ต้นทุนดอกเบี้ยพุ่ง-ดีมานด์น้อย “รายใหญ่-เล็ก” พับแผนขายหุ้นกู้ จับตา Q4 ครบดีล 1.5 แสนล้าน

หุ้นกู้

ต้นทุนดอกเบี้ยพุ่ง-ดีมานด์น้อย “รายใหญ่-เล็ก” พับแผนขายหุ้นกู้ ไตรมาส 4/66 รอครบดีล 1.5 แสนล้านบาท CPALL จ่อครบกำหนดสูงสุด 1.5 หมื่นล้านบาท จับตา “กลุ่มไฮยีลด์” โรลโอเวอร์ 2.2 หมื่นล้าน ธุรกิจอสังหาฯมากสุด จนถึงสิ้น ก.ย. 66 หุ้นกู้มีปัญหากว่า 3.9 หมื่นล้าน ด้านเซนติเมนต์ตลาดไม่ดีฉุดต่างชาติขายบอนด์ไทยไปแล้วกว่า 1.5 แสนล้านบาท ต่ำสุดในรอบ 8 ปี

รายใหญ่-รายเล็ก พับแผนขายหุ้นกู้

นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เปิดเผยว่า ตอนนี้สถานการณ์ต้นทุนดอกเบี้ยหุ้นกู้ ถือว่าขยับขึ้นไปทุกเรทติ้ง ประมาณ 0.80-0.90% เช่น ผู้ออกในกลุ่ม BBB รุ่นอายุ 5 ปี ต้นทุนดอกเบี้ยจากเมื่อสิ้นปี 2565 อยู่ที่ 5% ปัจจุบันขยับขึ้นไปเฉลี่ยที่ 5.90% ส่วนต้นทุนดอกเบี้ยหุ้นกู้กลุ่มไฮยีลด์ (ต่ำกว่า BBB- ลงไป และกลุ่ม Non-Rated)

ขยับขึ้นไปเฉลี่ยอยู่ที่ 6-7% มองว่าช่วงที่เหลือของปี 2566 มีโอกาสที่จะเห็นต้นทุนดอกเบี้ยขยับขึ้นไปอีกได้ แต่ถ้าผู้ออกจ่ายสูงเกินไป หรือเกิน 8% นักลงทุนจะเริ่มกลัวหรือขาดความเชื่อมั่นได้

ตอนนี้พบว่าผู้ออกหุ้นกู้กลุ่มไฮยีลด์ ประมาณ 4-5 บริษัท มีการยกเลิกการขายหุ้นกู้ออกไป สืบเนื่องจากดีมานด์ที่ลดน้อยลง และต้นทุนดอกเบี้ยที่สูงเกินไป ซึ่งแม้แต่บริษัทขนาดใหญ่ 1-2 บริษัท ก็มีการพับแผนออกหุ้นกู้ปีนี้ไปเช่นเดียวกัน เพราะด้วยดอกเบี้ยที่มีจังหวะกระชากขึ้นไปแรง ๆ ไม่เอื้อให้ระดมทุนหุ้นกู้ในตอนนี้ ประกอบกับเซนติเมนต์ตลาดไม่ดี

“บริษัทขนาดใหญ่ 2 รายนี้ คงจะมีสภาพคล่องของกระแสเงินสดที่เพียงพออยู่ จึงตัดสินใจชะลอการระดมทุนหุ้นกู้ออกไป เพื่อพิจารณาจังหวะดอกเบี้ยที่เริ่มนิ่งแล้วค่อยกลับเข้ามาใหม่ ส่วนบรรดาบริษัทขนาดเล็กในกลุ่มไฮยีลด์ คงจะต้องมีแผนสำรองในกรณีที่ไม่สามารถโรลโอเวอร์หุ้นกู้ได้แล้ว เช่น ต้องหันไปกู้ยืมผู้ถือหุ้นหรือกรรมการบริษัทแทน” นางสาวอริยากล่าว

Advertisment

Q4 ครบดีล 1.5 แสนล้าน

ขณะที่ยอดการออกหุ้นกู้ระยะยาวในปี 2566 คาดว่ามีโอกาสแตะที่ระดับ 1 ล้านล้านบาท อาจลดลงจากปีที่แล้วที่ทำระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ มียอดออกใหม่กว่า 1.27 ล้านล้านบาท แต่ถือว่าสูงกว่ายอดการออกเฉลี่ยในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา ที่อยู่ระดับ 9.5 แสนล้านบาท หลังจากช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ก.ย. 2566) มียอดออกหุ้นกู้ใหม่กว่า 824,557 ล้านบาท คิดเป็น 65% ของมูลค่าการออกทั้งปี 2565 หรือมีมูลค่าการออกเฉลี่ยต่อเดือนประมาณ 9 หมื่นล้านบาท

“ปีนี้กลุ่ม ปตท. อาจจะไม่ได้ออกหุ้นกู้เยอะ เพราะปีที่แล้วบริษัทในเครือ ปตท. กลุ่มพลังงาน ปิโตรเคมี ออกกันไปค่อนข้างเยอะแล้ว ปีนี้จึงดูเหมือนจะลดลงไปบ้าง”

ส่วนในช่วงไตรมาส 4/2566 จะมีหุ้นกู้ครบกำหนดอีกมูลค่า 156,750 ล้านบาท แยกเป็นหุ้นกู้ระดับลงทุน (Investment Grade) จำนวน 49 บริษัท มูลค่ารวม 133,919 ล้านบาท และกลุ่มไฮยีลด์ 35 บริษัท มูลค่ารวม 22,830 ล้านบาท

CPALL ครบดีลสูงสุด 1.5 หมื่นล้าน

โดย 10 บริษัทแรกที่จะครบกำหนดในปีนี้ มีมูลค่า 78,953 ล้านบาท คิดเป็น 50.4% ของยอดครบกำหนดช่วงไตรมาส 4/2566 ประกอบด้วย 1.CPALL 15,122 ล้านบาท 2.TRUE 13,738 ล้านบาท 3.SCC 10,000 ล้านบาท 4.TUC 9,345 ล้านบาท 5.ICBCTL 6,874 ล้านบาท 6.MTC 6,655 ล้านบาท 7.KKP 5,117 ล้านบาท 8.BTSC 4,100 ล้านบาท 9.SIRI 4,000 ล้านบาท และ 10.BTSG 4,000 ล้านบาท

Advertisment

จับตากลุ่มไฮยีลด์ “โรลโอเวอร์” 2.2 หมื่นล้าน

ซึ่งกลุ่ม Investment Grade ไม่เป็นปัญหาหรือน่าห่วง เพราะที่ผ่านมาสามารถโรลโอเวอร์ได้ แต่ต้องจับตากลุ่มไฮยีลด์ที่จะครบกำหนด 22,830 ล้านบาท โดยเฉพาะเซ็กเตอร์อสังหาริมทรัพย์ ที่มีมูลค่าสูงถึง 10,348 ล้านบาท โดยจะต้องพิจารณาเป็นรายบริษัท เพราะช่วงที่ผ่านมาจะสังเกตเห็นบางบริษัทค่อนข้างเหนื่อยเพราะขายยากมากขึ้น และบางบริษัทต้องยกเลิกการขายไป และกลับไปหาแหล่งเงินกู้ยืมอื่น หรือมีแผนสำรองในกรณีที่ไม่สามารถโรลโอเวอร์หุ้นกู้ได้แล้ว

หุ้นกู้มีปัญหา 3.9 หมื่นล้าน

สำหรับสถานการณ์หุ้นกู้มีปัญหาในปีนี้ ถือว่ามีกระแสเกิดการผิดนัดชำระหนี้ค่อนข้างมาก ประมาณ 4-5 บริษัท เช่น ALL, STARK, JKN, DR, CHO โดยจนถึงสิ้นเดือน ก.ย. 2566 มีมูลค่าคงค้างรวม 39,765 ล้านบาท เพิ่มขึ้นมาจากมูลค่าคงค้างหุ้นกู้ที่มีปัญหาก่อนโควิด ที่อยู่ประมาณ 1.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งพบว่าหลายบริษัทยังลากยาวมาจนถึงช่วงหลังโควิด นั่นคือ IFEC, EARTH โดยตอนนี้ IFEC คดียังไม่จบ ยังอยู่ในกระบวนการฟ้องร้อง แต่สำหรับ EARTH ล้มละลายไปแล้ว

ต่างชาติขายบอนด์ไทย 1.5 แสนล้าน ต่ำสุดรอบ 8 ปี

ส่วนกระแสเงินลงทุนจากต่างชาติ (ฟันด์โฟลว์) พบว่ามียอดขายสุทธิตราสารหนี้ไทยสะสมรวมกว่า 1.5 แสนล้านบาท ถือว่ามากที่สุดจากสถิติในรอบ 8 ปี นับจากปี 2558 ที่พบว่ามีฟันด์โฟลว์ไหลออกไปประมาณ 110,130 ล้านบาท ส่งผลให้สัดส่วนการถือครองตราสารหนี้ไทยของนักลงทุนต่างชาติจนถึงสิ้นไตรมาส 3/2566 ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 5.6% ของมูลค่าคงค้างตลาดตราสารหนี้ไทย หรือคิดเป็นมูลค่ารวมอยู่ที่ 9.4 แสนล้านบาท

ซึ่งใกล้เคียงกับปี 2558 ที่มีสัดส่วนต่ำสุดที่ราว 5.6% เช่นกัน แต่มูลค่าอาจเพิ่มขึ้นจากเดิมที่อยู่ระดับ 5 แสนล้านบาท เนื่องจากขนาดตลาดตราสารหนี้ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น อย่างไรก็ตามตราสารหนี้ไทยที่ต่างชาติถือครองมีอายุคงเหลือเฉลี่ยที่ 8.3 ปี เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 8.0 ปี เมื่อสิ้นปีที่แล้ว

“คาดว่าสาเหตุที่ฟันด์โฟลว์ไหลออกจากตลาดตราสารหนี้ไทยนั้น เนื่องจากส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยไทยกับสหรัฐที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นหลัก ซึ่งเชื่อว่าแรงกดดันดังกล่าวกลุ่มตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) โดนกันทุกประเทศ ประกอบกับในระยะสั้นยังมีความกังวลเรื่องซัพพลายพันธบัตรรัฐบาล”

ขณะที่แนวโน้มในช่วงที่เหลือของปีนี้ ยังมีสัญญาณฟันด์โฟลว์ที่จะไหลออกไปเกิน 1.5 แสนล้านบาท โดยส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในตราสารหนี้ระยะสั้น ซึ่งปัจจุบันมีเหลืออยู่มูลค่าประมาณ 82,000 ล้านบาท