ก.ล.ต.เปิดเฮียริ่งปรับเกณฑ์ออกตราสารหนี้-ระยะเวลานำส่งงบการเงินตลาด LiVEx

ก.ล.ต.

ก.ล.ต.เปิดรับฟังความคิดเห็นต่อการปรับปรุงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการออกตราสารหนี้และระยะเวลาในการนำส่งงบการเงินของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไลฟ์เอ็กซ์เชนจ์ (LiVEx) ตั้งแต่วันนี้-14 สิงหาคม 2566

วันที่ 31 กรกฎาคม 2566 สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดรับฟังความคิดเห็นต่อการปรับปรุงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการออกตราสารหนี้ของบริษัทที่จดทะเบียนใน LiVEx และระยะเวลาในการนำส่งงบการเงินสำหรับบริษัทที่จดทะเบียนใน LiVEx เพื่อให้การกำกับดูแลผู้ออกตราสารหนี้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น

ก.ล.ต.จึงเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อการปรับปรุงหลักเกณฑ์เพิ่มเติมเกี่ยวกับการออกและเสนอขายตราสารหนี้ ของบริษัทที่จดทะเบียน* ในตลาดหลักทรัพย์ไลฟ์เอ็กซ์เชนจ์ (LiVEx) เช่น การกำหนดหลักเกณฑ์การขออนุญาตออกและเสนอขายตราสารหนี้ เช่นเดียวกับผู้ออกที่ไม่ใช่บริษัทจดทะเบียน (non-listed company) เป็นต้น รวมถึงหน้าที่ในการจัดทำและส่งรายงานที่แสดงฐานะการเงินและผลการดำเนินงานภายหลังการเสนอขาย เพื่อให้เหมาะสมกับการกำกับดูแลยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ก.ล.ต.ได้เสนอปรับปรุงระยะเวลาในการนำส่งข้อมูลงบการเงินประจำงวด 6 เดือนแรกของปีบัญชี และงบการเงินประจำรอบปีบัญชีของบริษัทที่จดทะเบียนใน LiVEx โดยให้นำส่งภายใน 3 เดือนนับตั้งแต่วันสิ้นสุดรอบระยะเวลาบัญชี เพื่อให้สอดคล้องกับการกำหนดระยะเวลาในการนำส่งรายงานอื่น ๆ ตามมาตรา 56 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535

ทั้งนี้ ก.ล.ต.ได้เผยแพร่เอกสารรับฟังความคิดเห็นดังกล่าวที่เว็บไซต์ ก.ล.ต. https://www.sec.or.th/TH/Pages/PB_Detail.aspx?SECID=923 ผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้สนใจสามารถแสดงความคิดเห็นได้ที่เว็บไซต์ หรือทาง e-mail : [email protected] จนถึงวันที่ 14 สิงหาคม 2566

หมายเหตุ : ปัจจุบันบริษัทที่จดทะเบียนในรูปแบบบริษัทมหาชนจำกัด สามารถออกและเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ และนำหุ้นดังกล่าวเข้าจดทะเบียนใน LiVEx โดยมีหลักเกณฑ์การพิจารณาเรื่องคุณสมบัติของบริษัท ข้อมูลที่เปิดเผยในแบบแสดงรายการข้อมูล (filing) และหน้าที่ภายหลังการเสนอขายที่มีความผ่อนปรนกว่ากรณีการเสนอขายหุ้นทั่วไป เพื่อนำหุ้นเข้าจดทะเบียนใน SET และ mai

รวมถึงไม่ต้องยื่นคำขออนุญาตต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ดังนั้น การขออนุญาตออกและเสนอขายตราสารหนี้สำหรับผู้ออกที่จดทะเบียนใน LiVEx จึงควรใช้หลักเกณฑ์ที่เข้มงวดขึ้น เช่นเดียวกับผู้ออกที่ไม่ใช่บริษัทจดทะเบียน