แกะงบการเงิน STARK สรุปวิธีตกแต่งบัญชี สร้างยอดขายปลอม-รายจ่ายเท็จ

STARK

แกะงบการเงิน “สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น-STARK” สรุปวิธีตกแต่งบัญชี-ธุรกรรมอำพราง สร้างยอดขายปลอม-รายจ่ายเท็จ เขย่าวงการตลาดทุนไทย

วันที่ 19 มิถุนายน 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปีนี้ข่าวใหญ่เขย่าวงการตลาดทุนไทย หนีไม่พ้นธุรกรรมอำพรางหรือการตกแต่งบัญชีของบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK ซึ่งมีบริษัทย่อยสำคัญ 3 รายคือ

  • บริษัท เฟ้ลปส์ ดอด์จ อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) จำกัด (PDITL)
  • บริษัท ไทย เคเบิ้ล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (TCI)
  • บริษัท อดิสรสงขลา จำกัด (ADS)

ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ได้สร้างความเสียหายไปทั้งตลาดทุน เพราะเอฟเฟ็กต์ทั้งต่อผู้ถือหุ้น นักลงทุนสถาบัน นักลงทุนรายย่อย เจ้าหนี้ธนาคาร และผู้ลงทุนหุ้นกู้

วันนี้ “ประชาชาติธุรกิจออนไลน์” จึงได้รวบรวมบทสรุปมหากาฬ STARK มาเล่าให้ฟังดังนี้

สืบเนื่องจากกรณีเมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 2566 นายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ กรรมการและรักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น (STARK) ได้แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า STARK ได้นำส่งงบการเงินสำหรับปี 2565 สิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค. 2565 โดยผู้บริหารชุดใหม่ของบริษัทที่แต่งตั้งเมื่อช่วงปลายเดือน เม.ย. 2566 ได้ทำการปรับตัวเลขเปรียบเทียบย้อนหลังสำหรับปี 2564 เพื่อให้ข้อมูลถูกต้อง

หลังตรวจพบข้อผิดพลาดหลายรายการในงบการเงินปี 2564 ไม่ว่าจะเป็นรายได้จาการขายและต้นทุนขาย รายได้จากการให้บริการและต้นทุนให้บริการ สินค้าคงเหลือ ลูกหนี้และค่าเผื่อขาดทุนด้านเครดิต และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่เป็นสาระสำคัญ

รายการขายผิดปกติ 200 รายการ

  • รายได้จากการขาย มีการตกแต่งบัญชีสูงเกินจริง 7,730.6 ล้านบาท เดิมในงบการเงินปี 2564 ระบุว่าอยู่ที่ 25,217.2 ล้านบาท แต่แก้ไขใหม่เป็น 17,486.6 ล้านบาท
  • พบรายการขายผิดปกติ จำนวน 202 รายการ คิดเป็นมูลค่าขาย 8,063 ล้านบาท และ 3,593 ล้านบาท ในปี 2565 และปี 2564 (ตามลำดับ) โดยรายการขายผิดปกติตรวจพบจากการสอบยืนยันยอดที่ถูกต้องกับลูกค้า การตรวจสอบการรับชำระเงิน ลักษณะการจ่ายเงินที่ไม่ปกติ การปลอมแปลงชื่อผู้จ่ายเงิน และการจ่ายเงินจากบัญชีของอดีตเจ้าหน้าที่ของบริษัทแทนลูกค้า
  • มียอดสินค้าคงเหลือที่ผิดปกติ โดยมีรายการสินค้า (stock items) ประกอบด้วย รายการสินค้าระหว่างทำ (WIP) วัตถุดิบ (RM) และสินค้าสำเร็จ (FG) มียอดติดลบในระบบสารสนเทศ (ERP) ของบริษัท จำนวน 3,140 รายการ
  • ลูกหนี้การค้าและลูกหนี้อื่น มีการตกแต่งบัญชีสูงเกินจริงกว่า 9,264.6 ล้านบาท จากเดิมในงบการเงินปี 2564 ระบุว่าอยู่ที่ 15,570.8 ล้านบาท แต่แก้ไขใหม่เป็น 6,306.2 ล้านบาท

แต่งบัญชีมี “กำไร” ทั้งที่ขาดทุนเกือบ 6 พันล้าน

  • กำไรสุทธิปี 2564 มีการตกแต่งบัญชีสูงเกินจริง 8,784.2 ล้านบาท เดิมในงบการเงินปี 2564 ระบุว่าอยู่ที่ 2,794.9 ล้านบาท แต่แก้ไขใหม่เป็นขาดทุนสุทธิ 5,989.3 ล้านบาท

ผลปรากฏว่างบการเงินในปี 2565 พบว่า STARK มีผลขาดทุนสุทธิ 6,651 ล้านบาท และเมื่อรวมกับงบการเงินปี 2564 ทาง STARK จะมีผลรวมขาดทุนสะสมกว่า 10,379 ล้านบาท และมีหนี้สินหมุนเวียนรวมสูงกว่าสินทรัพย์หมุนเวียนรวม 6,628 ล้านบาท รวมถึงมีส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบ 4,403 ล้านบาท

สรุปวิธีตกแต่งบัญชี STARK

เฟ้ลปส์ ดอด์จฯ สร้างยอดขายปลอม 6 พันล้าน

1.การสร้างยอดขายปลอมแบบไม่มีใครจ่ายเงินจริง วิธีการที่ STARK ทำคือสร้างเอกสารการขายปลอม โดยไม่มีการส่งมอบสินค้าให้กับลูกค้าจริง โดยบันทึกหรือตั้งเป็นยอดลูกหนี้การค้าปลอม เพื่อให้ดูว่ามีลูกค้าที่ติดเงินบริษัทอยู่จำนวนมาก

โดยในปี 2565 เฟ้ลปส์ ดอด์จฯ บริษัทย่อย STARK รายงานว่า มีการรับรู้รายได้จากการขายและลูกหนี้การค้าสูงเกินความเป็นจริง 5,005 ล้านบาท และในปี 2564 รับรู้รายได้จากการขายและลูกหนี้การค้าสูงเกินความเป็นจริง 923 ล้านบาท และก่อนปี 2564 อีกมูลค่ากว่า 97 ล้านบาท หรือคิดเป็นยอดขายปลอมที่ไม่มีใครจ่ายเงินจริงรวมกว่า 6,025 ล้านบาท

สร้างยอดขายปลอมแบบจ่ายเงินโดยพวกเดียวกัน 1.8 พันล้าน

2.การสร้างยอดขายปลอมแบบจ่ายเงินโดยพวกเดียวกัน วิธีการที่ STARK ทำคือทำเอกสารการขายให้กับคนในกลุ่มเดียวกัน และชำระเงินกันเองโดยไม่มีการจัดส่งสินค้าจริง โดยในปี 2565 มียอดขายปลอมนี้จำนวน 1,890 ล้านบาท

ซึ่งทาง STARK ระบุว่าเงินรับชำระหนี้จากลูกหนี้การค้าไม่ได้มาจากลูกหนี้การค้าแต่ละรายจริง แต่เป็นการรับชำระเงินจากบริษัท เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่เกี่ยวข้องกันกับผู้ถือหุ้นรายใหญ่รายหนึ่ง และบริษัท ไทย เคเบิ้ล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ STARK

ตัดจำหน่ายลูกหนี้การค้าส่วนภาษีมูลค่าเพิ่ม 611 ล้าน

3.จ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ให้แก่กรมสรรพากร เพื่อสร้างยอดขายปลอมที่ไม่มีการจัดส่งสินค้าให้แก่ลูกค้าให้ดูเหมือนจริง โดยสิ่งที่ทำให้กรมสรรพากรไม่ผิดสังเกต เป็นเพราะว่า STARK ยอมจ่าย VAT ที่ 7% เพื่อสร้างยอดขายปลอมขึ้นมา

โดยมีการบันทึกค่าใช้จ่ายจากการตัดจำหน่ายลูกหนี้การค้าในส่วนของภาษีขายที่เกี่ยวข้องกับรายการขายที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริงรวมจำนวน 611 ล้านบาท (ปี 2565 จำนวน 569 ล้านบาท ปี 2564 จำนวน 35 ล้านบาท และก่อนปี 2564 อีกจำนวน 7 ล้านบาท)

สร้างรายจ่ายปลอมให้พวกเดียวกันเอง มูลค่าหมื่นล้าน

4.การสร้างรายจ่ายปลอมให้พวกเดียวกันเอง วิธีการที่ STARK ทำคือแกล้งทำเป็นสั่งซื้อสินค้าเพื่อบันทึกเป็นรายจ่ายให้กับบริษัท โดยวิธีการลงบันทึกบัญชีคือ “รายการจ่ายเงินล่วงหน้าค่าสินค้า” ให้แก่บริษัทคู่ค้าของ เฟ้ลปส์ ดอด์จฯ จำนวน 3 ราย เป็นจำนวนเงินรวม 10,451 ล้านบาท (คิดเป็น 65% ของยอดซื้อทองแดงและอลูมิเนียมทั้งปี)

โดยเงินสดที่จ่ายออกจาก STARK นั้นพบว่า ไม่ได้ถูกจ่ายไปที่คู่ค้าของ STARK ที่ทำการสั่งซื้อสินค้า แต่ข้อเท็จจริงปรากฎว่าเป็นการโอนเงินออกไปให้บริษัท เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่เกี่ยวข้องกันกับผู้ถือหุ้นรายใหญ่รายหนึ่งของ STARK

สรุปก็คือ บริษัท เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด เป็นบริษัทเดียวกันที่จ่ายเงินให้กับ STARK เพื่อสร้างยอดขายปลอม หรือแปลง่าย ๆ คือ STARK มีการจ่ายเงินเพื่อสั่งซื้อสินค้าปลอมจากบริษัท เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด และนำเงินส่วนนี้ที่จ่ายให้กับบริษัท เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ให้บริษัทนี้วนกลับมาสั่งซื้อสินค้าจาก STARK อีกทีหนึ่ง

และที่พีกหนักไปกว่านั้นคือ ผู้ตรวจสอบบัญชีระบุว่า รายการจ่ายเงินล่วงหน้าค่าสินค้าเป็นรายการที่เป็นสาระสำคัญ และเกิดขึ้นในช่วงระหว่างเดือน พ.ย.-ธ.ค. 2565 ที่ผ่านมานี้เอง สะท้อนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นเพิ่งจะผ่านมาได้ไม่นาน

สร้างรายการชำระเงินล้างลูกหนี้ปลอม 6 พันล้าน

5.การล้างหนี้ โดยสร้างรายการรับเงินปลอมจากต่างประเทศ วิธีการที่ STARK ทำคือเมื่อมีการตั้งยอดลูกหนี้อยู่เป็นจำนวนมาก อาจทำให้งบการเงินไม่ค่อยดี เหมือนขายของไปแล้วแต่เก็บเงินไม่ได้มาก อาจส่งผลต่อปัญหาด้านสภาพคล่องได้ ฉะนั้น STARK จึงไปตั้งรายการได้รับชำระเงินปลอมจากลูกหนี้การค้าต่างประเทศหลายราย เพื่อลดส่วนลูกหนี้ค้างชำระ รวมมูลค่า 6,086 ล้านบาท

โดยได้ตั้งรายการได้รับชำระเงินปลอมจากลูกหนี้การค้าต่างประเทศ ในระหว่างเดือน ธ.ค. 2565 ซึ่งบันทึกทางบัญชีระบุว่า “เป็นลูกหนี้การค้าที่เกิดจากการขายสินค้าในปี 2564” เป็นจำนวนเงิน 2,034 ล้านบาท

และในเดือนเดียวกัน เฟ้ลปส์ ดอด์จฯ ยังได้รับเงินอีกจำนวน 4,052 ล้านบาท โดยระบุว่าเป็นการรับเงินชำระเงินจากการขายสินค้าในปี 2564 ของบริษัท Thinh Phat Cables Joint Stock Company (TPC) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ เฟ้ลปส์ ดอด์จ ที่จดทะเบียนในประเทศเวียดนาม

และจากการย้อนรอยเส้นทางการเงินพบว่า ไม่มีหลักฐานที่น่าเชื่อถือที่จะสนับสนุนว่ามีรายการขายเกิดขึ้นจริง และจากเส้นทางการรับชำระเงินได้แสดงว่าเป็นการโอนเงินจากบริษัท เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่เกี่ยวข้องกันกับผู้ถือหุ้นรายใหญ่รายหนึ่ง

เข้าใจง่าย ๆ คือ STARK เอาเงินไปสั่งซื้อสินค้าปลอมจากบริษัท เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด และบริษัทนี้เมื่อได้เงินสด นำมาสั่งซื้อสินค้ากลับจาก STARK ซึ่งเป็นการสั่งซื้อสินค้าปลอมแล้วยังนำเงินสดก้อนนี้วนกลับมาล้างลูกหนี้ในปี 2564 อีกด้วย

ส่วนการแต่งบัญชีงบการเงินของ “อดิสรสงขลา” อีกหนึ่งบริษัทย่อย STARK พบว่ามีการรับรู้รายได้จากการให้บริการและลูกหนี้การค้าสูงเกินจริง 394 ล้านบาท 240 ล้านบาท และ 411 ล้านบาท ในปี 2565 ปี 2564 และก่อนปี 2564 ส่วนไทยเคเบิ้ล อีกหนึ่งบริษัทย่อย STARK มีการรับรู้รายได้จากการขายและลูกหนี้การค้าสูงเกินความเป็นจริง 600 ล้านบาท ในปี 2564 และอีก 89 ล้านบาท ก่อนปี 2564

และไทยเคเบิ้ล ได้จ่ายภาษี VAT ให้แก่กรมสรรพากรสำหรับรายการขายที่ไม่มีการจัดส่งสินค้าให้แก่ลูกค้าจริง โดยมีการบันทึกค่าใช้จ่ายจากการตัดจำหน่ายลูกหนี้การค้าในส่วนของภาษีขายที่เกี่ยวข้องกับรายการขายที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริงจำนวน 50 ล้านบาท และ 9 ล้านบาท ในปี และก่อนปี 2564