11 หน่วยงานผนึกกำลังเชือด STARK ล้อมคอกเกณฑ์กำกับ ฟื้นเชื่อมั่นตลาดทุนไทย

11 หน่วยงานผนึกกำลังเชือด STARK ล้อมคอกเกณฑ์กำกับ ฟื้นเชื่อมั่นตลาดทุนไทย

11 หน่วยงานตลาดทุน จับมือแถลงปมฉาวหุ้น STARK ก.ล.ต. เตรียมเชือดทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องปลอมงบการเงิน โทษคุกสูงสุด 10 ปี ลุยแก้กฎหมายเพิ่มอำนาจคุมสำนักสอบบัญชี ตลท.ยกระดับเข้มงวด บจ.-เดินหน้าเยียวยานักลงทุน ด้านสภาวิชาชีพบัญชี จ่อเพิกถอนใบอนุญาตผู้สอบบัญชี ฟาก ‘ทริสเรทติ้ง’ เข้มงวดจัดเรตติ้งหุ้นกู้ ระวังบริษัท Backdoor Listing-เน้นเติบโตด้วยการซื้อกิจการ ส่วนสมาคม บล.เพิ่มความเห็น FA ขายหุ้น PP เริ่ม 1 ก.ค. ด้านสมาคมนักวิเคราะห์ เตรียมติวเข้มนักวิเคราะห์หลุมพรางตกแต่งบัญชี

เชือด STARK คุก 10 ปี-แก้กฎหมายเพิ่มอำนาจคุมสำนักสอบบัญชี

นายธวัชชัย พิทยโสภณ รองเลขาธิการ รักษาการเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ในการดำเนินการตามกระบวนการกฎหมาย พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ กรณี บมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น (STARK) ขณะนี้การตรวจสอบมีความคืบหน้าไปมาก และสำนักงาน ก.ล.ต. อยู่ระหว่างเตรียมดำเนินการเอาผิดกับทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องการเปิดเผยข้อมูลที่มีการปรับปรุงตัวเลขทางการเงินอันเป็นเท็จ ซึ่งมีบทลงโทษจำคุกสูงสุดถึง 10 ปี ถือเป็นบทกำหนดโทษที่มีความรุนแรงพอสมควร

ทั้งนี้ในช่วงบ่ายวันนี้ (26 มิ.ย. 2566) สำนักงาน ก.ล.ต. จะเข้าไปพูดคุยกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) และกองบังคับการปรามปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) เพื่อให้ข้อมูลเป็นแนวทางในการตรวจสอบการทุจริตที่เกิดขึ้น

นอกจากนี้ ก.ล.ต. อยู่ระหว่างยกร่างแก้ไขกฎหมาย พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ เพื่อเพิ่มอำนาจในการให้ความเห็นชอบและขึ้นบัญชีดำกับสำนักงานผู้สอบบัญชีที่กระทำผิด จากปัจจุบันมีอำนาจเฉพาะการให้ความเห็นชอบและจัดการขึ้นบัญชีดำกับผู้สอบบัญชีเท่านั้น เพื่อไม่ให้บริษัทจดทะเบียนไทยใช้ผู้สอบบัญชีในบุคคลดังกล่าวในการเซ็นรับรอง

โดยการแก้ไขกฎหมายข้างต้นได้ผ่านคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปเมื่อช่วงต้นปี 2566 ที่ผ่านมา ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา หลังจากนั้นจะนำเข้าสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งถือว่าการบังคับใช้กฎหมายยังค่อนข้างใช้เวลานานอยู่พอสมควร

Advertisment

“การกำกับดูแลบริษัทจดทะเบียนมีการพูดคุยกับตลาดหลักทรัพย์ฯอยู่ตลอดเวลา โดยเริ่มแก้ไขกฎหมายดังกล่าวมาตั้งแต่ปลายปี 2565 และพอมีเรื่องของ STARK เกิดขึ้น ก็ได้นำบทเรียนในเรื่องนี้เข้ามาใส่เพิ่มเติม และมีกำหนดนำเสนอบอร์ด ก.ล.ต.ในเดือน ก.ค. 2566 ซึ่งจะเห็นภาพของหลักการการกำกับ บจ.ที่เข้มงวดขึ้น” นายธวัชชัยกล่าว

ตลท.เข้มงวด บจ.-เดินหน้าเยียวยานักลงทุน

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า หลังจากที่ STARK รายงานข้อมูลงบการเงินปี 2565 ออกมาในวันที่ 16 มิ.ย. 2566 ซึ่งได้พบว่ามีการปรับปรุงข้อมูลทางบัญชี ซึ่งไม่ตรงกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ทำให้ STARK เกิดความเสียหายทางบัญชีมูลค่ารวมกว่า 21,464 ล้านบาท ซึ่งมีผลกระทบเกิดขึ้นใน 5 เรื่องใหญ่ ได้แก่ 1.การสั่งซื้อวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตสินค้าของ STARK และการสั่งสินค้าจากซัพพลายเออร์ที่เกี่ยวข้องในช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค. 2565 มีการปรับตัวเลขในบัญชีอยู่ที่ 10,451 ล้านบาท

2.การรับรู้รายได้จากการขายและลูกหนี้การค้าที่เกิดความผิดพลาด ตั้งแต่ปี 2563-2565 รวมมูลค่า 7,759 ล้านบาท 3.การตัดจำหน่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากการขายที่ไม่เกิดขึ้นจริงตั้งแต่ปี 2563-2565 รวม 670 ล้านบาท

4.การตั้งค่าเผื่อลูกหนี้การค้าที่ไม่ถูกต้องระหว่างปี 2564-2565 รวมจำนวน 794 ล้านบาท และ 5.การขาดทุนจากสินค้าคงเหลือหายในปี 2565 ที่ 1,790 ล้านบาท ซึ่งเป็นการปรับข้อมูลทางบัญชีที่เกิดขึ้น และทำให้เกิดความเสียต่อผู้ลงทุนทุกราย

Advertisment

โดยตลาดหลักทรัพย์ฯไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยการดําเนินการในเบื้องต้น 1.ได้ทำงานร่วมกับสมาคมนักลงทุนรายย่อยในการทำหน้าที่เป็นตัวแทนกลุ่มผู้ถือหุ้นเพื่อติดต่อ STARK และการดำเนินคดีแบบกลุ่ม ซึ่งสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย (TIA) ได้ให้ผู้ถือหุ้น STARK แจ้งความเสียหาย ตั้งแต่วันที่ 19-25 มิ.ย. 2566 มียอดรวม 1,759 ราย มูลค่ากว่า 4,063 ล้านบาท

และ 2.ได้ทำงานร่วมกับกลุ่มนักลงทุนสถาบัน เช่น สมาคม บลจ.เพื่อหาแนวทางดำเนินการทางกฎหมายกับผู้กระทำผิด และ 3.อยู่ในระหว่างตรวจสอบการกระทำผิดกับผู้เกี่ยวข้องเรื่องการเปิดเผยข้อมูลแลการซื้อขายหุ้นที่อาจเข้าข่ายความผิด พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ

และ 4.ยกระดับการกำกับดูแลบริษัทจดทะเบียนตั้งแต่กระบวนการรับหลักทรัพย์จนถึงการดำรงอยู่เพื่อทำให้สามารถดูแลให้ บจ.มีความเข้มแข็งขึ้น และจะมีการเพิ่มเครื่องหมาย C เพื่อเตือนผู้ลงทุนในกรณีที่หุ้นอาจมีสัญญาณของปัญหาเกิดขึ้น

“สำหรับการตรวจสอบการกระทำความผิดของ STARK ที่เกิดขึ้นนั้น ยอมรับว่าใช้ระยะเวลาในการตรวจสอบที่มากกว่ากรณีของ บมจ.มอร์ รีเทิร์น (MORE) เนื่องจากกรณีของ STARK มีผู้เกี่ยวข้องที่ได้รับผลกระทบเป็นจำนวนมาก ทำให้ขั้นตอนการรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ ทำได้ยากกว่ากรณีของ MORE ที่มีผู้ที่เกี่ยวข้องได้รับผลกระทบประมาณ 10 ราย แต่ทางตลาดหลักทรัพย์ฯพร้อมกับหน่วยงานต่าง ๆ จะเดินหน้าในการตรวจสอบข้อเท็จจริงและหาแนวทางเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบต่อไป

สภาวิชาชีพบัญชี จ่อเพิกถอนใบอนุญาตผู้สอบบัญชี

นายสุพจน์ สิงห์เสน่ห์ เลขาธิการ สภาวิชาชีพบัญชี ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า คณะกรรมการจรรยาบรรณของสภาวิชาชีพบัญชีไม่ได้นิ่งนอนใจในเรื่องนี้ โดยหากพบว่าการทำงานของผู้สอบบัญชีของ STARK มีข้อบกพร่องจริงก็จะถูกลงโทษตามลำดับ ไม่ว่าจะเป็นการพักใช้ใบอนุญาต หรือแม้กระทั่งการเพิกถอนใบอนุญาต

โดยในทุกปี ๆ เวลาที่ผู้สอบบัญชีจะให้บริการลูกค้ารายใดจะต้องแจ้งสภาวิชาชีพบัญชี เนื่องจากจะต้องประสานกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ซึ่งควบคุมดูแลงบการเงินว่าสอดคล้องตรงกันหรือไม่ เพื่อป้องกันการถูกแอบอ้างชื่อ

ทั้งนี้ สภาวิชาชีพบัญชีพร้อมให้ความร่วมมือกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำรงไว้ซึ่งความเชื่อมั่นของสภาวิชาชีพบัญชีและตลาดทุนไทย

“สำหรับการจะเข้ามาเป็นผู้สอบบัญชีนั้น จะต้องจบปริญญาตรีทางบัญชี ในสถาบันการศึกษที่สภาวิชาชีพบัญชีรับรอง จากนั้นต้องฝึกงานอย่างน้อย 3 ปี และต้องผ่านการสอบทั้งหมด 6 วิชา โดยเฉลี่ยแล้วแต่ละคนกว่าจะได้ใบอนุญาตใช้เวลากว่า 5 ปี และจะต้องรักษาใบอนุญาตนั้นไว้ โดยอัพเดตความรู้ทุกปีเป็นเวลา 40 ชั่วโมง นอกจากนั้นหากจะเข้ามาเป็นผู้สอบบัญชีในตลาดทน ต้องผ่านความเห็นชอบจากสำนักงาน ก.ล.ต.ด้วย”

‘ทริส’ เข้มงวดจัดเรตติ้งหุ้นกู้

นายศักดิ์ดา พงศ์เจริญยง กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด กล่าวว่า ทริสเรทติ้งได้มีการประชุมภายในเกี่ยวกับกรณี STARK และพบการรายงานข้อมูลทางการเงินที่มีการปรับย้อนหลัง และไม่ตรงกับความจริงที่ปรากฏขึ้น ส่งผลกระทบต่อผู้ที่อาศัยข้อมูลทางการเงินในการนำไปพิจารณาในการตัดสินใจลงทุน รวมถึงทริสเรทติ้งที่ต้องใช้ข้อมูลทางการเงินประกอบการจัดอันดับเครดิตเรตติ้งด้วย

โดยกรณี STARK ถือว่าเป็นความเสี่ยงในด้านการนำเสนอข้อมูลที่ไม่เป็นไปตามข้อเท็จจริง ทำให้การอาศัยข้อมูลเพื่อนำมาวิเคราะห์เกิดการคลาดเคลื่อน และส่งผลกระทบขึ้นต่อนักลงทุน โดยเฉพาะในส่วนของบริษัทที่ต้องมีการจัดอันดับเครดิตบริษัทเพื่อรองรับการออกหุ้นกู้

อย่างไรก็ตามจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ทำให้ทริสเรทติ้งจะต้องมีการควบคุมและตรวจสอบการนำเสนอข้อมูลของบริษัทต่าง ๆ เพื่อนำมาวิเคราะห์ในการจัดอันดับเครดิตเรตติ้งที่เข้มงวดมากขึ้น เพื่อสามารถเป็นที่มั่นใจให้กับนักลงทุนประกอบการพิจารณาในการลงทุน

ขณะเดียวกันทริสเรทติ้งยังให้ความระมัดระวังและตั้งข้อสังเกตในการนำเสนอข้อมูลที่ไม่ตรงกับความเป็นจริงโดยเฉพาะบริษัทที่มีการทำ Backdoor Listing ที่จะเพิ่มความเข้มงวดในการสกรีนข้อมูลบริษัทที่จะมาจัดทำเครดิตเตติ้ง ส่วนหนึ่งจะเป็นบริษัทที่มีลักษณะเน้นการเติบโตด้วยการซื้อกิจการ

“บริษัทพวกนี้อาจจะไม่ได้เป็นการเติบโตโดยการสร้างธุรกิจของตัวเอง แต่สร้างการเติบโตขึ้นมาจากการซื้อกิจการเพื่อมุ่งเน้นไปที่ราคาหุ้น ซึ่งบริษัทเหล่านี้เป็นข้อสังเกตที่ทางทริสเรทติ้งให้ความระมัดระวังในการพิจารณาข้อมูลประกอบการจัดอันดับเครดิตเรตติ้งมากขึ้น”

นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งจะเพิ่มการฝึกอบรมนักวิเคราะห์ในส่วนเทคนิคการสังเกตลักษณะของงบการเงินที่น่าสงสัยว่ามีการตกแต่งงบการเงิน เพื่อนำไปสู่การวิเคราะห์ความผิดปกติของงบการเงินและสถานะการเงินที่แท้จริงของผู้ออกตราสาร รวมถึงจะมีการแชร์ข้อมูลระหว่างหน่วยงานของตลาดทุนร่วมกัน เพื่อเป็นการเตือนภัย (Early Warning) และเป็นประโยชน์ร่วมกัน

เพิ่มความเห็น FA ขายหุ้น PP เริ่ม 1 ก.ค.

นายสมภพ กีระสุนทรพงษ์ ประธานกรรมการ ชมรมวาณิชธนกิจ สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย (บล.) กล่าวว่า ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินต่อการระดมทุนในรูปแบบต่าง ๆ สิ่งที่ได้บทเรียนจากกรณี STARK คือต่อให้มีการสกรีนที่เข้มขึ้นมาแล้ว แต่เวลาเปลี่ยนคนเปลี่ยนได้ ฉะนั้นอาจต้องกลับมานั่งพิจารณาว่ามาตรการในการติดตามหรือป้องกันจะมีอะไรเพิ่มเติมขึ้นมาบ้าง แม้ว่ากฎเกณฑ์ต่าง ๆ ในปัจจุบันจะมีค่อนข้างมากแล้วก็ตาม แต่คงอาจจะต้องกลับทบทวนกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่เข้มงวดมากขึ้น โดยเฉพาะเกณฑ์ Backdoor Listing ที่อาจจะกลับมาทบทวน ซึ่งจะทำงานร่วมกับ ก.ล.ต. และ ตลท. รวมถึงเกณฑ์ใหม่ไอพีโอที่จะใช้งบฯฉบับเต็มที่จะเริ่มใช้ในปีหน้า ซึ่งเกณฑ์จะมีความเข้มข้นขึ้นมาก และการออกหุ้น PP ที่กำลังจะมีเรื่องการให้ความเห็นของ FA เพิ่มเติมเข้ามา ซึ่งจะเริ่มใช้ในวันที่ 1 ก.ค. 2566 ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่เพิ่มตามสถานการณ์ ซึ่งจะทำให้คุณภาพของตลาดหุ้นที่มี บจ.คุณภาพดีอยู่อีกมากมาย และส่วนที่เจออย่าง STARK เป็นเพียงแค่ส่วนน้อยและเฉพาะกรณีเท่านั้น

ติวเข้มนักวิเคราะห์หลุมพรางตกแต่งบัญชี

นายสมบัติ นราวุฒิชัย เลขาธิการ สมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (IAA) กล่าวว่า เนื่องจากนักวิเคราะห์และนักลงทุนไม่มีโอกาสจะได้เห็นหลักฐานยืนยันตัวเลขงบการเงินต่าง ๆ ทำได้แค่ซักถาม ทำให้ไม่สามารถรับรู้ถึงหลักฐานยอดขายและการเสียภาษีต่าง ๆ ได้เลย จึงเป็นรื่องที่ยากลำบากมาก จึงเล็งเห็นว่าในระยะข้างหน้าจะต้องไปนั่งคิดกระบวนการเพื่อความรัดกุมเพื่อปกป้องธุรกิจให้มากขึ้นกว่านี้ และดึงผู้เชี่ยวชาญที่ตรวจสอบบัญชีมาติวเข้มนักวิเคราะห์และนักลงทุนให้พิจารณาเห็นถึงหลุมพรางหรือการตกแต่งบัญชีขึ้นมา

ชี้ STARK เป็นบทเรียนให้ทำงานเข้มขึ้น

นายกุลเวช เจนวัฒนาวิทย์ กรรมการผู้อำนวยการสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย กล่าวว่า ทางสมาคมมีหน้าที่ให้ความรู้และสร้างความตระหนักในบทบาทหน้าที่ในการรับผิดชอบของการเป็นกรรมการ ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้มีการทำมาอย่างต่อเนื่อง อย่างเช่น การทำหนังสือคู่มือกรรมการซึ่งหลาย ๆ เล่มก็จะเกี่ยวกับเรื่องของการบริหารความเสี่ยงเรื่องของบทบาทของกรรมการ

รวมถึงนำเรื่องเหล่านี้เข้าไปอยู่ในหลักสูตรการฝึกอบรบด้วย ทั้งนี้หลังจากนี้ไปเชื่อว่าทางสมาคมจะนำกรณี STARK ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้มาเป็นบทเรียนให้กับกรรมการและสมาคมเชื่อว่ากรรมการที่ทำงานอยู่ในตอนนี้ในบริษัทต่าง ๆ ได้ทำงานอย่างเต็มที่ มีการประชุมที่บ่อยและถี่มากขึ้น มีการทำงานที่หนักขึ้น

ขณะที่นายไพศาล ธรสารสมบัติ กรรมการสมาคม บริษัทจดทะเบียนไทย กล่าวว่า สมาคมได้ให้ความสำคัญกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งทางสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทยกับสมาชิกต่าง ๆ ได้มีการพูดคุยและหารือในการทำงานร่วมกันในตลอดเวลาที่ผ่านมา และค่อนข้างที่จะทำงานใกล้ชิดกับหลายหน่วยงานในตลาดทุนไม่ว่าจะเป็นสำนักงานก.ล.ต.หรือตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รวมถึงได้รับการสนับสนุนและส่งเสริมจากหน่วยงานต่างๆ อย่างเช่น สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) และทำงานต่อเนื่องกันมานาน ซึ่งที่ผ่านมาเราเห็นการทำงานของหน่วยงานต่าง ๆ มีคุณภาพและค่อนข้างที่จากเข้มงวดด้วยซ้ำไป โดยเฉพาะเรื่องของธรรมาภิบาลในองค์กรต่างๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ให้ความสำคัญและตระหนักเรื่องนี้มาตลอด

ซึ่งกรณี STARK เป็นเคสที่ผู้ประกอบการเองต้องเอาไปถอดเป็นบทเรียนเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการทำงานร่วมกัน รวมถึงระบบเรื่องของการตรวจสอบต่าง ๆ ซึ่งทำให้เราเห็นข้อพึงระวังหรือข้อคิดในการทำงาน แม้ว่าอาจจะไม่ได้ถูกกำหนดจากกฎระเบียบ แต่จากการปกป้องประโยชน์ของตัวผู้ถือหุ้น แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องส่งเสริมให้ฝ่ายบริหารเข้ามาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเรื่องนี้คงจะต้องทำงานกันอย่างใกล้ชิด ในการให้ความสำคัญกับการเปิดเผยข้อมูล และความถูกต้องของข้อมูล

อย่างไรก็ตามสมาคมพร้อมที่จะให้ความร่วมมือตามที่หน่วยกำกับการดูแลเห็นว่าผู้ประกอบการควรจะต้องมีการปรับปรุงแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลง

สมาคมฯ เร่งตั้งทีมกฎหมายฟ้องร้องอดีตผู้บริหาร STARK

นางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการ บลจ. กรุงไทย (KTAM) ในฐานะนายกสมาคมบริษัทจัดการการลงทุน (AIMC) กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นวันนี้ถือว่าเป็นนิมิตรใหม่ที่ดี ซึ่งในมุมของตัวแทนผู้ลงทุนหรือบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ได้ทำอะไรบ้าง ก็ต้องเรียนอีกครั้งว่าองค์กรได้ทำหน้าที่อย่างเต็มตามฐานะของผู้จัดการกองทุนจะสามารถทำได้ โดยเริ่มจากการคัดหุ้นที่จะเข้ามาลงทุนโดยหลักการ วิธีการและแนวทาง ที่ได้ถูกควบคุมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งหลักการวิธีการและเเนวทางได้มีการใช้ข้อมูลที่ถูกเปิดเผยออกมาเป็นสาธารณะจากหน่วยงานที่ได้รับการรับรองและเป็นหน่วยงานที่ได้รับความเชื่อถือจากอุตสาหกรรม ซึ่งวันที่ลงทุนก็ได้ใช้เกณฑ์ที่มีภายในประกอบกับข้อมูลต่าง ๆ ของอุตสาหกรรมที่นำส่งให้ผู้จัดการกองทุนได้

แต่เมื่อเหตุการณ์เกิดขึ้นมันเป็นเรื่องที่ไม่ได้มีการคาดฝัน ดังนั้นในฐานะตัวแทนผู้ลงทุนก็ได้มีการเข้าไปฟังผู้บริหารของ STARK ว่าวันที่ลงทุนไปเราคาดหวังว่าเงินลงทุนที่เราส่งไปให้กับบริษัทจะเป็นการตอบรับและเป็นการดำเนินงานที่โปร่งใส และดำเนินการอย่างถูกต้องตามที่บริษัทได้สัญญาไว้ เมื่อวันที่มีการเข้าไปคุยกับผู้บริหารสิ่งที่ได้พบก็คือบริษัทไม่สามารถดำเนินการตามที่สัญญาไว้ได้ ดังนั้นทางคณะกรรมการผู้จัดการกองทุนได้มีการพูดคุยกันและมีการ Take Action และลดบทบาทในการเข้าไปเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทเนื่องจากความไม่ชัดเจน ในแนวทางการดำเนินงานของผู้บริหารบริษัท

โดยได้มีการลดบทบาทในการเข้าไปเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท STARK ตามความเหมาะสมของบริษัทที่ดำเนินการ ขณะที่เมื่อเกิดการส่งงบล่าช้าทางสมาคมเองก็มีส่วนที่เป็นคนที่คอยดูเวลาเฝ้าระวังให้กับนักลงทุนในเรื่องของ ESG ซึ่งในกรณีของ STARK ก็ผิดในส่วนของตัว G คือ ธรรมาภิบาล (Governance) ซึ่งหลังจากนั้นคณะกรรมการได้มีคุยกันภายในว่าหลังจากที่ไม่มีการส่งงบนานเกินไปสิ่งที่ต้องทำต่อคืออะไร

หลังจากนั้นเราจึงตัดสินใจว่าจะทำจดหมายไปถึงผู้บริหารให้มีการชี้แจงว่าบริษัทจะทำอย่างไรต่อไป ซึ่งสมาคมก็พยายามทำอย่างดีที่สุดแต่ถามว่าได้ผลลัพธ์เป็นอย่างไรก็ต้องบอกว่าบริษัทมีการเปลี่ยนคณะผู้บริหารด้วย ทั้งนี้หลังจากที่ STARK มีการเปิดเผยงบการเงินในวันที่ 16 มิถุนายนที่ผ่านมา สมาคมก็ได้มีการหารือกันอีกครั้งหนึ่งว่าต่อจากนี้จะทำอะไรบ้าง

“ซึ่งวันนี้ก็มีการได้พูดคุยกันและได้มีความเห็นที่ชัดเจนว่าเราจะทำเราจะดำเนินการในเรื่องของแนวทางต่อไปในการที่จะเรียกร้องความเสียหายด้วยแนวทางการฟ้องร้องต่ออดีตผู้บริหารของ STARK ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการหานักกฎหมายที่จะเข้ามาดูแลในส่วนนี้” นางชวินดากล่าว

โดยจะเห็นว่าจากข่าวที่ออกมาทำให้เกิดความปั่นป่วนในการลงทุน แต่สมาคมยืนยันว่าในฐานะที่เป็นผู้ลงทุนให้กับนักลงทุนเรื่องการกระจายการลงทุนเป็นสิ่งที่เราทำได้ดีที่สุด เพราะถึงแม้ว่าวันนั้นที่เข้าไปลงทุนบริษัทจะมีการนำเสนอตัวเองว่ามีผลกำไรการมีการดำเนินงานที่ดีและเป็นไปตามโจทย์ของการคาดหวังผลตอบแทนให้กับตลาด แต่การลงทุนภายใต้การกำกับดูแลเรามักจะว่าเรามีการกระจายการลงทุนที่เหมาะสม

เพราะฉะนั้นการลงทุนในหุ้น STARK ไม่ใช่การลงทุนก้อนใหญ่ เพราะฉะนั้นที่ผ่านมาถือว่าทางสมาคมทำงานได้อย่างเต็มที่แล้วในการปกป้องนักลงทุนได้อย่างเต็มที่เท่าที่จะสามารถทำได้

ผู้ถือหุ้นกู้มีมติผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ 5 รุ่น 20 ก.ค.นี้

ดร.สมจินต์ ศรไพศาล กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) กล่าวว่า หน้าที่หลักของสมาคมคือการให้ข้อมูลกับนักลงทุนการที่จะเข้าใจสถานการณ์ เข้าใจบทบาทหน้าที่ของผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ร่วมประสานงานกับกลุ่มผู้ออกหุ้นกู้ในการตัดสินใจสิ่งต่าง ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้น แต่ถ้าหากว่าเรามองย้อนสักนิดนึงจะเห็นว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เกิดขึ้นเพราะว่าบริษัทไม่ส่งงบการเงินประจำปี ซึ่งทางด้านตัวแทนผู้ถือหุ้นกู้ก็ได้มีการประชุมเพื่อติดตามเหตุการณ์ในแต่ละครั้ง ซึ่งจะขอให้รายละเอียดเกี่ยวกับการประชุมและการตัดสินใจ ดังนี้

1.วันที่ 28 เมษายน 2566 ที่ประชุมผู้ถือหุ้นกู้ทุกรุ่นมีมติยกเว้นเหตุผิดนัดชำระ มาจากการส่งงบการเงินล่าช้า

2.วันที่ 31 พฤษภาคม 2566 ที่ประชุมผู้ถือหุ้นกู้มีมติยกเว้นเหตุนัดผิดนัดชำระ 3 รุ่น แต่ว่ามีการเรียกชำระโดยพลัน 2 รุ่น รวมเป็นเงินมูลค่า 2,241 ล้านบาท

3.วันที่ 16 มิถุนายน 2566 รายงานการตรวจสอบได้ออกมาพบว่าเป็นรายงานที่ผู้ตรวจสอบบัญชีไม่ได้แสดงความคิดเห็น อย่างไรก็ตามตัวเลขของงบการเงินที่ออกอยู่ในส่วนของที่นักลงทุนติดลบ ซึ่งส่งผลกระทบให้เกิดโอกาสในการ default ขึ้นอีกในลักษณะหนึ่ง ที่เรียกว่า Cross Default อันเนื่องมาจากการขาดส่งดอกเบี้ย 20.7 ล้านบาท

แต่ทั้งนี้เกณฑ์ในข้อกำหนดสิทธิ์ไปว่าถ้าหากมีการผิดนัดชำระเกินกว่า 3% จะเกิดเป็น Cross Default ซึ่งทำให้ตัวแทนผู้ถือหุ้นกู้นั้นได้แจ้งผิดนัดขึ้นมาในวันที่ 20 กรกฎาคม 2566 สำหรับหุ้นกู้ 3 รุ่นที่ได้รับการยกเว้นเหตุผิดนัดชำระในคราวก่อน จำนวน 6,957 ล้านบาท และทำให้ตอนนี้หุ้นกู้ที่เข้าข่ายทั้งสิ้น 9,198 ล้านบาท ระดับหุ้นกู้ทั้ง 5 รุ่น

“อย่างไรก็คงต้องยอมรับว่านี่เป็นเรื่องที่ไม่ได้อยากให้เกิดขึ้น เราว่าคนที่ได้รับความเดือดร้อนในกลุ่มของผู้ที่ลงทุนในหุ้นกู้นั้น ทั้งผู้ลงทุนรายใหญ่ หรือ High Net Worth (HNW) และนักลงทุนสถาบัน รวมทั้งสิน 1,528 รายที่ลงทุนในหุ้นกู้นี้ แต่เชื่อว่าทุก ๆ ฝ่ายจะต้องร่วมมือกันในการทำหน้าที่การในสิ่งเหล่านี้ต่อไป” ดร.สมจินต์ กล่าว

ฉะนั้น ThaiBMA จะให้ความร่วมมือกับภาคส่วนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในตัวแทนผู้ถือหุ้นกู้สำนักงาน ก.ล.ต.ในการให้ข้อมูลกับนักลงทุนผ่านทางช่องทางต่าง ๆ ขององค์กร ถึงข้อมูลต่างๆที่เกี่ยวข้องที่เกี่ยวข้องกับผู้ออกหุ้นกู้ ต้องถึงข้อสงสัยต่าง ๆ เพื่อเป็นการให้ข้อมูลกับนักลงทุนเป็นวงกว้างในอีกทางหนึ่ง

แม้ว่าเหตุการณ์นี้จะลุกลามทำให้เกิดการสูญเสียความเชื่อมั่นในกรณีนี้เชื่อว่าเป็นความบกพร่องของเฉพาะขององค์กรซึ่งอาจจะมีข้อมูลที่เราเริ่มเห็นว่าการกระทำอันไม่ชอบ ดังนั้นการที่ตลาดทุนของเราจะเดินหน้าต่อไปนะสิ่งที่สำคัญคือการมีความตระหนักที่เหมาะสมกับความเสี่ยงการลงทุนและการร่วมมือกันของพวกเราทุก ๆ ฝ่ายในการที่จะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

จัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ลงทุนเสร็จปลายปี’67

นางสิริพร จังตระกูล เลขาธิการสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย (TIA) กล่าวว่า หน้าที่หลักของสมาคมคือการเข้าไปเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทจดทะเบียนทั้ง 800 แห่ง ทั้งในตลาดหลักทรัพย์ฯ และตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) และทำหน้าที่ในโครงการประเมฺินคุณภาพการจัดการประชุมผู้ถือหุ้น (AGM) ผ่านนักลงทุนซึ่งได้ผ่านการอบรมสมาคม หรือว่าทำหน้าที่ในการที่จะไปประเมินซึ่งมีหัวข้อในการประเมิน 2 ข้อหลัก คือ 1.การเปิดเผยข้อมูลตามเกณฑ์การเป็นบริษัทจดทะเบียนการเป็นบริษัทมหาชน และ 2.การให้ความเท่าเทียมกันกับผู้ถือหุ้น ทั้ง 2 ข้อนี้จะเป็นประเด็นหลักในการที่จะนำไปประเมินเรื่องของธรรมาภิบาลของบริษัทจดทะเบียน ซึ่งได้มีการทำมาแล้วตั้งแต่ปี 2549 เลยได้มีการสนับสนุนอย่างดีจากสำนักงาน ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์ฯ มาโดยตลอด

ในโอกาสนี้เมื่อเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวอยากจะเชิญชวนนักลงทุนรายบุคคลสามารถเข้ามารับการอบรมเพื่อเป็นนักลงทุนตื่นรู้ได้ นอกจากนี้สมาคมยังได้มีการจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ลงทุนในหลักทรัพย์ซึ่งกำลังเริ่มก่อตั้งและคาดว่าระยะเวลาที่จะเปิดอย่างเป็นทางการประมาณช่วงเดือนธันวาคมปี 2567

อย่างไรก็ตามจากในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ STARK ครั้งนี้ถามว่าสมาคมได้ทำอะไรบ้าง ซึ่งก็ได้มีการเปิดให้นักลงทุนที่ได้รับความเสียหายจากหุ้นสามัญ มาลงทะเบียนไว้ผ่านเว็บไซต์ของสมาคม ไม่เปิดลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 19-25 มิถุนายนที่ผ่านมา อุดมทั้งสิ้น 7 วันทำการ ซึ่งพบตัวเลขของผู้ที่มาลงทะเบียนกรณีได้รับความเสียหายจากหุ้นสามัญ 1,759 ราย รวมมูลค่าความเสียหาย 4,063 ล้านบาท

ซึ่งหลังจากนี้สิ่งที่สมาคมจะทำต่อมี 3 เรื่องด้วยกันคือ 1.นำข้อมูลความเสียหายจากผู้ถือหุ้นกู้สตาร์คมาตรวจสอบในเบื้องต้นคำนึงถึง พ.ร.บ.คุ้มครองส่วนบุคคล 2.จะทำการให้ความรู้กับผู้ลงทุนในการฟ้องร้องคดีแบบกลุ่มว่าในกระบวนการทางกฎหมายจะต้องดำเนินการอย่างไร และ 3.เป็นตัวกลางในการเปิดโอกาสให้ผู้เสียหายได้มาพบปะแลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกันในการดำเนินการ ซึ่งทั้ง 3 ข้อนี้เราก็จะแจ้งความคืบหน้าไว้ในระบบออนไลน์ของสมาคม

ทั้งนี้ สามารถสรุปมูลค่าความเสียหายจากกรณี STARK รวมทั้งสิ้น 13,261 ล้านบาท แบ่งออกเป็นหุ้นสามัญ 4,063 ล้านบาทรวมกับหุ้นกู้ 9,198 ล้านบาท

ขณะที่มีผู้เสียหายรวมทั้งสิ้น 6,287 ราย แบ่งออกเป็นผู้ถือหุ้นสามัญ 1,759 รายรวมกับผู้ถือหุ้นกู้ 4,528 ราย