ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า กังวลเศรษฐกิจโลกชะลอตัว

ดอลลาร์แข็งค่าในช่วงต้นสัปดาห์
ภาพ : pixabay

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า กังวลเศรษฐกิจโลกชะลอตัว หลัง IMF ออกมาเปิดเผยมีแรงกดดัน ทั้งสงครามรัสเซียและยูเครน ภาวะเงินเฟ้อสูง รวมทั้งดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงยาวนาน

วันที่ 6 กันยายน 2566 ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 6 กันยายน 2566 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (6/9) ที่ระดับ 35.48/49 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (5/9) ที่ระดับ 35.46/48 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ตามการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ ในฐานะสกุลเงินที่ปลอดภัย

หลังจากนางคริสตาลินา กอร์เกียวา กรรมการจัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงอย่างมีนัยยะ โดยได้รับแรงกดดันจากทั้งสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ภาวะเงินเฟ้อสูง รวมทั้งดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงยาวนานกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ โดยเศรษฐกิจโลกอาจเติบโตประมาณ 3% ในระยะกลาง ถือเป็นการเติบโตต่ำสุดในรอบหลายทศวรรษ

โดยกลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่นั้นมีเพียงสหรัฐ ที่ฟื้นตัวอย่างเต็มที่ ในขณะที่เศรษฐกิจยูโรโซนเติบโตต่ำกว่าศักยภาพประมาณ 2% ส่วนเศรษฐกิจจีน ตลาดเกิดใหม่กับประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ ต่ำกว่าศักยภาพอยู่ประมาณ 5% ทั้งนี้ เศรษฐกิจโลกยังคงฟื้นตัวต่อเนื่อง แม้ว่าเป็นการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป

นอกจากนี้เศรษฐกิจอาเซียนยังมีแนวโน้มขยายตัวประมาณ 4.5% ในปี 2566 และปี 2567 หรืออาจเพิ่มขึ้นกว่าสองเท่า โดยเป็นผลจากการปรับเปลี่ยนและดำเนินนโยบายทางการเงินของธนาคารในกลุ่มประเทศดังกล่าว

Advertisment

อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัจจัยที่ต้องติดตามใกล้ชิด โดยเฉพาะผลกระทบจากภาวะติดขัดด้านห่วงโซ่อุปทานและอุปสงค์ต่างประเทศที่อ่อนแอ สาเหตุมาจากความวิตกเกี่ยวกับสภาวะเศรษฐกิจโลก โดยการเติบโตในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา อยู่ที่ระดับเพียงครึ่งหนึ่งของตัวเลขคาดการณ์ก่อเกิดการระบาดของโรค Covid-19 ซึ่งกลุ่มประเทศอาเซียนสูญเสียผลผลิตประมาณ 8% ของ GDP

นอกจากนี้ค่าเงินดอลลาร์ยังได้แรงหนุนจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น หลังจากรัสเซียและซาอุดิอาระเบียประกาศขยายเวลาในการลดกำลังการผลิตน้ำมัน ประกอบกับแรงขายเงินบาทจากผู้นำเข้าทองคำหลังราคาทองคำในตลาดโลกปรับตัวลดลง

สำหรับปัจจัยในประเทศ นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยในงานสัมมนาวิชาการประจำปี 2566 ของสำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ธปท.สภอ.) ว่า เศรษฐกิจไทยมีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง แม้ว่า GDP ไตรมาสที่ 2 ปี 2566 ออกมาต่ำกว่าคาดการณ์ ตามอุปสงค์ต่างประเทศที่ปรับตัวลดลง ทั้งนี้ ธปท.คาดว่าจะปรับประมาณการเศรษฐกิจลดลง เนื่องจากภาคการผลิตและการส่งออกสินค้าฟื้นตัวช้ากว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ สอดคล้องกับการชะลอของเศรษฐกิจจีน และ Global Electronic Cycle

สำหรับภาคการท่องเที่ยว ภาพรวมยังปรับตัวดีขึ้น แม้ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจีนจะฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด นอกจากนี้การบริโภคภาคเอกชน รายได้ และการจ้างงานนอกภาคเกษตรยังอยู่ในทิศทางเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 35.41-35.57 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 35.50/51 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

Advertisment

ส่วนความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (6/9) ที่ระดับ 1.0718/22 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (5/9) ที่ระดับ 1.0743/47 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ตามการแข็งค่าลงของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ โดยระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0747 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0729/32 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (6/9) ที่ระดับ 147.63/66 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (5/9) ที่ระดับ 147.18/21 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ได้รับแรงกดดันจากการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 147.00-147.81 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 147.42/44 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อในภาคบริการจากสถาบัน ISM ของสหรัฐ (6/9), ตัวเลขดุลการค้าประจำเดือน ส.ค.ของจีน (7/9), จำนวนผู้ยื่นขอสวัสดิการการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐ (7/9)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -11.80/-11.30 สตางค์/ดอลลาร์สหัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -8.00/-7.30 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ