สินเชื่อเพื่อสิ่งแวดล้อม

ธรรมชาติ-สิ่งแวดล้อม
(File Photo by CHAIDEER MAHYUDDIN / AFP)
คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ

สาโรจน์ มณีรัตน์

ไม่นานผ่านมาเราเคยได้ยินข่าวเกี่ยวกับบริษัทต่าง ๆ หันมาให้ความสำคัญต่อเรื่องสิ่งแวดล้อม จนถึงขนาดประกาศเป็นนโยบายเลยว่าต่อไปนี้ทุก ๆ ผลิตภัณฑ์แพ็กเกจจิ้ง

และวัตถุดิบในการผลิตสินค้าทุกชนิดจะต้องปลอดภัยจากสิ่งปลอมปนเพื่อผู้บริโภค และโลกใบนี้จะได้ไม่ต้องผจญกับสภาวะสุ่มเสี่ยงต่อการดำรงชีวิตประจำวัน

เพราะทุกคนเริ่มประจักษ์ชัดถึงสภาวะเรือนกระจก ฝุ่นพิษ PM 2.5 และอื่น ๆ อีกมากมายที่ต่างทำให้ประชากรโลกไม่มั่นใจในสภาพอากาศขณะนี้ เพราะอย่างที่ทราบ ๆ กันอุณหภูมิโลกร้อนขึ้นเรื่อย ๆหิมะขั้วโลกเหนือเริ่มละลายลงทีละน้อย ๆ

จนทำให้มนุษย์บนโลกเริ่มห่วงตัวเอง แต่การห่วงตัวเองอาจเป็นเรื่องของปัจเจก และดูจะเป็นการเห็นแก่ตัวมากไปหน่อย ดังนั้น เมื่อมีบริษัทต่าง ๆ ที่ทำธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับผู้บริโภคหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อม จึงนับเป็นเรื่องน่าชมเชยอย่างยิ่ง

ไม่เท่านั้นหากยังทำให้นิสิตนักศึกษาทั่วโลกอยากทำงานกับบริษัทเหล่านี้ด้วย

Advertisment

เพราะพวกเขาถือว่าบริษัทเหล่านี้มีธรรมาภิบาล โดยเฉพาะบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ของประเทศต่าง ๆ

ขณะที่ประเทศไทยเองก็มีหลายร้อยบริษัทที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เช่นกัน เพียงแต่อาจจะแตกต่างกันในบริบทของการดำเนินธุรกิจ

แต่กระนั้น ก็มีข้อบังคับอย่างหนึ่งของบริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯจะต้องดำเนินกิจการเพื่อสังคม และต้องเขียนรายงานความยั่งยืนในหนังสือรายงานประจำปีด้วย เพื่อให้ผู้ถือหุ้น ประชาชน และผู้อุปโภคบริโภคทราบ

และไม่กี่ปีผ่านมาเริ่มมีกระแสเรื่อง “ESG” เข้ามาจนทำให้หลายคนเริ่มสงสัยว่า “ESG” คืออะไร ?

Advertisment

เกี่ยวอะไรกับ บจ.ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ?

คำว่า “ESG” แยกเป็นคำ ๆ ดังนี้ E-environment (สิ่งแวดล้อม), S-social (สังคม) และ G-governance (ธรรมาภิบาล) ความหมายโดยรวม คือ แนวคิดในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนที่ บจ.ในตลาดหลักทรัพย์ฯจะต้องมีใน 3 เรื่องดังกล่าวเข้ามาเกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจ

เพราะ ESG ถือเป็นอีกหนึ่งตัวชี้วัดที่จะทำให้นักลงทุนเห็นว่าบริษัทที่มี ESG จะมีความมั่นคงในการดำเนินธุรกิจ จนทำให้สนใจเข้าไปลงทุน

ขณะที่บริษัทต่าง ๆ ที่มี ESG ในการดำเนินธุรกิจจะมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ จนทำให้พาร์ตเนอร์อยากเข้าไปร่วมลงทุน ซื้อหุ้น และอยากปล่อยสินเชื่อ

ESG สามารถนำไปใช้ได้กับทุก ๆ ธุรกิจ และไม่เฉพาะในประเทศไทยหากบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศเขาก็สนใจเรื่องของ ESG เช่นกัน

ทั้งบางทียังอยากร่วมลงทุนด้วย

เพราะถือว่าการที่บริษัทใดบริษัทหนึ่งมีเครื่องหมาย ESG อยู่ในนโยบาย บริษัทเหล่านั้นจะต้องให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลดุจเดียวกัน

สำคัญไปกว่านั้น หากสถาบันการเงินที่จะต้องปล่อยสินเชื่อให้กับภาคธุรกิจต่าง ๆ ก็จะดูว่าบริษัทเหล่านั้นทำธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับเรื่อง ESG หรือไม่

ถ้ามี เขาจะปล่อยสินเชื่อให้โดยง่าย ซึ่งไม่ว่าบริษัทเหล่านั้นจะเป็นธุรกิจสตาร์ตอัพ หรือธุรกิจรายย่อย เพราะถือว่าการดำเนินธุรกิจที่ให้ความสำคัญต่อเรื่องสังคมและสิ่งแวดล้อมเป็นการสร้างนักธุรกิจสีเขียวในอีกทางหนึ่ง

ยิ่งเมื่อผมอ่านเจอข่าวจากหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ในเซ็กชั่นการเงิน ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 3-อาทิตย์ที่ 6 ธันวาคม 2563 ผมก็ยิ่งมั่นใจมากขึ้นว่าปัจจุบันหลายธนาคารให้ความสำคัญกับเรื่อง ESG มากขึ้นจริง ๆ

ถึงกับปล่อยสินเชื่อให้กับภาคธุรกิจต่าง ๆ หลายหมื่นล้านบาท

ดังบทสัมภาษณ์บางส่วนของ “ขัตติยา อินทรวิชัย” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารธนาคารกสิกรไทยบอกว่า ในปี 2562 ที่ผ่านมาธนาคารปล่อยสินเชื่อ ESG ไปแล้วกว่า 6,300 ล้านบาท ส่วนปี 2563 ตั้งเป้าสินเชื่อรวมที่ 7,730 ล้านบาท

“เรามองว่าบทบาทของสถาบันการเงิน นอกจากจะทำธุรกิจการเงินแล้ว ยังต้องมีโซเชียลไลเซนส์ที่ต้องได้รับการยอมรับจากสังคม เราต้องแน่ใจว่าเงินทุนที่ให้ไปจะไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม หรือเป็นธุรกิจต้องห้าม ฉ้อโกง ยาเสพติด หรือกระทบต่อสิทธิมนุษยชน”

“ทั้งนี้ เราต้องมองถึงพนักงาน ลูกค้า และชุมชนทั้งหมด เพราะในอนาคตคนจะเลือกใช้สินค้าและบริการที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม หรือแม้แต่นักลงทุนก็เริ่มมีคำถามเกี่ยวกับการดูแลเรื่องเหล่านี้”

ขณะที่ “พูนสิทธิ์ ว่องธวัชชัย” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยากล่าวว่า ธนาคารอยู่ระหว่างการจัดทำแผนสนับสนุนด้าน ESG ในปี 2564 ต่อเนื่อง จากปี 2563 ธนาคารเป็นผู้จัดจำหน่ายตราสารหนี้ที่ระดมทุนเพื่อนำเงินไปขยายธุรกิจโครงการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งกรีนบอนด์และโซเชียลบอนด์กว่า 4.5 หมื่นล้านบาท

“สำหรับปีนี้เรื่องของ ESG เราทำ 2 อย่าง คือ 1.การช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ผ่านการให้สินเชื่อ และการลดดอกเบี้ยให้ลูกค้า และ 2.เน้นโปรดักต์ที่เป็น ESG มากขึ้น ดังจะเห็นว่าแนวโน้มกรีนบอนด์และโซเชียลบอนด์จะได้รับความนิยมในตลาดมากขึ้น”

ผมฟังแล้วถือว่าเป็นข่าวดี

โดยเฉพาะใครก็ตามที่ทำธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับสิ่งแวดล้อมทั้งระบบ สามารถไปขอสินเชื่อเงินกู้จากธนาคารดังที่กล่าวมา และน่าจะมีอีกหลายธนาคารที่กำลังให้ความสนใจกับเรื่อง ESG ขณะนี้

ลองติดตามข่าวไปเรื่อย ๆ นะครับ

เผื่อบางทีธุรกิจที่ทำอยู่อาจไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ก็ลองเปลี่ยนธุรกิจด้วยการหันมาทำอะไรที่เกี่ยวเนื่องกับสังคมและสิ่งแวดล้อมดูบ้าง บางทีอาจจะตั้งตัวได้อีกครั้งก็เป็นได้

มิหนำซ้ำ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยังลดลงจากอัตราปกติถึง 0.10-0.50% เลยทีเดียว

น่าสนใจไหมล่ะครับ ?