ธปท.ปูพรมตรวจธนาคาร-น็อนแบงก์ ลั่นไม่ทำตามเกณฑ์ร่อนหนังสือเตือนซีอีโอ

สุวรรณี เจษฎาศักดิ์

ธปท.ประกาศปูพรมตรวจสอบแบงก์-น็อนแบงก์เข้มข้น ชี้ พบไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ Responsible Lending ส่งหนังสือเตือนถึงซีอีโอ-ผู้บริหารฝ่าย Compliance พร้อมมีบทลงโทษกรณีไม่แก้ไข พร้อมเดินหน้าหารือธนาคารดูส่วนต่างดอกเบี้ย-ค่าธรรมเนียม

วันที่ 17 มกราคม 2567 นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ในปีนี้ ธปท. มีแผนการยกระดับการตรวจสอบเชิงรุกแบบปูพรมอย่างใกล้ชิด หลังจากที่มีการตรวจสอบประจำปีอยู่แล้ว โดยเฉพาะในกลุ่มธนาคารเป้าหมาย หรือธนาคารพาณิชย์ที่มีขนาดใหญ่ และผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (น็อนแบงก์) ในระบบ

โดยภายหลังจาก ธปท. ออกหลักเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) ที่มีผลบังคับใช้มกราคม 2567 ธปท. จะมีการเข้าไปตรวจสอบการปฏิบัติตามเกณฑ์ Responsible Lending อย่างใกล้ชิด ซึ่งจะมีการพัฒนาเครื่องและข้อมูลในการติดตาม เช่น การปล่อยสินเชื่ออย่างเป็นธรรม ดูความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้า การโฆษณาเกินจริงจนอาจจะกระตุ้นลูกหนี้ก่อหนี้เกินตัว

นอกจากนี้ การช่วยเหลือลูกค้าปรับโครงสร้างเป็นไปตามมาตรการแก้หนี้ยั่งยืนหรือไม่ โดยกำหนดให้ธนาคารช่วยเหลือลูกค้าปรับโครงสร้างหนี้ก่อนเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้รายได้ (เอ็นพีแอล) อย่างน้อย 1 ครั้ง และเป็นเอ็นพีแอล 1 ครั้ง รวมถึงไม่โอนหนี้ก่อนครบกำหนด 60 วันหลังปรับปรุงโครงสร้างหนี้ รวมถึงการแก้ไขหนี้เรื้อรังที่จะมีผลในวันที่ 1 เมษายน 2567

ขณะเดียวกัน ธปท. จะเข้าไปดูการเรียกเก็บค่าธรรมเนียม (Fee) ในบริการทางการเงินของธนาคารว่าเกินจริงหรือไม่ ซึ่งจะมีทั้งในส่วนที่สามารถเรียกเก็บได้ แต่เรียกเก็บตามจริง เช่น ค่าปรับผิดนัดชำระหนี้ หรือติดตามทวงถามหนี้ และส่วนที่ห้ามเรียกเก็บ เช่น ค่าธรรมเนียมการปิดชำระหนี้ก่อนครบกำหนด (PrePayment Fee) เป็นต้น รวมถึงห้ามคิดดอกเบี้ยสำหรับสินเชื่อที่ให้แก่ลูกค้ารายย่อย ประเภทสินเชื่อวงเงินเบิกเกินบัญชี (Overdraft) ที่จะเริ่มในเดือนกรกฎาคม 2567

Advertisment

“หลังจากที่เกณฑ์ Responsible Lending มีผล 1 ม.ค. ที่ผ่านมา เราได้เริ่มเข้าไปตรวจสอบธนาคารและน็อนแบงก์แล้ว โดยเราเข้าไปตรวจสอบในเรื่องของโฆษณา ซึ่งพบว่า ในข้อที่ห้ามจะมีบางแห่งหลุดบ้าง ส่วนข้อที่ต้องทำก็มีลืมเขียนเช่นกัน ซึ่งในกรณีนี้เราได้มีการส่งหนังสือแจ้งเตือนไปยังประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของสถาบันการเงินแห่งนั้น รวมถึงฝ่าย Compliance ในการแก้ไขข้อผิดพลาด หากไม่ปฏิบัติตาม บทลงโทษสูงสุดคือปรับ และประกาศบนเว็บไซต์ อย่างไรก็ดี ธปท.ไม่ได้ดูเฉพาะให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ แต่หากให้ทำได้มากกว่าเกณฑ์เราจะนำข้อมูลมาแชร์ว่าทำอย่างไรให้เกิดประสิทธิภาพ”

นางสาวสุวรรณีกล่าวว่า สำหรับประเด็นเรื่องส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (NIM) นั้น ในระยะข้างหน้า ธปท.จะมีการเรียกหารือกับสถาบันการเงิน เพื่อทบทวน และพิจารณาเรื่องการคิด NIM และการคิดค่าธรรมเนียมต่าง ๆ รวมถึงประสิทธิภาพในการให้บริการมากขึ้น หลังจากก่อนหน้านี้ มีการหารือเป็นปกติอยู่แล้วกับสถาบันการเงิน

“ธปท.เข้าใจดี หลังมีเสียงติติงเข้ามา โดยเฉพาะประเด็นเกี่ยวกับ NIM หรือดอกเบี้ยต่าง ๆ ซึ่งหลังจากนี้คงต้องมีการเรียกหารือ หรือพูดคุยกับธนาคารเพิ่มขึ้น เพื่อมาดูว่าที่ผ่านมาเราทำไม่เพียงพอหรือไม่ คือเรื่องที่ต้องเข้าไปดูอย่างต่อเนื่องและเพิ่มขึ้น แม้ว่าที่ผ่านมา ธปท.จะมีการหารือกันเป็นปกติอยู่แล้ว เราก็ต้องรับมาดูเพิ่มขึ้น”