ดร.นิเวศน์ ชี้ภาพใหญ่ SET ในระยะยาว พบหุ้นแย่-ล้มเหลวอีกเป็น 100 บริษัท

ดร.นิเวศน์

ดร.นิเวศน์ กูรูนักลงทุนวีไอ ชี้ภาพใหญ่หุ้นในตลาดในระยะยาว จะมีกิจการที่ดีเยี่ยมจริง ๆ เพียงไม่เกิน 5% หรือแค่ 40-50 ตัว หุ้นที่แย่และในที่สุดล้มเหลวไปเลยอาจจะมีเป็น 100 ตัว ที่เหลืออีก 600-700 ตัว เป็นหุ้นปานกลางให้ผลตอบแทนต่ำ กาง 3 สูตร “กลยุทธ์ลงทุนระยะยาวที่สั้นที่สุด” ทำผลตอบแทนชนะดัชนีตลาด พร้อมแนะทริกเลียนแบบกลยุทธ์บัฟเฟตต์

วันที่ 9 กรกฎาคม 2566 ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร นักลงทุนเน้นคุณค่า (Value Investor) สมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า (ประเทศไทย) กล่าวว่า ภาวะที่ดัชนีตลาดหุ้นตกลงมาอย่างช้า ๆ ต่อเนื่องในช่วงเร็ว ๆ นี้ แต่ราคาหุ้นของบริษัทจดทะเบียนหลายตัวที่เคยเป็นหุ้น “ดารา” ที่ราคาวิ่งขึ้นไปสูงเป็น “จรวด” ก่อนหน้านี้ กลับตกลงมาแรงต่อเนื่องจนแทบเป็น “หายนะ” ทำให้ผมรู้สึกว่า กลยุทธ์การลงทุน “ระยะยาว” ที่จะสร้างความมั่งคั่งให้กับนักลงทุนอย่างมั่นคงจริง ๆ  นั้น คงไม่ใช่การเลือกหุ้นลงทุนในหุ้นที่กำลังวิ่งขึ้นแรงและขายหุ้นก่อนที่มันจะลงไปอย่างหนัก ซึ่งเป็นกลยุทธ์ของ “นักเทรด” หรือ “นักซื้อขายหุ้น”

ไม่ว่าจะเป็นนักเก็งกำไรหรือเป็น Value Investor เพราะผมคิดว่าคนที่ทำแบบนั้นคงจะ “เจ็บตัว” อย่างหนักเพราะขายไม่ทันและขาดทุนไปมาก ซึ่งน่าจะทำให้ผลตอบแทน “ระยะยาวแบบทบต้น” ของเขาลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งที่ก่อนหน้านั้นอาจจะสูงมาก

ผมคิดว่ากลยุทธ์การลงทุนระยะยาวที่จะให้ผลตอบแทนที่ดี มีความมั่นคง และคนลงทุนจะไม่รู้สึกถึงความเจ็บปวดของการขาดทุนอย่างหนักอย่างที่กำลังอาจจะเกิดขึ้นกับนักลงทุนบางคนในช่วงนี้ควรจะเป็นแนวการลงทุนแบบวอเร็น บัฟเฟตต์ ที่ทุกคนยกย่องชื่นชมว่าเป็นสุดยอดของการลงทุนระยะยาว แต่เป็นกลยุทธ์ที่น้อยคนที่จะใช้ หลายคนอาจจะคิดว่ามันยากและเหนือความสามารถของตนที่จะวิเคราะห์หุ้นได้เก่งขนาดนั้น

อย่างไรก็ตาม ผมเองคิดว่าคนจำนวนมากสามารถเลียนแบบกลยุทธ์ของบัฟเฟตต์ที่จะทำให้สามารถทำผลตอบแทนระยะยาวที่ดีขึ้นมากเมื่อเทียบกับสิ่งที่กำลังทำอยู่ และต่อไปนี้ก็คือสิ่งที่ผมคิดว่าเป็นหลักคิดและวิธีสำหรับการลงทุนระยะยาวที่น่าจะ “ง่ายและสั้นที่สุด” และก็เป็นกลยุทธ์ที่ผมเองใช้มายาวนานกว่า 20 ปีแล้ว

Advertisment

หลักสำคัญข้อแรกก็คือ ต้องพยายามหลีกเลี่ยง “หายนะ” ของการลงทุน ซึ่งก็คือการหลีกเลี่ยงการลงทุนแต่ละครั้งในหุ้นแต่ละตัวที่มีความเสี่ยงสูงเกินไป อาจจะเป็นเพราะตัวธุรกิจที่เป็นสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีความผันผวนสูง และขณะที่ซื้อหุ้นนั้นราคาสินค้าอยู่ในภาวะสูงผิดปกติ หรือลงทุนในหุ้นที่ราคาหุ้นวิ่งขึ้นไปเร็วและสูงกว่าปกติมาก เช่น หุ้นขึ้นไปแล้วเป็น 100% หรือหลายเท่าตัวแล้วในช่วงเวลาอันสั้น เป็นต้น

การกระจายความเสี่ยงของการลงทุนโดยเฉพาะการถือหุ้นจำนวนไม่น้อยกว่า 5-6 ตัว ที่เป็นหุ้นหลัก การไม่ถือหุ้นตัวใดตัวหนึ่งเกิน 40-50% ของพอร์ต และการไม่ใช้เงินกู้หรือมาร์จิ้นในการซื้อหุ้นสูงเกินกว่า 20-30% ของพอร์ต จะเป็นการลดโอกาสที่มูลค่าพอร์ตลงทุนจะกลายเป็น “หายนะ” ได้ เมื่อเกิดสถานการณ์ที่เลวร้าย

จากประสบการณ์ผมพบว่าตลาดหุ้นไทยนั้นประสบกับสภาวะเลวร้ายบ่อยมาก และถ้าเราลงทุนต่อเนื่องยาวนาน โอกาสที่จะประสบกับภาวะวิกฤตหุ้นก็สูงมาก แต่ถ้าเรา “เอาตัวรอดได้” เช่นในช่วงวิกฤตที่ตลาดหุ้นตกลงมา 30-40% ขึ้นไป พอร์ตเราก็จะตกลงมาแค่ 10-20% นั่นก็จะทำให้พอร์ตเราให้ผลตอบแทนระยะยาวที่ดีและดีกว่าตลาดมากได้ ซึ่งนั่นก็จะนำเราไปสู่ความมั่งคั่งได้อย่างมั่นคงในระยะยาวอย่างน้อย 10 ปีขึ้นไปอย่างแน่นอน

หลักสำคัญข้อ 2 ก็คือ ลงทุนในหุ้นของกิจการที่ดีและจะดีต่อเนื่องไปอีกอย่างน้อย 5-6 ปีขึ้นไป  ซึ่งนั่นก็หมายความว่าบริษัทจะต้องมีความสามารถในการแข่งขันและถ้าจะดีขึ้นไปอีกก็คือ มีความได้เปรียบในการแข่งขันที่ยั่งยืนที่คู่แข่งไม่สามารถสร้างได้อย่างน้อยในอีก 5-10 ปีข้างหน้า  การประเมินเรื่องนี้จะต้องประเมินอย่างระมัดระวังและแน่ใจจริง ๆ ว่าบริษัทคู่แข่งทั้งปัจจุบันและอนาคตไม่สามารถสู้ได้และก็ไม่สามารถเลียนแบบได้อย่างน้อยในอีก 5-10 ปีข้างหน้า

Advertisment

ความผิดพลาดในการประเมินที่มักจะเกิดขึ้นก็คือ นักลงทุนมักจะไปดูการเติบโตของยอดขายหรือกำไรว่าเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความสามารถของบริษัทเหนือคู่แข่ง  แต่นี่อาจจะเป็นเรื่องชั่วคราวที่อาจจะเกิดจากกลยุทธ์ทางการตลาดที่ถูกต้องในภาวะนั้นที่คู่แข่งอาจจะยังไม่ตระหนักหรือตามไม่ทัน  แต่ในไม่ช้าก็อาจจะเลียนแบบหรือใช้กลยุทธ์แบบนั้นได้ ในกรณีแบบนี้ก็ไม่เข้าข่ายในเรื่องของความสามารถในการแข่งขันเหนือคู่แข่งอย่างยั่งยืน  และถ้าเราเข้าไปลงทุนก็อาจจะเกิดความผิดพลาดได้

สิ่งสำคัญในข้อนี้อีกเรื่องหนึ่งก็คือ ราคาที่ซื้อหุ้นจะต้องถูกหรือเหมาะสม ซึ่งนี่ก็เป็นประเด็นที่จะต้องระมัดระวังว่าเท่าไรถึงจะถูกหรือเหมาะสม ค่า PE จากกำไรปกติที่ไม่เกิน 25 เท่า อาจจะเป็นตัวเลขหนึ่งที่จะใช้ อีกตัวเลขหนึ่งที่ผมเองใช้มากกว่าก็คือ Market Cap หรือมูลค่าตลาดของหุ้น โดยเฉพาะในกรณีที่หุ้นยังมีขนาดไม่ใหญ่มาก เช่น เป็นกิจการที่เพิ่งเริ่มต้นไม่นานและกำไรยังไม่สูง แต่ศักยภาพที่จะโตของบริษัทอาจจะสูงมาก เช่น จะขยายไปทั่วประเทศจากที่เคยอยู่เฉพาะในเมืองใหญ่ เป็นต้น

ในกรณีแบบนั้น เราก็ต้องวิเคราะห์ไปยาวนานว่าการเติบโตของยอดขายในที่สุดจะเป็นเท่าไรและกำไรควรจะมากขนาดไหนและสุดท้ายค่า P/E เป็นเท่าไร ซึ่งก็จะทำให้รู้ว่า Market Cap ควรจะมีขนาดไหน

ข้อสุดท้ายก็คือ เมื่อได้หุ้นที่ดีในระยะยาวมากหรือเป็นแนว “ซุปเปอร์สต๊อก” ในราคาถูกหรือยุติธรรมแล้ว ก็ถือหุ้นไว้ให้ยาวที่สุดหรือเรียกว่า “ถือหุ้นตลอดไป” ไม่ขายเป็น 10 ปี ขึ้นไป ไม่ว่าในระหว่างนั้นราคาจะขึ้นหรือลง ซึ่งก็แน่นอนว่าในช่วงเวลาที่ผ่านไป หุ้น 5-10 ตัวที่ “ดีเยี่ยม” ที่ถืออยู่นั้นก็จะมีบางตัวที่มีราคาขึ้นไป บางตัวก็มากกว่าปกติ และก็มีบางตัวที่แย่หรือแย่กว่าปกติ แต่ตราบใดที่พื้นฐานของบริษัทก็ไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ เราก็ไม่ต้องทำอะไร อย่าพยายามขายตัวที่กำไรและเก็บตัวที่ขาดทุน หรือขายตัวที่ขาดทุนและเก็บตัวที่กำไรไว้

สิ่งที่เราต้องดูก็คือ “พอร์ตโดยรวม” ว่าในแต่ละช่วงเวลาเช่น ทุกเดือนหรือทุก 3 เดือน พอร์ตมีกำไรหรือขาดทุนเท่าไร ถ้าเราเลือกหุ้นดีแล้ว โอกาสก็เป็นไปได้ว่าผลตอบแทนของพอร์ตก็จะดูดีกว่าดัชนีหุ้น-โดยเฉพาะในช่วงตลาดหุ้นลง ส่วนในช่วงตลาดหุ้นดี พอร์ตเราก็มักจะดีอยู่แล้ว แต่ถ้าแพ้ตลาดก็ไม่เป็นไร

ประเด็นของหลักการข้อนี้ที่ต้องคำนึงถึงก็คือ เรามักจะไม่ค่อยได้ทำอะไรกับหุ้นเลย โดยเฉพาะถ้าเราไม่ได้บริหารกองทุนรวมที่มีเงินใหม่เข้ามาเติมอยู่เรื่อย ๆ ดูเหมือนว่าเราจะต้องอยู่เฉย ๆ เป็นส่วนใหญ่ในช่วงที่ยังต้องศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับหุ้น ก็อาจจะเป็นเวลาที่ต้องอ่านหนังสือการลงทุน อย่างไรก็ตามถึงจุดหนึ่งเราก็อาจจะเบื่อแล้วเพราะหนังสือเกี่ยวกับการลงทุนก็จะเริ่มซ้ำถ้าเราอ่านมามากพอ

การศึกษาติดตามหุ้นที่ลงทุนอยู่แล้ว หรือการหาหุ้นใหม่ ๆ เพื่อการลงทุนอาจจะเป็นเรื่องที่จำเป็นสำหรับนักลงทุนที่เทรดหุ้นแม้ว่าจะไม่ได้เทรดบ่อย แต่สำหรับคนที่ลงทุนระยะยาวจริง ๆ อย่างผมก็ใช้เวลาไม่มาก เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ ตลาดหุ้นไทยมีหุ้นที่เข้าข่ายหุ้นดีเลิศตัวใหม่ ๆ  ก็มีน้อยมาก

ดังนั้น เวลาของผมส่วนใหญ่จึงใช้กับการศึกษาความรู้ใหม่ ๆ เช่น เรื่องของยีนมนุษย์ ประวัติศาสตร์ การเมืองหรือความรู้ต่าง ๆ ทางสังคมที่อาจจะมีประโยชน์ต่อการลงทุนอย่างที่เราอาจจะไม่รู้ตัว แต่โดยรวมแล้ว เดี๋ยวนี้ผมรู้สึกว่าตนเองลงทุนแบบ “ขี้เกียจ” มาก ว่าที่จริง ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ผมแทบไม่ได้ทำอะไรกับหุ้นที่ถือมายาวนานแต่ละตัวเกิน 5 ปีขึ้นไป ส่วนใหญ่ถือมากว่า 10 ปีแล้ว โดยที่แทบไม่ได้ซื้อหรือขายในกรณีของหุ้นไทย

คำถามที่อาจจะเกิดขึ้นก็คือ ถ้าเราขยันและเทรดหุ้นบ้างจะไม่ดีกว่าหรือ หุ้นแต่ละตัวอาจจะมีวงจรชีวิตที่โตเร็วและโตช้าหรือกำลังตกต่ำลง ทำไมเราจะไม่ขายตัวที่มี “ผลตอบแทนต่อความเสี่ยง” หรือ “Risk Reward Ratio” ต่ำ และซื้อตัวที่ให้ผลตอบแทนต่อความเสี่ยงที่สูงกว่า คำตอบของผมก็คือ เราคงไม่สามารถประเมินได้ละเอียดแบบนั้น ดังนั้นก็ไม่ควรทำ

สุดท้ายก็คือ เราแน่ใจอย่างไรว่ากลยุทธ์ถือหุ้นตลอดไปนั้น ดีกว่าการเทรดหุ้น คำตอบของผมก็คือ ถ้ามองแบบภาพใหญ่ว่าหุ้นในตลาดนั้นในระยะยาว จะมีกิจการที่ดีเยี่ยมจริง ๆ เพียงไม่เกิน 5% หรือบางทีอาจจะบอกว่ามีแค่ประมาณ 40-50 ตัว หุ้นที่แย่และในที่สุดก็ล้มเหลวไปเลยอาจจะมีเป็น 100 ตัว ที่เหลืออีก 600-700 ตัวเป็นหุ้นปานกลางที่ให้ผลตอบแทนต่ำ

ดังนั้นถ้าเราเลือกหุ้นที่คาดว่าจะดีแล้วเป็นส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมด โอกาสก็คือ เราก็จะสามารถเอาชนะดัชนีตลาดในระยะยาว แม้ว่าหุ้นบางตัวเราจะพลาดและขาดทุนหนักไปเลยก็ตาม