสนุนเกี่ยวเนื่องกับธุรกิจสีเขียว ทั้งการระดมทุนผ่านการออกกรีนบอนด์ การให้สินเชื่อรถยนต์ไฟฟ้า (EV) แก่ลูกค้ารายย่อย ซึ่งเกณฑ์ปล่อยสินเชื่อจะพิจารณาด้านความเสี่ยงควบคู่ ESG โดยจะมีอุตสาหกรรมที่เป็น standard เพื่อให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ taxonomy ธปท.

“ในปี 2565 เราสนับสนุนวงเงินด้าน ESG ทั้งออกหุ้นกู้และสินเชื่อกว่า 3.04 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ที่อยู่ที่ 1.63 หมื่นล้านบาท ส่วนปี 2566 เราตั้งเป้าช่วยลูกค้าปรับวงเงินธรรมดาเป็น ESG มากขึ้น แต่ไม่สามารถบอกเป้าหมายได้ เราก็อยากให้โตเร็ว แต่จะเร็วและแรงแค่ไหนก็ประเมินอีกที เพราะตอนนี้ต่างประเทศทำก็ไม่ง่าย”

ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) กล่าวว่า ธนาคารได้เข้าไปพูดคุยกับลูกค้ากลุ่มสีน้ำตาล เช่น ขนส่ง หรือเกษตร เพื่อให้ทยอยปรับตัว หากทำได้จะมีแรงจูงใจ เช่น ลดอัตราดอกเบี้ยให้พิเศษ 0.25% ซึ่งการเติมเงินใหม่จะเน้นเป็นสีเขียวมากขึ้น รวมถึงการออกกรีนบอนด์เพื่อคนตัวเล็ก

ทั้งนี้ ธนาคารตั้งเป้าภายใน 3 ปี ตั้งแต่ปี 2566-2568 พอร์ตสินเชื่อคงค้างทั้งหมดจะต้องปรับเป็นสีเขียวประมาณ 50% โดยปัจจุบันธนาคารมีสัดส่วนพอร์ตสินเชื่อที่เป็นกลุ่มสีน้ำตาล หรือไม่กรีน ประมาณ 60-70% และพอร์ตสีเขียวราว 30% หรือราว 4.7 หมื่นล้านบาท จากยอดสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 1.68 แสนล้านบาท

คาดว่าภายในปี 2568 ยอดสินเชื่อคงค้างจะแตะอยู่ที่ 2 แสนล้านบาท ส่งผลให้พอร์ตสีเขียวจะเพิ่มเป็น 1 แสนล้านบาท

“วิธีการ เราจะทยอยทำและทำควบคู่กันระหว่างลูกค้าเก่าและลูกค้าใหม่ โดยลูกค้าที่มีความเสี่ยง หรือสีน้ำตาลเราคงไม่ได้ปล่อยลดลง แต่เราหาน้ำใหม่ที่เป็นสีเขียวเข้ามาเพิ่ม ทำให้พอร์ต 3 ปีจะต้องเป็นสีเขียวครึ่งหนึ่ง” ดร.รักษ์กล่าว