มี.ค.ไทยเบฟขายหุ้นกู้ 5 หมื่นล้าน เอกชนแห่ล็อกต้นทุนดันยอด Q1 พุ่ง 2 แสนล.

สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย ชี้สัญญาณไตรมาสแรก เอกชนออกหุ้นกู้ใหม่ทะยาน 2 แสนล้านบาท แซงหน้าจากช่วงเดียวกันปีก่อน เปิดตัวเลขช่วง 2 เดือนกว่า บริษัท 54 ราย ดาหน้าระดมทุนกว่า 1.42 แสนล้าน เร่งล็อกต้นทุน-ลดเสี่ยงกฎใหม่จำกัดกลุ่มไฮเน็ตเวิร์ทมีผล 1 เม.ย. 61 เผย 3 กลุ่มนำโด่ง “อสังหาฯ-ไฟแนนซ์-แบงก์” ไทยเบฟทิ้งทวน Q1 ออกหุ้นกู้ 5 หมื่นล้าน ลุ้นไตรมาส 2/61 ตลาดคึกต่อเนื่องเข้าสู่ช่วงไฮซีซั่น

นางสาวอริยา ติรณะประกิจ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในช่วงไตรมาส 1/2561 (Q1)คาดว่าบริษัทเอกชนจะมีการระดมทุนผ่านการออกตราสารหนี้ระยะยาว (หุ้นกู้อายุมากกว่า 1 ปี) มูลค่ารวมเฉียด 2 แสนล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นราว 13% จากช่วงไตรมาส 1/2560 (YOY) ที่ทำได้เพียง 1.76 แสนล้านบาท หลังจากช่วงที่ผ่านมา (นับตั้งแต่ต้นปีถึง 16 มี.ค. 61) มีการออกหุ้นกู้รวมมูลค่ากว่า 1.42 แสนล้านบาท จากจำนวน 54 บริษัท และถือว่าแซงหน้าจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีมูลค่ารวมเพียง 1.16 แสนล้านบาท จากจำนวน 41 บริษัท

ขณะที่ในช่วง 2 สัปดาห์ที่เหลือของเดือน มี.ค.นี้ คาดว่าบริษัทเอกชนต่าง ๆ จะยังเดินหน้ามาออกหุ้นกู้กันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ ที่มีแผนระดมทุนขนาดใหญ่กว่า 50,000 ล้านบาทภายในสัปดาห์นี้ รวมไปถึงบริษัทขนาดกลาง-เล็กที่เตรียมออกอีกหลายรายมูลค่ารวมหลายพันล้านบาท

“ส่วนสาเหตุที่บริษัทต่าง ๆ หันมาระดมทุนกันคึกคักตั้งแต่ช่วงไตรมาสแรกนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากบริษัทขนาดใหญ่ต้องการระดมทุนเพื่อนำเงินไปรีไฟแนนซ์กับสถาบันการเงินจากการซื้อกิจการ (เทกโอเวอร์) หลายโครงการในช่วงที่ผ่านมา ขณะที่บางบริษัทต้องการปรับโครงสร้างทางการเงิน เพื่อหวังล็อกต้นทุนทางการเงินเอาไว้ ก่อนที่ดอกเบี้ยในประเทศจะปรับขึ้นตามทิศทางของดอกเบี้ยสหรัฐ รวมถึงการระดมทุนที่สอดคล้องกับช่วงเวลาที่ต้องการใช้เงิน” นางสาวอริยากล่าว

Advertisment

สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าการออกหุ้นกู้มากที่สุด 3 อันดับแรกได้แก่ 1.กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ มูลค่ารวม 38,000 ล้านบาท 2.ธุรกิจการเงินและหลักทรัพย์ (ไฟแนนซ์) มูลค่า 28,500 ล้านบาท และ 3.ธนาคารพาณิชย์ (แบงก์) มูลค่า 26,000 ล้านบาท ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีจำนวนผู้ออกมากสุดคือ 1.กลุ่มอสังหาฯ 19 บริษัท รองลงมาคือ 2.ไฟแนนซ์ 14 บริษัท และ 3.กลุ่มพลังงาน 5 บริษัท

ขณะที่บริษัทที่มีมูลค่าการออกหุ้นกู้มากที่สุด 5 อันดับแรกในช่วงที่ผ่านมา ได้แก่ 1.บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) มูลค่ากว่า 17,500 ล้านบาท 2.บมจ.บัตรกรุงไทย (KTC) 15,000 ล้านบาท 3.บมจ.ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) 15,000 ล้านบาท 4.บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) 12,000 ล้านบาท และ 5.บมจ.ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป (TISCO) 8,000 ล้านบาท

นางสาวอริยากล่าวว่า ทิศทางช่วงไตรมาส 2/2561 คาดว่ายังมีการออกหุ้นกู้คึกคักต่อเนื่อง เนื่องจากเป็นช่วงไฮซีซั่นของการออกหุ้นกู้ทุกปี หลังจากที่บริษัทส่วนใหญ่มีการขออนุมัติวงเงินการออกหุ้นกู้ในการประชุมผู้ถือหุ้นสามัญประจำปีเรียบร้อยแล้ว ซึ่งปีที่ผ่านมาบริษัทมียอดออกหุ้นกู้ในงวดดังกล่าวกว่า 2.5 แสนล้านบาท ขณะเดียวกัน ยังพบอีกว่าในช่วงที่ผ่านมา หลายบริษัทมีการเร่งระดมทุนที่เร็วขึ้นตั้งแต่ช่วงไตรมาสแรก เพื่อเลี่ยงกฎเกณฑ์การเสนอขายหุ้นกู้แก่นักลงทุนกลุ่มไฮเน็ตเวิร์ท (นักลงทุนรายใหญ่) ที่จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2561 นี้เป็นต้นไป

“ซึ่งอาจทำให้การออกหุ้นกู้ของบางบริษัทหลังจากนี้ชะงักไปบ้าง แต่คาดว่าจะไม่มาก เพราะที่ผ่านมามีการประชาสัมพันธ์ให้ผู้ออกรับรู้แล้ว อย่างไรก็ตาม การระดมทุนผ่านการออกหุ้นกู้ภาคเอกชนทั้งปีนี้ สมาคมยังคงเป้าหมายที่ระดับ 7 แสนล้านบาท” นางสาวอริยากล่าว

Advertisment

นางสาวสุกัญญา สุขเจริญไกรศรี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เอเชีย แคปปิตอล กรุ๊ป (ACAP) กล่าวว่า ปีนี้บริษัทเตรียมออกหุ้นกู้ประมาณ 2,000 ล้านบาท เพื่อใช้ขยายพอร์ตสินเชื่อของบริษัท และยังมีหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดในปีนี้อยู่จำนวน 2,000 ล้านบาทเช่นกัน ซึ่งปัจจุบันมีต้นทุนทางการเงินอยู่ที่ประมาณ 6.5% โดยบริษัทได้เตรียมเงินไว้ชำระหุ้นกู้ที่ครบกำหนดปีนี้แล้ว