ดอลลาร์แข็งค่า ตลาดจับตาผลประชุมเฟด

ดอลลาร์สหรัฐ

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า ตลาดจับตาผลประชุมเฟด 26-27 ก.ค.นี้ คาดปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ขณะที่ปัจจัยในประเทศ ปัญหาการโหวตนายกรัฐมนตรีต้องรอศาลรัฐธรรมนูญตัดสินปมการดำเนินการของรัฐสภาเมื่อ 19 ก.ค. เป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญหรือไม่

วันที่ 25 กรกฎาคม 2566 ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 25 กรกฎาคม 2566 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (25/7) ที่ระดับ 34.56/58 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (24/7) ที่ระดับ 34.46/47 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

โดยภาพรวมเงินบาทวันนี้ยังคงปรับตัวในทิศทางอ่อนค่าในกรอบเดิม แม้จะมีจังหวะย่อแข็งค่าขึ้นระหว่างวันจากแรงขายทำกำไรระยะสั้นอยู่บ้างก็ตาม ขณะที่ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับทิศทางการเมืองไทย ภายหลังประธานสภาแจ้งยกเลิกการประชุมสภาในวันที่ 26-27 ก.ค. ทำให้การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 3 ถูกเลื่อนออกไปด้วย ส่งผลเชิงลบต่อการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท

นอกจากนี้ เงินบาทยังได้รับแรงกดดันเพิ่มเติม จากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ ก่อนการประกาศผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) โดยดัชนีดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงินยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.07% อยู่ที่ระดับ 101.42 หลังดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) เดือน ก.ค. ยังคงอยู่สูงกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ว่า ภาคธุรกิจของสหรัฐยังคงมีการขยายตัว โดยได้ขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 6

อย่างไรก็ดี ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและภาคบริการเบื้องต้นของสหรัฐ ปรับตัวลงสู่ระดับ 52.0 ในเดือน ก.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 5 เดือน จากระดับ 53.2 ในเดือน มิ.ย. โดยดัชนี PMI ถูกกดดันจากการชะลอตัวของคำสั่งซื้อใหม่และการจ้างงาน ขณะที่ความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจร่วงลงแตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ต้นปี ดัชนี PMI ภาคการผลิตเบื้องต้น ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 49.0 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 3 เดือน จากระดับ 46. ในเดือน มิ.ย. ในส่วนดัชนี PMI ภาคบริการเบื้องต้น ปรับตัวลงสู่ระดับ 52.4 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 5 เดือน จากระดับ 54.4 ในเดือน มิ.ย.

Advertisment

นักลงทุนคาดเฟดขึ้นดอกเบี้ย 0.25%

ทั้งนี้ ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะจัดการประชุมในวันที่ 25-26 ก.ค. โดยล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 99.8% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.25-5.50% ในเดือน ก.ค. และให้น้ำหนักเพียง 0.2% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.00-5.25%

นอกจากนี้ ตลาดมองว่า เฟดใกล้ยุติวงจรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย หลังการเปิดเผยยอดค้าปลีก (Retail Sales) ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) และดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ที่ต่ำกว่าคาด ทำให้นักลงทุนคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนนี้เป็นครั้งสุดท้ายในปีนี้ และจะคงอัตราดอกเบี้ยในช่วงที่เหลือของปี ก่อนที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีหน้า

ทั้งนี้ นักลงทุนให้น้ำหนัก 39.9% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.00-5.25% ในการประชุมวันที่ 19-20 มี.ค. 2567 โดยให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นจากระดับ 32.9% เมื่อต้นเดือนที่แล้ว

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ที่ประชุมผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติเห็นชอบให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการดำเนินการของรัฐสภาเมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2566 ที่มีมติไม่ให้เสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ให้รัฐสภาเห็นชอบแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีถือเป็น “ญัตติ” ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 ข้อ 41 นั้นเป็นการกระทำขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ พร้อมทั้งขอให้มีคำสั่งชะลอการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีไว้ก่อน

Advertisment

นอกจากนี้ สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจไทยนั้น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เผยดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือน มิ.ย.อยู่ที่ระดับ 94.1 ปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 92.5 ในเดือน พ.ค. ซึ่งเป็นปรับตัวเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 3 เดือน โดยทุกองค์ประกอบของค่าดัชนี ปรับเพิ่มขึ้นหลังได้รับแรงหนุนจากภาคท่องเที่ยว

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 34.44-34.60 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 34.50/52 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ECB จ่อยุติขึ้นดอกเบี้ยตามเฟด

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (25/7) ที่ระดับ 1.1070/74 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (24/7) ที่ระดับ 1.1080/84 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร หลังดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและบริการเบื้องต้นของยูโรโซน ร่วงลงสู่ระดับ 48.9 ในเดือนกรกฎาคม ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 8 เดือน ส่งผลให้ตลาดคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะยุติการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในวัฏจักรปัจจุบันตามเฟด

สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจยุโรปที่มีการเปิดเผยในวันนี้นั้น สถาบัน Ifo ของเยอรมนีเปิดเผย ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจเดือน ก.ค.ปรับตัวลดลงอยู่ที่ 87.3 ต่ำกว่าที่คาดการณ์ว่าจะลงมาอยู่ที่ 88.0 จาก 88.6 ในเดือน มิ.ย. ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1051-1.1086 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1065/67 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

ส่วนการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (25/7) ที่ระดับ 141.39/40 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (24/7) ที่ระดับ 141.24/25 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น จากตลาดคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในสัปดาห์นี้ (25-26 ก.ค.)

แม้ว่าตลาดจะคาดการณ์ว่าธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) อาจจะปรับนโยบายการเงินในการประชุมเดือนนี้ หลังจากญี่ปุ่นเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานพุ่งขึ้น 3.3% ในเดือนมิถุนายน เมื่อเทียบรายปี สูงกว่าเป้าหมายของ BOJ ที่ระดับ 2% ติดต่อกัน

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 141.19-141.62 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 141.32/33 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญในวันนี้ และพรุ่งนี้ ได้แก่ ราคาบ้านเดือนพฤษภาคม จากเอสแอนด์พี/เคส-ซิลเลอร์ของสหรัฐ (25/7), ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนกรกฎาคม Conference Board ของสหรัฐ, ยอดขายบ้านใหม่เดือนมิถุนายนของสหรัฐ (EIA) (26/7) สต็อกน้ำมันรายสัปดาห์จากสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐ (EIA) (26/7) และธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประชุมนโยบายการเงินและแถลงมติอัตราดอกเบี้ย (26/7)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -10.70/-10.50 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -12.40/11.00 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ