ธปท. ใกล้หยุดขึ้นดอกเบี้ย ย้ำแก้หนี้ต้องใช้เวลา

เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ
เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เดินสายจัดงานสัมมนาทั่วประเทศ โดยรอบนี้เป็นรอบของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในหัวข้อ “ขับเคลื่อนภาคเกษตรอีสาน ให้เปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน”

ซึ่ง “ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ” ผู้ว่าการ ธปท. พูดถึงทิศทางแนวโน้มเศรษฐกิจครั้งแรกหลังจากที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประกาศตัวเลขไตรมาส 2/2566 ออกมาว่าเศรษฐกิจโตต่ำกว่าที่คาด

กนง.จ่อปรับลดคาดการณ์จีดีพี

โดย “ดร.เศรษฐพุฒิ” กล่าวว่า ธปท.จะปรับตัวเลขประมาณการอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) และอัตราเงินเฟ้อในรอบการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในเดือน ก.ย.นี้ ส่วนหนึ่งมาจากจีดีพีไตรมาส 2/2566 ที่ออกมาโต 1.8% และครึ่งแรกของปีโตได้ 2.2% ต่ำกว่าที่คาดการณ์ โดยผลกระทบส่วนใหญ่เกิดจากปัจจัยภายนอก เช่น การส่งออก และรายได้ภาคท่องเที่ยวที่น้อยกว่าคาด

อย่างไรก็ตาม ในภาพรวม เศรษฐกิจไทยยังเป็นการฟื้นตัว จากปัจจัยหลักภาคท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวชัดเจนขึ้น จำนวนนักท่องเที่ยวน่าจะเป็นไปตามที่คาด หรือใกล้เคียง 29 ล้านคน แม้ว่ารายจ่ายต่อหัวจะน้อย เพราะนักท่องเที่ยวจีนยังมาน้อยกว่าคาด ขณะที่การบริโภคเอกชนยังเติบโตได้ดี และขยายตัวได้สูงในไตรมาส 2 ซึ่งการบริโภคในครึ่งแรกของปี 2566 ขยายตัวสูงสุดในรอบ 20 ปี

“การบริโภคเอกชนโตได้ดี ส่วนหนึ่งมาจากท่องเที่ยวที่ขยายตัวและมีสัดส่วนประมาณ 11-12% ของจีดีพี มีการจ้างงาน 1 ใน 5 ของระบบ ทำให้การบริโภคขยายตัวได้ อย่างไรก็ดี สิ่งที่กระทบต่อภาพการฟื้นตัว คือ ภาคการส่งออก ยอมรับว่าฟื้นตัวค่อนข้างช้า และยังต้องติดตามว่าจะกลับมาตามที่คาดหวังได้หรือไม่ เพราะเศรษฐกิจไทยพึ่งพาภาคการส่งออกและการค้าโลก ดังนั้น การฟื้นตัวของวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์ จึงเป็นเรื่องสำคัญ”

เศรษฐกิจไทยเครื่องยนต์ลงทุนดับ

ด้านเครื่องยนต์การลงทุนเอกชน ที่เป็นเครื่องยนต์ที่ไม่ได้ติดมานาน ทำให้ไทยเป็นประเทศเดียวที่การลงทุนเอกชนโตต่ำกว่าภูมิภาค โดยมูลค่าการลงทุนที่แท้จริงหักเงินเฟ้อ จะพบว่า การลงทุนอยู่ในระดับใกล้เคียงก่อนปี 2540 ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาค แซงหน้าไปค่อนข้างมาก เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย หรือฟิลิปปินส์ เป็นต้น

“หากเราต้องการให้จีดีพีโต จะต้องให้เกิดการผลิต และการลงทุน ซึ่งที่ผ่านมาจะเห็นว่างบดุล (balance sheet) ของบริษัทขนาดใหญ่ในเรื่องของการกู้ยืมหรือสภาพคล่องในประเทศไม่ได้โตมาก เนื่องจากบริษัทเหล่านี้มีการลงทุน แต่เป็นการลงทุนในต่างประเทศค่อนข้างเยอะ สูงกว่าเม็ดเงินลงทุนต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนในไทยด้วยซ้ำ”

ชี้ดอกเบี้ยใกล้จบรอบ “ขาขึ้น”

สำหรับทิศทางนโยบายการเงินนั้น “ดร.เศรษฐพุฒิ” กล่าวว่า ธปท.จะปรับตามบริบทเศรษฐกิจ จากเดิมโจทย์หลัก คือ การฟื้นตัวโดยไม่สะดุด (smooth take off) แต่ตอนนี้โจทย์เป็น good landing แทน ทำให้นโยบายการเงินจะปรับจากการขึ้นดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไป เป็นการปรับดอกเบี้ยให้เหมาะสมสอดคล้องและสมดุลระยะยาว หรือเรียกว่า neutral rate แทน

โดยทิศทางดอกเบี้ย จะอยู่ภายใต้ 3 ปัจจัย คือ 1.อัตราเงินเฟ้อเข้ากรอบเป้าหมายอย่างยั่งยืน 1-3% แม้ว่าช่วงนี้จะค่อนข้างต่ำ แต่ในระยะข้างหน้าจะเห็นเงินเฟ้อจะกลับมาเพิ่มขึ้นได้ 2.การเติบโตเศรษฐกิจอยู่ในระดับศักยภาพ

หรือประมาณ 3-4% ต่อปี และ 3.นโยบายการเงินจะต้องไม่เป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความไม่สมดุลในระบบการเงิน ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานาน ส่งผลให้เกิดการแสวงหาผลตอบแทน (search for yield)

“นโยบายการเงินสะท้อนภาพดอกเบี้ยจะเข้าสู่ระดับสมดุลและเข้าสู่ภาวะปกติ โดยเปรียบเหมือนการถอนคันเร่ง แต่ไม่ใช่การแตะเบรก ซึ่งไม่เหมือนต่างประเทศที่ขึ้นดอกเบี้ยสูง ๆ และค่อยกลับลงมา ของเราต้องการให้ดอกเบี้ยเข้าสู่สมดุลระยะยาว สำหรับดอกเบี้ยช่วงที่เหลือของปีนี้ คือ ใกล้แล้ว จวนแล้ว เริ่มใกล้จุดสอดคล้องและสมดุลแล้ว ซึ่งต้องรอติดตามดูในการประชุม กนง.รอบที่จะถึงนี้”

แก้หนี้ครัวเรือนต้องใช้เวลา

“ผู้ว่าการ ธปท.” กล่าวด้วยว่า ด้านปัญหาหนี้ครัวเรือนของไทย ถือเป็นปัญหาใหญ่และเป็นโจทย์ที่ ธปท.ตระหนักมาโดยตลอด ปัจจุบันสัดส่วนหนี้ครัวเรือนอยู่ระดับ 90.6% ต่อจีดีพี ถือว่าค่อนข้างสูง โดย ธปท.ได้ออกแนวทางเรื่องการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบ (responsible lending) และการแก้ไขหนี้เรื้อรัง (persistent debt) รวมถึงการให้อัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมกับความเสี่ยง

“คงไม่มีมาตรการใดที่สามารถทำและให้หนี้ครัวเรือนลงได้ทันที และ ธปท.จะทำมาตรการที่เฉพาะเจาะจงและตรงจุดมากขึ้น เพราะไม่ต้องการสร้างวัฒนธรรมจงใจผิดนัดชำระหนี้” ผู้ว่าการ ธปท.กล่าว