ราคาน้ำมันดิบปรับลดลง หลังค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น-น้ำมันดิบคงคลังสหรัฐ คาดจะปรับตัวสูงขึ้น

– ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงครั้งแรกในรอบ 5 วันที่ผ่านมา โดยได้รับแรงกดดันจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่แข็งค่าขึ้น หลังประธานธนาคารกลางสหรัฐ Jerome Powell ออกมากล่าวว่าธนาคารกลางจะทยอยปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยขึ้น โดยคาดจะมีการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยขึ้นอย่างน้อย 3 ครั้งในปีนี้ เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นมากกว่าที่คาดการณ์ไว้

– ผลสำรวจของสำนักข่าว Reuters คาดว่าน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุด วันที่ 23 มี.ค. จะเพิ่มขึ้น2.7 ล้านบาร์เรล หลังความต้องการใช้น้ำมันดิบยังคงถูกกดดันจากการปิดซ่อมบำรุงของโรงกลั่นสหรัฐฯ

– ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาอยู่ที่ระดับ 10.23 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นระดับที่สูงสุดนับตั้งแต่ปี 2513 และสูงกว่าปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของซาอุดิอาระเบีย โดยสำนักงานพลังงานสากล (IEA) คาดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ จะยังคงปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องและคาดจะนำหน้ารัสเซียมาเป็นผู้ผลิตอันดับหนึ่งของโลกภายในปี 2562

+ ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของลิเบียปรับลดลง หลังบริษัทน้ำมันแห่งชาติลิเบีย ประกาศเหตุสุดวิสัย (Force Majeure) ที่แหล่งผลิตน้ำมันดิบ El Feel กำลังการผลิต 70,000 บาร์เรลต่อวัน เนื่องจากเกิดเหตุประท้วงและระเบิดที่ท่อขนส่งน้ำมัน

Advertisment

ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ โดยได้รับแรงหนุนต่อเนื่องจากปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังที่สิงคโปร์และตะวันออกกลางที่ปรับลดลง อย่างไรก็ตาม ราคาคาดจะได้รับแรงกดดันจากการส่งออกจากยุโรปมายังตลาดเอเซียที่เพิ่มขึ้น

ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังอุปสงค์น้ำมันดีเซลยังอยู่ในระดับที่ดีและโรงกลั่นจีนคาดจะลดการส่งออกในเดือนนี้ลง อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดีเซลได้รับแรงกดดันจากน้ำมันดีเซลคงคลังสิงคโปร์ที่ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้น

ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 60 – 65 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

Advertisment

ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 63-68 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ปัจจัยที่น่าจับตามอง

ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่ก่อนหน้า หลังกำลังการกลั่นน้ำมันดิบสหรัฐฯ ได้ลดลงกว่า 1.7% มาอยู่ที่ 88.1% จาก 89.8% ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งกำลังการกลั่นคาดจะปรับตัวลดลงอีกในเดือนมีนาคมตามฤดูกาลปิดซ่อนบำรุงของโรงกลั่นทั่วโลกโดยเฉพาะสหรัฐฯ รวมถึงปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ปริมาณน้ำมันดิบมีแนวโน้มที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้น

ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ คาดจะปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังปริมาณแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบได้เพิ่มขึ้นกว่า 52 แท่นจากต้นปี โดย Baker Hughes รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบของสหรัฐฯ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 16 ก.พ. 61 ปรับเพิ่มขึ้นกว่า 1 แท่น มาอยู่ที่ 799 แท่น สอดคล้องกับกำลังการผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯ ที่ได้ปรับตัวสูงขึ้นเหนือ 10 ล้านบาร์เรลต่อวัน และมีแนวโน้มที่จะแตะระดับเหนือกว่า 11 ล้านบาร์เรลต่อวันภายในสิ้นปีนี้