ธปท. ชี้ NIM เป็นกลไกตลาด พร้อมเรียกแบงก์คุยดูแลลูกค้า

สุวรรณี เจษฎาศักดิ์
สุวรรณี เจษฎาศักดิ์

ธปท.ยันส่วนต่างดอกเบี้ย หรือ NIM เป็นกลไกตลาด รับในช่วง 9 เดือนแรกปี 2566 เฉลี่ย 2.95% สูงกว่าช่วงก่อนโควิด-19 แต่ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายด้านอื่น พร้อมเรียกแบงก์ถกดูแลลูกค้า พร้อมติดตามการเรียกเก็บค่าฟีเกินจริง หลังส่งคืนเงินลูกค้าไปแล้ว 3.3 ล้านบัญชี

วันที่ 15 มกราคม 2567 นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวภายในงาน “ธปท.เปิดแนวคิดนโยบายแบงก์ชาติ” ถึงกระแสกำไรของธนาคารพาณิชย์ที่ค่อนข้างสูงนั้นว่า ในช่วงที่ผ่านมา ธปท.ได้มีการพูดคุยหารือกับธนาคารพาณิชย์เสมอและคาดว่าจะต้องมีการพูดคุยมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการดูแลลูกหนี้กลุ่มเปราะบาง หรือกลุ่มลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากดอกเบี้ยเงินกู้มากขึ้น

อย่างไรก็ดี ในส่วนของส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (NIM) มองว่าเป็นกลไกตลาด โดยเฉพาะดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ที่มีการส่งผ่านค่อนข้างน้อย แต่เงินฝากประจำมีการส่งผ่านประมาณ 63% ส่วนหนึ่งมาจากสภาพคล่องที่ไม่ได้ตึงตัว แต่จะเห็นว่าในช่วงหลังธนาคารได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำและเงินฝากดิจิทัลมากขึ้น

ทั้งนี้ ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 NIM ของระบบธนาคารพาณิชย์เฉลี่ยอยู่ที่ 2.95% ปรับตัวสูงขึ้นกว่าช่วงก่อนโควิด-19 แต่ไม่ได้สะท้อนค่าใช้จ่ายอีกหลายตัวในการประกอบธุรกิจ การลงทุน และค่าใช้จ่าย เช่น ระบบไอที ทำให้ ธปท.ต้องเข้าไปดูว่าเป็นการไม่มีประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจหรือไม่ ซึ่งในอนาคตค่าใช้จ่ายเหล่านี้อาจจะปรับลดลงได้ อย่างไรก็ดี จะดูจากจุดใดจุดหนึ่งไม่ได้ จะต้องพิจารณาในภาพรวมและต้องดูในระยะยาว

“การกำกับธนาคารพาณิชย์ของ ธปท.นั้น ในช่วงที่ผ่านมาหลายฝ่ายได้มีการชี้แจงถึงกำไรที่สูงของแบงก์ แต่หากไปดูรายได้ค่าธรรมเนียมจะเห็นว่าหายไปค่อนข้างเยอะ ซึ่งในปี 2566 เราได้เข้าไปดูการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมที่ไม่ถูกต้องหรือเกินความเป็นจริง โดยได้มีการส่งคืนเงินกว่า 3.3 ล้านบัญชี หรือคิดเป็นเงิน 1,500 ล้านบาท ส่วนเรื่องของ NIM เป็นหลักการของรายได้ดอกเบี้ยรับและรายจ่ายดอกเบี้ยหารด้วยสินทรัพย์เฉลี่ย”