ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ รอความชัดเจนจากสหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของค่าเงินระหว่างสัปดาห์ ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันจันทร์ (5/3) ที่ระดับ 31.39/41 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (2/3) ที่ 31.44/46 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (2/3) มหาวิทยาล้ยมิชิแกน ได้เปิดเผยตัวเลขความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือน ก.พ. ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 99.7 ดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 99.4 ในขณะที่นักลงทุนยังคงวิตกกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้า หลังจากที่ ปธน.ทรัมป์ประกาศเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมาว่า สหรัฐจะเรียกเก็บภาษีนำเข้าเหล็กในอัตรา 25% และอะลูมิเนียม 10% ในสัปดาห์นี้ โดยมาตรการดังกล่าวมีเป้าหมายวที่จะปกป้องอุตสาหกรรมของสหรัฐ โดยนายฌอง-คล็อต ยุงเกอร์ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (EC) ก็ได้ออกมาตอบโต้ โดยระบุว่า สหภาพยุโรปจะดำเนินการตอบโต้อย่างรุนแรง เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของบริษัทยุโรปที่ส่งออกเหล็กและอะลูมิเนียมไปยังสหรับ นอกจากนี้ผู้อำนวยการองค์การการค้าโลก (WTO) ออกแถลงการณ์แสดงความกังวลต่อการที่สหรัฐประกาศว่ามีแผนเรียกเก็บภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียม ขณะที่มีแนวโน้มที่จะเกิดการตอบโต้จากประเทศคู่ค้า โดยการทำสงครามการค้าจะไม่เกิดประโยชน์ต่อฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด และองค์การการค้าโลกจะจับตาสถานการณ์อย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตามประธานาธิบดีทรัมป์ได้ทวีตข้อความในวันนี้ โดยส่งสัญญาณว่า สหรัฐอาจยกเลิกการเรียกเก็บภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียม อย่างน้อยที่สุดสำหรับแคนาดา และเม็กซิโก หากมีการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA) ที่เป็นธรรม แต่อย่างไรก็ตามค่าเงินดอลลาร์สหรัฐยังได้รับปัจจัยสำคัญมาจากตัวเลขเศรษฐกิจ โดยออโตเมติก ดาต้า โพรเซสซิ่ง อิิงค์ (ADP) และมูดี้ส์ อนาลิติกส์ เปิดเผยว่า การจ้างงานของภาคเอกชนสหรัฐปรับตัวเพิ่มขึ้น 235,000 ตำแหน่งในเดือนกุมภาพันธ์ สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 195,000 ตำแหน่ง หลังจากปรับตัวเพิ่มขึ้น 244,000 ตำแหน่งในเดือนมกราคม ในขณะที่นายโรเบิร์ต แคปแลน ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาดัลลัส ปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นโดยตรงต่อผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เตรียมเรียกเก็บภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียม ซึ่งตัวเลขสำคัญที่นักลงทุนจับตามองคือตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรของสหรัฐ ประจำเดือนกุมภาพันธ์ที่จะถูกประกาศในคืนนี้ โดยระหว่างสัปดาห์ ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ 31.30-31.46 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดวันศุกร์ (9/2) มรานะดีล 31.35/37 บาท/ดอลลาร์

สำหรับการเคลื่อนไหวสกุลเงินยูโรในสัปดาห์นี้ ค่าเงินยูโรเปิดตลาดที่ระดับ 1.2333/36 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (2/3) ที่ระดับ 1.2290/94 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (2/3) สำนักงานสถิติแห่งชาติของเยอรมนี เปิดเผยตัวเลขยอดค้าปลีก ปรับตัวลดลง 0.7% ในเดือน ม.ค. แย่กว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 0.8% นอกจากนี้นักลงทุนยังกังวลเกี่ยวกับการเลือกตั้งอิตาลีว่าจะไม่มีพรรคการเมืองใดครองเสียงข้างมากในสภา (Hung Parliament) หลังจากเอ็กซิทโพลระบุว่าพรรคฟอร์ซา อิตาเลีย ของนายซิลวิโอ แบร์ลุสโคนี อดีตนายกรัฐมนตรีของอิตาลี ซึ่งแม้ว่าได้ที่นั่งเป็นอันดับหนึ่งในสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 225-265 ที่นั่ง แต่ก็ยังต่ำกว่าข้อกำหนดของพรรคเสียงข้างมากที่จะต้องมีถึง 316 ที่นั่ง ประกอบกับ นางแองเกลา แมร์เคิล ได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นสมัยที่ 4 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว หลังจากสมาชิกพรรคโซเชียล เดโมแครตส์ (SPD) ซึ่งมีแนวคิดนิยมซ้าย โหวตด้วยคะแนนเสียง 66% เห็นชอบให้พรรคเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลสองพรรคใหญ่กับพรรคคริสเตียน เดโมแครตน์ (CDU/CSU) แนวนิยมขวาของนางแมร์เคิล นอกจากนี้ นักลงทุนจะจับตามองการจัดตั้งรัฐบาลผสมของอิตาลี หลังจากที่การเลือกตั้งเสร็จสิ้นลง และผลการเลือกตั้งปรากฏว่าไม่มีพรรคการเมืองใดสามารถครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร ทั้งนี้ผลการนับคะแนนบางส่วนพบว่าพรรคไฟว์ สตาร์ มูฟเมนต์ (M5S) ซึ่งมีนายลุยิ ดิไมโอ มีที่นั่งคิดเป็นสัดส่วนราว 30-31% ซึ่งจะทำให้ M5S เป็นพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียวที่ได้เก้าอี้มากที่สุดในสภาผู้แทนฯ และสิทธิที่จะได้จัดตั้งรัฐบาลผสมก่อน โดยพรรคไฟว์ สตาร์ อาจจะร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรค Lega ซึ่งมีแนวนโยบายที่สอดคล้องกัน โดยเฉพาะในแง่ของการต่อต้านการตั้งถิ่นฐานของผู้อพยพ และการต่อต้านสหภาพยุโรป จึงอาจจะทำให้การกระทบต่อเสถียรภาพทางการเมืองและทางการเงินของสหภาพยุโรปอีกครั้ง โดยในระหว่างสัปดาห์ค่าเงินยูโรได้ปรับตัวแข็งค่าขึ้น ก่อนที่จะอ่อนค่าลงภายหลังจากการประชุมของธนาคารกลางยุโรป (European Central Bank : ECB) ซึ่งยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 0% อัราดอกเบี้ยสำหรับปล่อยกู้ที่ 0.25% และอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ระดับ -0.4% พร้อมทั้งได้ให้ความเห็นว่าทาง ECB อาจจะคงมาตรการดอกเบี้ยที่ระดับนี้ออกไปซักพักหนึ่ง ส่งผลให้ในสัปดาห์ที่ผ่านมาค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 1.2279-1.2442 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.2300/02 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนสัปดาห์นี้ ค่าเงินเยนเปิดตลาดในว้ันจันทร์ (5/3) ที่ระดับ 105.44/47 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (2/3) ที่ระดับ 105.55/58 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (2/3) กระทรวงสื่อสารและกิจการภายในประเทศของญี่ปุ่น เปิดเผยอัตราว่างงานเดือน ม.ค. ลดลงสู่ระดับ 2.4% จากระดับ 2.7% ในเดือน ธ.ค. โดยนักลงทุนจับตาการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (ฺฺBOJ) ในวันศุกร์นี้ (9/3) อย่างใกล้ชิด หลังจากที่นายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการ BOJ ได้แถลงต่อรัฐสภาญี่ปุ่นเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (2/3) ว่า BOJ อาจจะพิจารณาถอนมาตรการผ่อนคลายทางการเงินในปีงบประมาณ 2562 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ BOJ คาดว่าจะสามารถบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อที่ระดับ 2% นอกจากนี้ นายคุโรดะกล่าวว่า ขณะนี้ยังเร็วเกินไปที่จะถอนมาตรการผ่อนคลายทางการเงิน เนื่องจากเป้าหมายเงินเฟ้อยังคงอยู่ห่างไกล พร้อมระบุว่า BOJ จะยังคงเดินหน้าใช้มาตรการผ่อนคลายการเงินเชิงรุกต่อไป ประกอบกับในระหว่างสัปดาห์ รัฐบาลญี่ปุ่นเปิดเผยว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 4/2560 ขยายตัว 1.6% เมื่อเทียบเป็นรายปี สูงกว่าตัวเลขประมาณการเบื้องต้นเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ซึ่งระบุว่า GDP ขยายตัวเพียง 0.5% โดยได้ปัจจัยหนุนจากการพุ่งขึ้นของยอดการใช้จ่ายภาคเอกชน ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงความแข็งแกร่งของอุปสงค์ภายในประเทศ ทั้งนี้รัฐบาลญี่ปุ่นระบุว่า การอุปโภคบริโภคในภาคเอกชนซึ่งคิดเป็นสัดส่วนเกือบ 60% ของตัวเลข GDP นั้น ขยายตัว 0.5% ซึ่งไม่เปลี่ยนแปลงจากการประมาณการเบื้องต้น ส่วนการลงทุนในภาคสาธารณะ ปรับตัวลดลง 0.2% ซึ่งดีกว่าการประมาณการเบื้องต้นที่ระบุว่าปรับตัวลดลง 0.5% นอกจากนี้กระทรวงการคลังของญี่ปุ่นเปิดเผยว่า ญี่ปุ่นเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่ 6.074 แสนล้านเยน (5.7 พันล้านดอลลาร์) ในเดือนมกราคม นับเป็นการเกินดุลเดือนที่ 43 ติดต่อกัน ขณะที่การค้าสินค้าต่าง ๆ นั้นขาดดุลอยู่ที่ 6.666 แสนล้านเยน โดยต้นทุนของทรัพยากรธรรมชาติที่สูงขึ้นนั้นได้กระตุ้นมูลค่า การนำเข้าโดยรวม และส่งผลต่อยอดเกินดุลการค้า ซึ่งตลอดสัปดา์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 105.39-106.90 เยน/ดลอลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 106.71/73 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ