ดอลลาร์แข็งค่า หลังตลาดคาดเฟดจะคงดอกเบี้ยสูงไปอีกระยะหนึ่ง

ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่า
ภาพ : pixabay

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเทียบกับทุกสกุล หลังตลาดคาดว่าเฟดจะคงดอกเบี้ยสูงไปอีกระยะหนึ่ง ผลสำรวจของ CME Group ระบุว่านักลงทุนให้น้ำหนัก 93% ที่้เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 19-20 ก.ย.นี้ และให้น้ำหนัก 48.8% ที่เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมวันที่ 1 พ.ย

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า ภาวะการณ์เคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันที่ 4-8 ก.ย. 2566 ในช่วงต้นสัปดาห์ ดัชนีดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าเมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลหลัก หลังจากกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรในเดือน ส.ค. เพิ่มขึ้น 187,000 ตำแหน่ง มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 169,000 ตำแหน่ง หลังจากที่เพิ่มขึ้น 157,000 ตำแหน่งในเดือน ก.ค.

ส่วนค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 0.2% เมื่อเทียบรายเดือน ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 0.3% หลังจากที่เพิ่มขึ้น 0.4% ในเดือน ก.ค. และเมื่อเทียบรายปี ค่าจ้างรายชั่วโมง โดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 4.3% หลังจากที่เพิ่มขึ้น 4.4% ในเดือนก่อนหน้า

ตลาดแรงงานสหรัฐแข็งแกร่ง

โดยอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน ก.พ.ปีที่แล้วที่ระดับ 3.8% สูงกว่าในเดือนก่อนหน้าและตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับ 3.5% แต่อัตราการว่างงานยังคงต่ำกว่าการประมาณการล่าสุดในไตรมาส 4 ของธนาคารกลางสหรัฐ ที่ระดับ 4.1% และอัตราการมีส่วนร่วมของภาคแรงงานเพิ่มขึ้นเป็น 62.8% สูงสุดตั้งแต่เดือน ก.พ. ปี 2020 และพุ่งขึ้นจาก 62.6% ในเดือนก่อนหน้า

นอกจากนี้สถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เปิดเผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อในภาคอุตสาหกรรมเดือน ส.ค. หดตัวลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 10 สู่ระดับ 47.6 แต่มากกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 46.9 และมากกว่าในเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 46.4

Advertisment

ซึ่งนางลอเรตตา เมสเตอร์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาคลีฟแลนด์ ให้ความเห็นว่าตลาดแรงงานสหรัฐยังคงแข็งแกร่งและมีสัญญาณในการปรับตัวเข้าสู่ภาวะสมดุลมากยิ่งขึ้น ผ่านการจ้างงานที่ชะลอตัวลงและตำแหน่งงานเปิดใหม่ที่ลดลง แต่ในภาพรวมอัตราการว่างงานที่ระดับ 3.8% ยังถือเป็นระดับต่ำอยู่

อย่างไรก็ตามการตัดสินใจขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ ในอนาคตอาจต้องพิจารณาถึงสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ภาคธนาคาร และภาคการเงินอย่างใกล้ชิดต่อไป เพื่อให้แนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อสอดคล้องกับเป้าหมาย

คาดเฟดคงดอกเบี้ยในการประชุม 19-20 ก.ย.

ผลสำรวจของ CME Group ระบุว่า หลังสหรัฐเปิดเผยดัชนี ISM ภาคบริการ นักลงทุนให้น้ำหนัก 48.8% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมวันที่ 1 พ.ย. และให้น้ำหนัก 93% ที่้เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 19-20 ก.ย.นี้

นอกจากนี้ นางคริสตาลินา กอร์เกียวา กรรมการจัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงอย่างมีนัยยะ โดยได้รับแรงกดดันจากทั้งสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ภาวะเงินเฟ้อสูง รวมทั้งดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงยาวนานกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ โดยเศรษฐกิจโลกอาจเติบโตประมาณ 3% ในระยะกลาง ถือเป็นการเติบโตต่ำสุดในรอบหลายทศวรรษ โดยกลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่นั้นมีเพียงสหรัฐ ที่ฟื้นตัวอย่างเต็มที่

Advertisment

ในขณะที่เศรษฐกิจยูโรโซนเติบโตต่ำกว่าศักยภาพประมาณ 2% ส่วนเศรษฐกิจจีน ตลาดเกิดใหม่กับประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ ต่ำกว่าศักยภาพอยู่ประมาณ 5% ทั้งนี้เศรษฐกิจโลกยังคงฟื้นตัวต่อเนื่อง แม้ว่าเป็นการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป นอกจากนี้เศรษฐกิจอาเซียนยังมีแนวโน้มขยายตัวประมาณ 4.5% ในปี 2566 และปี 2567 หรืออาจเพิ่มขึ้นกว่าสองเท่า โดยเป็นผลจากการปรับเปลี่ยนและดำเนินนโยบายทางการเงินของธนาคารในกลุ่มประเทศดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัจจัยที่ต้องติดตามใกล้ชิด โดยเฉพาะผลกระทบจากภาวะติดขัดด้านห่วงโซ่อุปทานและอุปสงค์ต่างประเทศที่อ่อนแอ สาเหตุมาจากความวิตกเกี่ยวกับสภาวะเศรษฐกิจโลก โดยการเติบโตในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา อยู่ที่ระดับเพียงครึ่งหนึ่งของตัวเลขคาดการณ์ก่อเกิดการระบาดของโรค Covid-19 ซึ่งกลุ่มประเทศอาเซียนสูญเสียผลผลิตประมาณ 8% ของ GDP

ตั้งรัฐบาลใหม่ ส่งผลเชิงบวกต่อนักลงทุน

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ค่าเงินบาทเปิดตลาดวันจันทร์ (4/9) ที่ระดับ 35.10/11 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (1/9) ที่ระดับ 35.00/01 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ วันเสาร์ที่ผ่านมา (2/9) เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่อย่างเป็นทางการ โดยนายเศรษฐา ทวีสิน ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีควบตำแหน่ง รมว.คลัง ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล ดำรงตำแหน่ง รมว.มหาดไทย และนายสุทิน คลังแสง ดำรงตำแหน่ง รมว.กลาโหม

ส่วนในกระทรวงอื่น ๆ เป็นไปตามโผที่พรรคเพื่อไทยแกนนำรัฐบาล ได้เปิดเผยมาก่อนหน้านี้ ซึ่งการมีเสถียรภาพทางด้านการเมืองอาจส่งผลให้เกิดการตอบสนองในเชิงบวกของนักลงทุนต่อไป

อย่างไรก็ดีค่าเงินบาทได้รับแรงกดดันต่อเนื่องในวันอังคาร (5/9) หลังไฉซิน/เอสแอนด์พี โกลบอลเปิดเผยผลสำรวจ ระบุว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการเดือน ส.ค. ของจีนอยู่ที่ระดับ 51.8 ลดลงจากระดับ 54.1 ในเดือน ก.ค. โดยดัชนี PMI เดือน ส.ค.ถือเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 8 เดือนหรือนับตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2565 เนื่องจากการะชะลอตัวของอุปสงค์ยังคงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจไม่สามารถทำให้การอุปโภคบริโภคฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญ

อย่างไรก็ดี ดัชนี PMI อยู่เหนือระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ว่า ภาคบริการของจีนยังมีการขยายตัว นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ไทยเผยดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) ในเดือน ส.ค.เพิ่มขึ้น 0.88% จากช่วงเดียวกันปีก่อน เทียบกับที่โพลล์รอยเตอร์คาดไว้เพิ่มขึ้น 0.61% ขณะที่เมื่อเทียบเดือนก่อนหน้า CPI ในเดือน ส.ค.เพิ่มขึ้น 0.55% ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) ซึ่งไม่รวมหมวดอาหารสดและพลังงาน ใน ส.ค.เพิ่มขึ้น 0.79% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และเพิ่มขึ้น 0.02% จากเดือนก่อนหน้า ขณะที่โพลล์คาดไว้เพิ่มขึ้น 0.82% เมื่อเทียบรายปี

ทั้งนี้เงินเฟ้อในเดือน ส.ค.อยู่ต่ำกว่าระดับ 1% ซึ่งเป็นกรอบล่างของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 แต่สูงกว่าที่โพลล์คาด โดยปัจจัยสำคัญมาจากการปรับตัวสูงขึ้นของสินค้าในกลุ่มพลังงานเป็นหลัก ขณะที่กลุ่มอาหารสดราคาทรงตัว นอกจากนี้ นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยในงานสัมมนาวิชาการประจำปี 2566 ของสำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ธปท.สภอ.) ว่า เศรษฐกิจไทยมีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง แม้ว่า GDP ไตรมาสที่ 2 ปี 2566 ออกมาต่ำกว่าคาดการณ์ ตามอุปสงค์ต่างประเทศที่ปรับตัวลดลง

ทั้งนี้ ธปท.คาดว่าจะปรับประมาณการเศรษฐกิจลดลง เนื่องจากภาคการผลิตและการส่งออกสินค้าฟื้นตัวช้ากว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ สอดคล้องกับการชะลอของเศรษฐกิจจีน และ Global Electronic Cycle สำหรับภาคการท่องเที่ยว ภาพรวมยังปรับตัวดีขึ้น แม้ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจีนจะฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด นอกจากนี้ การบริโภคภาคเอกชน รายได้ และการจ้างงานนอกภาคเกษตรยังอยู่ในทิศทางเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเช่นเดียวกัน

ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 35.05-35.65 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (8/9) ที่ระดับ 35.53/54 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (4/9) ที่ระดับ 1.0776/78 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (1/9) ที่ระดับ 1.0845/47 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยในวันศุกร์ที่ผ่านมา (1/9) S&P Global รายงานว่าดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อในภาคอุตสาหกรรมของยุโรปประจำเดือนสิงหาคมเพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 3 เดือนที่ 43.5 จากระดับ 42.7 ในเดือนก่อนหน้า แต่ต่ำกว่าข้อมูลขั้นต้นที่ระดับ 43.7

นอกจากนี้สำนักงานสถิติเยอรมนีเปิดเผยในวันนี้ (4/9) ว่า ยอดส่งออกของเยอรมนีลดลง 0.9% ในเดือน ก.ค. ส่วนการนำเข้าเพิ่มขึ้น 1.4% ในเดือน ก.ค.โดยเยอรมนียอดเกินดุลการค้า 1.59 หมื่นล้านยูโร ในเดือน ก.ค.ลดลงจากระดับ 1.87 หมื่นล้านยูโรในเดือน มิ.ย. สำหรับยอดส่งออกจากเยอรมนีไปยังกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป (EU) เพิ่มขึ้น 0.5% ในเดือน ก.ค. แต่การส่งออกไปยังประเทศอื่น ๆ นอกยุโรปลดลง 2.5% เมื่อเทียบรายเดือน

ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์นี้ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0685-1.0808 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (8/9) ที่ระดับ 1.0699/1.0703 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน เปิดตลาดวันจันทร์ (4/9) ที่ระดับ 146.14/15 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (1/9) ที่ระดับ 145.39/40 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ตามการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินเยนอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินของ 10 ประเทศคู่ค้าในปีนี้ เนื่องจาก BOJ ยังคงยึดมั่นในนโยบายผ่อนคลายการเงิน ในขณะที่ธนาคารกลางของประเทศอื่น ๆ พากันปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดย BOI ตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ -0.1% นับตั้งแต่ปี 2559 ขณะที่อัตราดอกเบี้ยของประเทศคู่ค้าอย่างสหรัฐอยู่ที่ระดับ 5.5% ในขณะนี้

ส่วนในสัปดาห์นี้เงินเยนอ่อนค่าลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 10 เดือน ส่งผลให้นายมาซาโตะ คันตะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังญี่ปุ่นออกมาเตือนว่า รัฐบาลกำลังเตรียมใช้มาตรการต่าง ๆ ที่จำเป็น หากเงินเยนทรุดตัวลงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าเงินเยนอาจจะทรุดตัวลงแตะระดับ 152 เยนต่อดอลลาร์ในปีนี้ และแตะระดับ 155 เยนต่อดอลลาร์ในปี 2567 และต่อให้ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ยกเลิกนโยบายควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (YCC) ในปีนี้ ก็จะไม่ช่วยให้เงินเยนฟื้นตัวมากนักในระยะยาว ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 146.00-147.87 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (8/9) ที่ระดับ 147.36/39 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ