Health Care กับ Megatrend (1)

คอลัมน์ พินิจพิเคราะห์

โดย กิติชัย เตชะงามเลิศ www.facebook.com/VI.Kittichai

เมื่อดูตัวเลขย้อนหลัง 700 ปีที่แล้ว โลกเรามีประชากรเพียง 370 ล้านคนเท่านั้น ไม่น่าเชื่อเลยเวลาผ่านไปปัจจุบันนี้เรามีประชากรร่วมโลก 7,600 ล้านคนนะสิ้นปี 2560 (ข้อมูลจาก Wikipedia) โดยข้อมูลจากสหประชาชาติได้ทำนายว่า ปี พ.ศ. 2643 เราจะมีประชากรโลกถึง 11,800 ล้านคน เพิ่มผู้ร่วมโลกขึ้นมาอีก 4,200 ล้านคน ถึงแม้ว่าดูตัวเลขแล้วน่าตกใจมาก ความหนาแน่นของประชากรในพื้นที่เขตเมืองชั้นในคงจะหนาแน่นมากขึ้น

ผมนึกภาพไม่ออกเลยว่า ณ ตอนนั้นกรุงเทพฯของเราจะมีความแออัดมากน้อยปานใด เพราะธรรมชาติของคนในปัจจุบัน นิยมที่จะใช้ชีวิตอยู่ในเมืองมากกว่าชนบท

แต่ถ้าคิดเป็นอัตราเพิ่มขึ้นแบบทบต้น จะเพิ่มขึ้นเพียง 0.54%/ปีเท่านั้น และเมื่อดูย้อนไป 700 ปีที่ผ่านมา อัตราการเติบโตของประชากรโลก เมื่อคิดแบบทบต้นจะเพิ่มขึ้นเพียง 0.43%/ปีเท่านั้น อัตราการเติบโตของประชากรในบางช่วง เคยเพิ่มขึ้นถึงปีละ 2.08% ซึ่งช่วงนั้นจะเป็นช่วงที่เรียกกันว่าเป็นช่วง baby boomer คาบเกี่ยวกับช่วง generation x คือช่วงปี พ.ศ. 2498 ถึง 2518 แต่ถ้าดูข้อมูลที่เพิ่มขึ้นของประชากรจะเห็นได้ว่า ในช่วงปี ค.ศ. 1000 ถึง 1800 อัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรมีค่อนข้างต่ำมาก ต่อมาประชากรโลกมีอัตราการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1900 จนถึงปัจจุบัน สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่าสุขอนามัยในสมัยโน้นยังไม่ดีเมื่อเทียบกับในปัจจุบัน และอัตราการรอดชีวิตของทารกก็ต่ำกว่าในปัจจุบัน

โดยประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรต่ำมาก เพราะอัตราการเกิดของทารกในเมืองไทยติดอันดับ 1 ใน 10 ต่ำสุดของโลกเลยทีเดียว เรื่องนี้คงต้องยกเครดิตให้กับคุณมีชัย วีระไวทยะ อดีตเจ้าพ่อถุงยางอนามัยของเมืองไทย ผู้ก่อตั้งสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน ตั้งแต่ พ.ศ. 2517 จนทำให้ช่วงนั้นคนไทยนิยมเรียกชื่อถุงยางอนามัยว่า “ถุงมีชัย” ได้รณรงค์ให้สังคมไทยมีบุตรน้อยคน ได้ประสบความสำเร็จอย่างยอดเยี่ยม จากอดีตที่ครอบครัวไทยเคยมีบุตรกันเป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่จะมากกว่า 4 คนขึ้นไป กลายเป็นแต่ละครอบครัวมีบุตรเพียง 1 ถึง 2 คนเท่านั้น

จากข้อมูลของ WHO พบว่า ในปี 2558 ประชากรที่มีอายุเกิน 60 ปี มีสัดส่วน 12% ของประชากรโลก และจะเพิ่มสัดส่วนขึ้นไปเป็น 22% ของประชากรโลกในปี 2593 โดยในปี 2563 ประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปจะมีจำนวนมากกว่าเด็ก ๆ ที่มีอายุน้อยกว่า 5 ปี

แต่ในขณะเดียวกัน จำนวนประชากรที่อยู่เป็นโสดก็มีเพิ่มขึ้น และคู่สมรสหลายคู่ก็ประสบปัญหาการมีบุตรยาก นอกจากนั้นวิทยาการที่ก้าวหน้าในหลาย ๆ ด้านในปัจจุบัน รวมถึงธุรกิจ health care และความรู้ที่ประชากรโลกมีต่อโรคภัยไข้เจ็บและโภชนาการที่ดีขึ้น มีส่วนทำให้อายุขัยของคนในยุคปัจจุบันยืนยาวขึ้น ทำให้ประชากรทั่วโลกที่กำลังเข้าสู่วัยชรามีสัดส่วนสูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป มีจำนวนเพิ่มขึ้น 3 เท่าในทุก ๆ 50 ปี โดยคาดว่าจะมีจำนวนถึง 2,000 ล้านคนในปี พ.ศ. 2593 หรืออีก 32 ปีข้างหน้า จากปี 2558 ที่มีประชากรประมาณ 900 ล้านคนที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป หรือคิดเป็น 12% ของประชากรโลกที่มีอยู่มากกว่า 7,600 ล้านคน และสิ่งที่น่ายินดีก็คือ ปัจจุบันนี้เรามีคนที่อายุ 80 ปีขึ้นไป 120 ล้านคน แล้วจะเพิ่มเป็น 554 ล้านคนในปี 2593 โดยจำนวน 120 ล้านคนนี้จะอยู่ในประเทศจีน

โดยมีประเทศจีนเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดคือ 1,389 ล้านกว่าคน ตามมาติด ๆ คือ อินเดีย ซึ่งมีจำนวนประชากรอยู่ที่ 1,327 ล้านคน คาดว่าอีกไม่กี่ปีอินเดียจะเป็นประเทศที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดในโลก จากอัตราการเพิ่ม (เกิดใหม่-ตายไป) สูงกว่าของประเทศจีน ที่มีอัตราการเกิดต่ำ จากนโยบายลูกคนเดียว แต่ความที่คนจีนมีอายุยืนมากขึ้น ปัจจุบันคนจีนที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปมี 129 ล้านคน คิดเป็น 9.60% ของประชากร ทำให้สัดส่วนประชากรผู้สูงอายุของคนจีนสูง รัฐบาลจีนเริ่มตระหนักถึงปัญหาข้อนี้อยู่เช่นกัน ระหว่างที่ผมเขียนบทความอยู่นี้ ผมได้เข้า http://www.worldometers.info/ นั่งดูตัวเลขแล้วเพลินดี เพราะว่าจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นทุกเสี้ยววินาทีแบบ real time เลยทีเดียว อดสงสัยไม่ได้ว่าทำไมเว็บไซต์นี้ถึงได้รู้ดี และ update ได้แบบนี้ ผมคาดว่าน่าจะเป็นการคาดการณ์ว่ามีเด็กเกิดใหม่ในปีนี้กี่คนแล้วก็มาหารเฉลี่ยต่อวินาทีกระมัง

กำลังสนุกอยู่เลย แต่เนื้อที่หมดขอยกยอดไปต่อตอนที่ 2 ในบทความหน้านะครับ