พิษ STARK เขย่าตลาดทุน จี้ DSI-ก.ล.ต.ฟ้องคดีเด็ดขาด

STARK

มหากาฬ STARK ปฏิบัติการโกงครั้งใหญ่ของบริษัทจดทะเบียนตลาดหุ้นไทย “ยอดขายปลอม-ลูกหนี้ปลอม-โยกเงินออก” สั่นสะเทือนตลาดทุน ชำแหละปัญหา “ช่องโหว่-จุดอ่อน” กระบวนการตรวจสอบข้อมูล และธรรมาภิบาลของบริษัทในตลาดหุ้น เปิดงบการเงินขาดทุนยับนักลงทุน-ผู้ถือหุ้นกู้ และเจ้าหนี้แบงก์เสียหายหลายหมื่นล้าน รัฐมนตรีคลังส่งหนังสือจี้ ก.ล.ต. เร่งตรวจสอบ-ล้อมคอกปัญหา นักลงทุน-ผู้เกี่ยวข้องเรียกร้องยกเครื่อง “ตลาดทุน” ทั้งระบบป้องกัน-ตรวจสอบ จี้ ก.ล.ต.และหน่วยงานยุติธรรมเร่งดำเนินคดีลงโทษผู้กระทำผิด

เปิดงบการเงิน “โกง “ขาดทุนยับ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากที่บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK ได้เปิดเผยงบการเงินประจำปี 2565 เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 2566 ซึ่งผู้สอบบัญชี (PwC) ตรวจพบปัญหาการตกแต่งบัญชีหลายรายการ

โดยการสร้างยอดรอเรียกเก็บหนี้จากลูกค้าปลอม ยอดขายปลอม และสร้างรายการจ่ายเงินซื้อสินค้าล่วงหน้า ให้กับบริษัท เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ซึ่งสมอ้างเป็นบริษัทคู่ค้าโดยไม่มีการซื้อขายหรือจ่ายเงินจริง คิดเป็นเงินไม่น้อยกว่า 26,816 ล้านบาท

โดยธุรกรรมอำพรางทั้งหมดเกี่ยวพันกับ 3 บริษัทย่อยของ STARK คือ 1.บริษัท เฟ้ลปส์ ดอด์จ อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) จำกัด (PDITL) 2.บริษัท ไทย เคเบิ้ล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (TCI) และ 3.บริษัท อดิสรสงขลา จำกัด (ADS)

โดยพบว่า “เฟ้ลปส์ ดอด์จ” มีการตกแต่งบัญชีสูงเกินจริงสูงถึง 24,452 ล้านบาท ตามมาด้วย “อดิสรสงขลา” มีการตกแต่งบัญชีสูงเกินจริง 1,045 ล้านบาท และ “ไทย เคเบิ้ลฯ” อีกมูลค่า 689 ล้านบาท

Advertisment

ส่งผลให้ตลอดช่วง 2 ปี ที่มีการตกแต่งบัญชีและโอนเงินให้บริษัทร่วมขบวนการ STARK มีผลขาดทุนรวมมากกว่า 12,640 ล้านบาท โดยในปี 2564 ขาดทุนสุทธิ 5,989 ล้านบาท และในปี 2565 ขาดทุนสุทธิ 6,651 ล้านบาท

ความเสียหายหลายหมื่นล้าน

กรณีของ STARK ถือเป็นกรณีสร้างความเสียหายมากที่สุดกรณีหนึ่ง ทั้งความเสียหายต่อผู้ถือหุ้นรายย่อย ผู้ถือหุ้นกู้ และผู้ถือหน่วยลงทุนผ่านกองทุนรวม

โดยจากมูลค่าหุ้นที่ลดลงจากที่เคยมีมูลค่าสูงสุด 60,000 ล้านบาท ล่าสุด (19 มิ.ย.) ไม่ถึง 2,000 ล้านบาท โดยเฉพาะความเสียหายต่อผู้ถือหุ้นรายย่อย ไปถึงผู้ถือหน่วยกองทุนรวมที่เข้าไปลงทุนในหุ้น STARK รวมทั้งผู้ถือหุ้นกู้ 5 ชุด อีกหลายพันราย วงเงินรวม 9,198 ล้านบาท และธนาคารพาณิชย์รายใหญ่ที่ปล่อยสินเชื่อไปอีกราว 8,000 ล้านบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการเปิดเผยงบการเงิน “STARK” พบว่ามีการทำธุรกรรมอำพรางโยกย้ายเงินไปที่บริษัท เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด กว่า 10,000 ล้านบาทนั้น ซึ่งหมายเหตุประกอบงบฯระบุว่า บริษัทดังกล่าวมีความเกี่ยวพันกับผู้ถือหุ้นใหญ่ของ STARK

Advertisment

ซึ่งจากการตรวจสอบข้อเท็จจริงก็คือ “นายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ” ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ STARK และเป็นผู้ถือหุ้นทางอ้อมของบริษัท เอเชีย แปซิฟิกฯ ด้วย

อย่างไรก็ดี นายวนรัตช์ได้มีการชี้แจงผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯว่า กรณีดังกล่าวเป็นการกระทำผิดที่อยู่ภายใต้อำนาจของอดีตผู้บริหาร ผู้ถือหุ้นใหญ่ไม่มีส่วนรับรู้และจัดการ

คลังจี้ ก.ล.ต.เร่งตรวจสอบ-ล้อมคอก

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลังได้มีหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ลงนามโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อให้ดำเนินการในหลายประเด็นเกี่ยวกับกรณี STARK แล้ว

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า หนังสือที่กระทรวงการคลังส่งไปถึง ก.ล.ต. ในกรณี STARK เนื้อหาหลัก ๆ ก็คือ 1.ให้เร่งตรวจสอบ ชี้แจงข้อเท็จจริง และพิจารณาตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และข้อกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง

และ 2.ให้สำนักงาน ก.ล.ต. ร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ป้องกันเหตุดังกล่าวต่อไปในอนาคต

ยกเครื่องตลาดทุนครั้งใหญ่

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร เซียนหุ้นชื่อดังและนักลงทุนรายใหญ่สายเน้นคุณค่า (value investor) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ถึงเวลาที่ตลาดทุนจะต้องยกเครื่องครั้งใหญ่ เพราะหลัง ๆ มานี้จะเห็นการโกงในตลาดหุ้นชักเกิดขึ้นบ่อย และมีขนาดใหญ่ขึ้นด้วย ซึ่งทำให้คุณภาพของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยไม่ค่อยดีนัก เพราะเกิดแล้วเกิดอีก ดูเหมือนมาตรการลงโทษหรือมาตรการป้องกันต่าง ๆ ยังไม่ดีเท่าที่ควร

อย่างไรก็ตาม ไม่ได้กล่าวถึงเฉพาะการกำกับดูแลของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงการกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ตำรวจ และหน่วยงานยุติธรรมต่าง ๆ ด้วย

“เพราะตอนนี้เมื่อเกิดเหตุการณ์การโกงในตลาดหุ้นใหม่ ๆ ก็ฮือฮา แต่แป๊บเดียวก็ลืมแล้ว และจะเกิดเรื่องใหม่ซ้ำมาอีก คล้าย ๆ กับไม่มีอะไรไปครอบ หรือพูดง่าย ๆ เป็นมาตรการเพื่อทำให้อนาคตดีขึ้นได้ ซึ่งตรงนี้สำคัญ เพราะคนทำผิดในตลาดหุ้นไทย กว่าจะนำมาลงโทษได้ใช้เวลานานจนคนลืม ทำให้คนไม่เข็ดและไม่กลัว”

ชำแหละจุดอ่อนตลาดหุ้น

ดร.นิเวศน์กล่าวว่า ทำไมในอเมริกา หรือเวียดนาม คดีโกงในตลาดหุ้น เขาถึงดำเนินคดีได้รวดเร็วมาก ไม่ถึงปีสามารถจับคนผิดเข้าคุกได้ ดังนั้นเป็นเรื่องที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุนจะต้องไปพิจารณาว่า กฎเกณฑ์ของตลาดทุนไทยติดขัดตรงไหน ทำไมช้า และบางทีก็ปล่อยหลุด หรือไม่สามารถจับคนผิดมาลงโทษได้

ฉะนั้นถ้าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุนร่วมกันบูรณาการเพื่อช่วยจัดการเรื่องเหล่านี้ได้โดยเร็ว จะทำให้นักลงทุนในตลาดหุ้นมีความมั่นใจมากขึ้น เมื่อเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ขึ้นอีกในอนาคต

“จริง ๆ โดยภาพรวมการกำกับดูแลในตลาดทุนก็ถือว่าดีขึ้น แต่จากเหตุการณ์การโกงในตลาดหุ้นที่ผุดขึ้นมาเรื่อย ๆ นั้น ก็ฟ้องว่าอาจจะยังไม่ดีเท่าที่ควร ตอนนี้แต่ละหน่วยงานก็โบ้ยกันไปมาว่าไม่ใช่เรื่องของเรา กฎหมายไม่เอื้อบ้าง เช่น ก.ล.ต.จะลงโทษก็ไม่ได้ ทำได้แค่กล่าวโทษเพื่อให้อัยการดำเนินการ

ส่วนตลาดหลักทรัพย์ฯก็มองว่า ตัวเองมีหน้าที่อย่างเดียวคือรายงานสิ่งที่มีความผิดปกติ และมีมาตรการกำกับ แต่บางทีอาจไม่ได้มอนิเตอร์ว่าสิ่งที่ทำไปผลลัพธ์เป็นอย่างไร อย่างคดีปั่นหุ้นไม่มีมาตรการอะไรที่ยับยั้งได้ จึงเป็นจุดอ่อนของตลาดหุ้นตอนนี้ ซึ่งสะท้อนการทำงานที่ยังไม่ได้บูรณาการร่วมกัน” ดร.นิเวศน์กล่าว

รื้อ กม.สังคายนา “ตลาดทุน”

ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ อดีตประธาน บริษัท เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ มือกฎหมายธุรกิจ ที่ปัจจุบันเป็นหนึ่งในกรรมการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรณีที่เกิดขึ้นต้องยอมรับว่ากระบวนการตรวจสอบข้อมูลของตลาดทุนมีจุดอ่อน ทำให้เกิดช่องโหว่ที่เปิดช่องให้ผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนทำการทุจริต

ตั้งแต่การทำงานของคณะกรรมการบริษัท ผู้ตรวจสอบบัญชี ซึ่งจะพบว่ากรณีที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่เป็นการทำธุรกรรมอำพรางในต่างประเทศ เช่น เคส EARTH ก็เป็นการทำดีลซื้อเหมืองที่อินโดนีเซีย ทำให้กระบวนการตรวจสอบข้อมูลยุ่งยากมากขึ้น

อย่างไรก็ดี สิ่งสำคัญต้องเร่งกระบวนการเอาคนโกงมาลงโทษให้เร็วที่สุด และยับยั้งความเสียหาย สำนักงาน ก.ล.ต.ต้องประสานการทำงานกับ ปปง. ดีเอสไอ ทำคดีอย่างรวดเร็ว เพราะจากความผิดที่เกิดขึ้นก็น่าจะถือว่าเป็นการฉ้อโกง หน่วยงานต่าง ๆ ต้องเทกแอ็กชั่นอย่างรวดเร็วเพื่อปกป้องความเสียหายของนักลงทุน

“ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมากระบวนการทางกฎหมายเพื่อเอาคนโกงมาลงโทษนั้นใช้เวลานานเป็นปี หรือหลายปี หรือผู้กระทำผิดหลบหนีไปแล้ว แนวทางคือต้องมีการบูรณาการการทำงานของ ก.ล.ต. ปปง. ดีเอสไอ เป็นคณะทำงานร่วม เพราะที่ผ่านมาเมื่อ ก.ล.ต.ส่งเรื่องให้ตำรวจ คดีต่าง ๆ ก็ไม่มีความคืบหน้า

ซึ่งหลังจากกรณีของหุ้น MORE ทางตลาดหลักทรัพย์ฯและสำนักงาน ก.ล.ต.ก็ได้มีการร่วมกันที่จะปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ โดยเฉพาะเพิ่มการดำเนินการให้ ก.ล.ต.เป็นเจ้าพนักงานสอบสวน ที่จะสามารถทำสำนวนส่งถึงอัยการได้เลย”

หุ้นกู้เพิ่มค่าฟีแลกความเสี่ยง

แหล่งข่าวผู้จัดจำหน่ายหุ้นกู้และผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ของ STARK กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า นโยบายของบริษัทในการรับประกันการจัดจำหน่ายหุ้นกู้และผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ จะรับเฉพาะบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ที่มีเรตติ้ง BBB+ ขึ้นไป

ซึ่งตอนนั้นหุ้นกู้ STARK มีเรตติ้ง BBB+ พอดี และเป็น บจ.ใหญ่ที่ติดรายชื่ออยู่ใน SET100 และยังได้รับวงเงินสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์อีกด้วย ดังนั้นสะท้อนนโยบายของบริษัทค่อนข้างมีการสกรีนอยู่พอสมควร

แต่จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับ STARK สิ่งที่ได้เรียนรู้คือ ต่อไปแม้สกรีนผ่านแล้ว แต่ควรต้องคิดราคาค่าบริการเพิ่มหรือไม่ ตามอันดับความน่าเชื่อถือ เพื่อแลกกับความเสี่ยงที่เกิดขึ้น เพราะเรื่องที่เกิดขึ้นกับ STARK สร้างความวุ่นวาย ไม่คุ้มอย่างมากกับค่าบริการที่กำหนดในปัจจุบัน ดังนั้นต่อไปอาจทำให้บริษัทจดทะเบียนที่มีเรตติ้งระหว่าง BBB+ หรือ A- โดนปรับขึ้นราคาค่าบริการเพิ่ม

STARK เป็นโฮลดิ้งไม่มีทรัพย์สิน

สำหรับความคืบหน้าผู้เสียหายหุ้นกู้ STARK จะมีการประชุมผู้ถือหุ้นกู้อีก 3 รุ่น ในวันที่ 23 มิ.ย. 2566 เพื่อโหวตเหตุผิดนัดชำระเงินต้นและดอกเบี้ยให้ถึงกำหนดชำระโดยพลัน (call default) เพื่อรักษาสิทธิเจ้าหนี้และเพื่อให้ได้ดอกเบี้ยผิดนัดชำระเพิ่ม แม้ว่า STARK ไม่มีเงินมาชำระคืนแล้วก็ตาม แต่เพื่อไม่ให้เสียเปรียบเจ้าหนี้รายอื่น

โดยหนี้หุ้นกู้ 3 รุ่นนี้มูลหนี้ประมาณ 5-6 พันล้านบาท ค่าเฉลี่ยผู้ที่ซื้อหุ้นกู้ประมาณ 4-5 แสนบาทต่อราย ผู้ได้รับความเสียหายอย่างน้อย 1 หมื่นราย

“การที่ผู้ถือหุ้นกู้จะไปขอหลักประกันจาก STARK ไม่ง่าย และมีข้อจำกัดอยู่ เพราะ STARK ไม่มีการดำเนินธุรกิจ เป็นแค่โฮลดิ้งคอมปะนี ออฟฟิศก็เช่าตึกมณียา ถ้าจะทำสเต็ปแรกคือ ต้องไปบังคับให้ขายหุ้นบริษัทลูก ซึ่งไม่ง่ายเพราะเราไม่ใช่เจ้าหนี้ของเขา จึงจะมีความวุ่นวายอยู่พอสมควร”

สิ่งสำคัญคือการดำเนินการทางกฎหมายกรณี STARK ต้องนำคนผิดมาลงโทษให้ได้ ไม่อยากให้เหมือนเคสอื่นที่ผ่านมา ๆ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะกลายเป็นเงียบหายไป หรือตามจับได้น้อย

ส่ง STARK เข้าศาลล้มละลาย

แหล่งข่าวกล่าวว่า คาดว่าสิ่งที่ STARK กำลังเตรียมการอยู่คือผลักดันให้ผู้สอบบัญชีรับรอง special audit และน่าจะยื่นศาลล้มละลายเพื่อเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ ปรับโครงสร้างหนี้เพราะเป็นวิธีเดียวที่จะตรวจสอบให้แน่ใจว่ามีมูลหนี้และเจ้าหนี้กี่รายที่มีสิทธิเรียกร้อง เพราะศาลจะไล่ข้อมูลเพื่อตัดหนี้ปลอม ซึ่งตอนนี้โดนโกงอยู่ จึงไม่รู้ว่าใครเป็นเจ้าหนี้จริงบ้าง

“มองว่าการดำเนินงานของโรงงาน STARK ในประเทศไทยถือว่าไม่ได้แย่ ฉะนั้นมีช่องทางที่จะเข้าแผนฟื้นฟูได้ แต่ต้องจัดการเรื่องการโกงให้จบก่อน และตามเงิน พร้อมทั้งเคลียร์บัญชีว่ามีความเสียหายจริงเท่าไหร่”

ปฏิบัติการโกงครั้งใหญ่

แหล่งข่าวรายนี้กล่าวว่า รายการที่ทำให้ STARK เกิดปัญหาและเจ๊งคือ รายการจ่ายเงินล่วงหน้าค่าสินค้า มูลค่า 10,451 ล้านบาท ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค. 2565 ที่ผ่านมานี้เอง ซึ่งหากย้อนไทม์ไลน์จะพบว่าเป็นช่วงที่ STARK มีการเพิ่มทุนแบบเฉพาะเจาะจง (PP) ให้กับนักลงทุนสถาบัน 12 ราย วงเงิน 5,580 ล้านบาท และออกหุ้นกู้ลอตใหม่เสร็จสิ้น ได้เงินมาทั้งหมดกว่าหมื่นล้านบาท แต่ทำไมธุรกิจเจ๊ง แล้วเงินหายไปไหน

“เหตุการณ์การโกงของ STARK คนที่เซ็นเอกสารใครมอบอำนาจ และคนที่มอบอำนาจจะรับรู้หรือไม่รับรู้กับการโกงครั้งนี้ แต่สะท้อนถึงความหละหลวมตั้งแต่ต้น ซึ่งจริง ๆ เคส STARK ไม่เคยเจอที่เป็น บจ.ในตลาดหุ้น แต่เคยเจอบ้างในธุรกิจเอสเอ็มอีที่มียอดขาย 100 ล้านบาทต่อปี ที่มีการตั้งบริษัทอีกแห่งขึ้นมาซื้อขายเพื่อผ่องถ่ายกำไร”

วิกฤตเชื่อมั่น “ตลาดทุน”

ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) กล่าวว่า บทเรียนจากกรณี STARK ปัญหาใหญ่สุดคือ การได้รับข้อมูลที่ไม่เท่าเทียมกัน เพราะไม่ว่าจะเป็นผู้ถือหุ้น ผู้ถือหุ้นกู้ สถาบันการเงินปล่อยกู้ หรือบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ที่เข้าไปลงทุน ไม่มีทางที่จะมีข้อมูลเท่ากับผู้บริหารของตัวบริษัทเอง

โดยกฎหมายของสำนักงาน ก.ล.ต. จะเน้นเรื่องการคานอำนาจ การตรวจสอบ และการเปิดเผยข้อมูล ซึ่งในกระบวนการดังกล่าวมีคนเกี่ยวข้องเต็มไปหมด

เริ่มตั้งแต่ผู้บริหารบริษัทต้องสุจริต โปร่งใส ภายในบริษัทต้องมีระบบตรวจสอบภายใน กรรมการตรวจสอบ ซึ่งคณะกรรมการบริษัทต้องเป็นสติให้กับผู้บริหาร ดูแลปกป้องผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นรายย่อย ขณะที่บริษัทตรวจสอบบัญชี ที่ต้องเช็กว่าสิ่งที่ผู้บริหารทำมา ถูกต้องตามหลักการบัญชีไหม สะท้อนความเป็นจริง

เพราะเป็นข้อมูลที่นักลงทุนจะนำไปวิเคราะห์ต่อ เพื่อตัดสินใจลงทุน ซึ่งเคสนี้หลาย ๆ กรณีผู้ตรวจสอบบัญชี ก็ควรจับได้ แต่การที่ตรวจไม่เจอ เป็นเพราะอะไร ซึ่งถ้ากระบวนการเหล่านี้ผิดทั้งกระบวนการ กลไกของตลาดทุนก็จะไม่ function แล้วต้นทุนต่าง ๆ ก็จะสูงขึ้น

“กลไกของตลาดทุนทั้งหมด จะอยู่บนพื้นฐานเรื่องความเชื่อมั่น เชื่อใจ ว่าข้อมูลที่ได้รับมา เป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่ว่าทันทีที่นักลงทุนต้องตั้งคำถามกับตัวเลขเหล่านี้ ก็จะเป็นไปไม่ได้เลยที่นักลงทุนจะลงทุนได้ด้วยความสบายใจ กรณีที่เกิดขึ้นนี้ ทั้งผู้บริหาร คนตรวจสอบบัญชี และกรรมการตรวจสอบ mistrust หมดเลย ทั้ง 3 ระดับนี้ ผมว่าอันนี้เรื่องใหญ่มาก กลไกการออกแบบเรื่้องธรรมาภิบาลของบริษัทมีปัญหาแน่ ๆ” ดร.พิพัฒน์กล่าว

ฟ้องร้องกันอุตลุด

กรณีมีการสร้างตัวเลขเทียมขึ้น ดร.พิพัฒน์กล่าวว่า ถือเป็นความผิดที่รุนแรงมากสำหรับตลาดทุน ซึ่งส่วนนี้ ก.ล.ต.ต้องดำเนินการจัดการอย่างเด็ดขาด ไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่าง ต้องดำเนินคดีอย่างถึงที่สุด และ หลังจากนี้ ก็คงเห็นการฟ้องร้องเอาผิดจากผู้ที่เสียหายตามมากันจำนวนมากแน่นอน เพราะเคสนี้น่าจะเสียหายหลายหมื่นล้านบาท ดังนั้น ก็คงจะมีการฟ้องทางคดีแพ่งด้วย นอกเหนือจากคดีอาญา

“เคสแบบนี้แค่บังคับใช้กฎหมายอย่างเต็มที่ด้วยความเที่ยงตรงและเป็นธรรม ผมว่าพอแล้ว แต่ถ้าไม่ทำอะไร แล้วคนอื่นเห็นว่าทำได้ มีผลประโยชน์มหาศาลรอให้ทำอยู่ พอทำแล้วหนีไปอยู่เมืองนอกได้ เรื่องนี้น่ากังวลมาก ผมว่าซีเรียสมาก บทเรียนมีเต็มไปหมด

แล้วทุกคนที่อยู่ในกระบวนการต้องพึ่งพาตัวเลขที่เปิดเผยออกมากันทั้งนั้น อย่างธนาคารพาณิชย์ขนาดเป็นมืออาชีพ ก็ยังโดนไปด้วย ต่อไปถ้าเชื่อตัวเลขอะไรไม่ได้ ต้นทุนก็จะต้องสูงขึ้น ดังนั้น ก.ล.ต.ก็ต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเต็มที่ ต้องโชว์ความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายออกมา” ดร.พิพัฒน์กล่าว

ตรวจเส้นทางเงินบัญชีธนาคาร

นอกจากนี้ STARK ได้มีหนังสือลงวันที่ 16 มิ.ย. 2566 ขอขยายระยะเวลาการดำเนินการการตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษตามขอบเขตที่สำนักงาน ก.ล.ต. ให้ขยายผลเพิ่มเติมออกไปอีก 30 วัน หรือเป็นวันที่ 17 ก.ค. 2566

โดยให้เหตุผลว่าไม่สามารถสรุปผลการตรวจสอบธุรกรรมทางการเงินได้ทั้งของ STARK และ 3 บริษัทย่อย โดยตอนนี้กำลังดำเนินการตรวจสอบรายการเคลื่อนไหวบัญชีธนาคารของ STARK จำนวน 5 บัญชี จากทั้งหมด 7 บัญชี ซึ่งมีปัญหาการขอรายการเดินบัญชีจากบางธนาคาร เนื่องจากเอกสารที่ได้รับมาไม่มีรายละเอียดเพียงพอในการตรวจสอบข้อมูลความเชื่อมโยงรายการระหว่างผู้รับเงินและผู้จ่ายเงิน

เช่นเดียวกับบริษัท เฟ้ลปส์ ดอด์จฯ กำลังดำเนินการตรวจสอบข้อมูลความเชื่อมโยงรายการระหว่างผู้รับเงินและผู้จ่ายเงินจากธนาคารที่เกี่ยวข้องทั้งหมด 9 ธนาคาร ซึ่งมีรายการซื้อขายจำนวนมาก เฉพาะปี 2565 มีเอกสารเกี่ยวข้องกับการขายประมาณ 4,600 ชุด จึงยังตรวจสอบไม่แล้วเสร็จ ซึ่งตรวจไปแล้ว 60%

ส่วนบริษัทไทยเคเบิ้ล ตรวจพบธุรกรรมที่อาจผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับการขายสินค้าและรายการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้ดำเนินการตรวจสอบไปแล้ว 20% ของข้อมูลทั้งหมด และบริษัทอดิสรสงขลา ได้ตรวจพบความแตกต่างระหว่างรายได้ค้างรับตามงบทดลองของบริษัทและรายได้ค้างรับที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งได้ดำเนินการตรวจสอบไปแล้ว 30% ของข้อมูลทั้งหมด

อย่างไรก็ดี สำหรับทาง ก.ล.ต.นั้น เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. 2566 สำนักงาน ก.ล.ต. รายงานว่า ก.ล.ต.ได้ดำเนินการตรวจสอบการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ และหากพบว่าบุคคลใดเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด ก.ล.ต.จะดำเนินการตามกฎหมายตามกระบวนการต่อไป

ซึ่งที่ผ่านมา ก.ล.ต.ได้มีการประสานงานไปยังกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) เพื่อให้มีการประสานความร่วมมือระหว่างกันด้วยแล้ว

วนรัชต์กระทบหุ้น TOA ดิ่ง

จากกรณีที่นายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ เป็นกรรมการและผู้ถือหุ้นใหญ่ของ STARK ซึ่งเป็นทายาทคนโตของนายประจักษ์ ตั้งคารวคุณ เจ้าของบริษัท ทีโอเอ เพ้นท์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ TOA แม้ทางนายจตุภัทร์ ตั้งคารวคุณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ TOA จะออกมาชี้แจงว่าไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ กับ STARK

แต่ปัญหาการทุจริตครั้งใหญ่ของตลาดทุนครั้งนี้ก็ส่งผลสะเทือนไปถึง TOA อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้ว่านายวนรัชต์จะแจ้งลาออกจากกรรมการและกรรมการบริหาร TOA ตั้งแต่ปลายเดือน พ.ค. 2566

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันจันทร์ที่ 19 มิ.ย. 2566 ราคาหุ้น STARK ปิดตลาดที่ระดับราคา 0.05 บาทต่อหุ้น ปรับตัวลดลง 37.5% จากราคาปิดวันก่อนหน้า ซึ่งถือว่าหลุดฟลอร์ (floor) ไป 1 ช่วงราคา ตามเกณฑ์ใหม่ที่ตลาดหลักทรัพย์ฯได้นำมาบังคับใช้เมื่อ 8 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยผู้ถือหุ้นยอมส่งคำสั่งซื้อขายทุกราคาจำนวนกว่า 71.36 ล้านหุ้น มูลค่ารวม 3.9 ล้านบาท

ขณะที่เหตุการณ์ดังกล่าวยังได้ลุกลามไปส่งผลกระทบต่อราคาหุ้น บมจ.ทีโอเอ เพ้นท์ (ประเทศไทย) (TOA) ของตระกูลตั้งคารวคุณ ที่ปรับตัวลดลงรุนแรง ทำจุดต่ำสุดของวันที่ราคา 22 บาท ปรับตัวลดลง 9 บาท หรือติดลบ 29% จากราคาปิดวันก่อนหน้า และปิดตลาดอยู่ที่ 26.25 บาท ลดลง 15.32%

และปิดตลาดเช้าวันที่ 20 มิ.ย. 2566 ราคาหุ้น STARK ดิ่งติดฟลอร์ที่ราคา 0.04 บาท ลดลง 20% จากราคาวันก่อนหน้า ซึ่งถือเป็นระดับต่ำสุดที่มีการซื้อขาย โดยมีคำสั่งซื้อขายจำนวน 57.34 ล้านหุ้น มูลค่ารวม 1.8 ล้านบาท ส่วนราคาหุ้น TOA ช่วงบ่ายก็ยืนอยู่ที่ 28.25 บาทต่อหุ้น