เงินบาทอ่อนค่า จับตาปัจจัยสำคัญสัปดาห์หน้า-ตัวเลขส่งออกเดือน ธ.ค.

ค่าเงินบาท-ธนบัตร-bank note
ภาพ : REUTERS

เงินบาทอ่อนค่าสุดในรอบกว่า 1 เดือน ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ฟื้นตัวขึ้น หลังตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาด ลดทอนโอกาสการปรับลดดอกเบี้ยของเฟดในเดือนมี.ค. SET Index ปรับตัวลงหลุดแนว 1,400 จุด  จับตาปัจจัยสำคัญสัปดาห์หน้า ตัวเลขส่งออกเดือนธ.ค. ของไทย ผลประกอบการงวดไตรมาส 4/66 ของบจ. ไทย สัญญาณเงินทุนต่างชาติ ผลประชุม BOJ และ ECB รวมถึงการกำหนดอัตราดอกเบี้ย LPR ของธนาคารกลางจีน

วันที่ 20 มกราคม 2567 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทว่า เงินบาทยังคงอ่อนค่า โดยทำสถิติอ่อนค่าสุดในรอบกว่า 1 เดือนที่ 35.71 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในระหว่างสัปดาห์ เงินบาทแข็งค่าขึ้นช่วงสั้นๆ ต้นสัปดาห์ โดยมีแรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำในตลาดโลก ประกอบกับยังไม่มีสัญญาณปรับเปลี่ยนแนวทางการดำเนินนโยบายการเงินจากธปท.

อย่างไรก็ดี เงินบาทพลิกกลับไปอ่อนค่าลงในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ หลังมีสัญญาณว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐอาจมีความล่าช้า ขณะที่ เงินดอลลาร์ฯ ทยอยแข็งค่าขึ้นตามการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ของสหรัฐฯ สอดคล้องกับการที่ตลาดทยอยปรับลดโอกาสความเป็นไปได้ที่จะเห็นเฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมี.ค. ลงมา

นอกจากนี้ การอ่อนค่าของเงินบาทยังสอดคล้องกับแรงขายสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ดี เงินบาทลดช่วงอ่อนค่าและดีดตัวกลับมาบางส่วนในช่วงปลายสัปดาห์ตามทิศทางของสกุลเงินเอเชียในภาพรวม

กราฟค่าเงินบาท 8-19 มกราคม 2567

Advertisment

ในวันศุกร์ที่ 19 ม.ค. 2567 (ก่อนช่วงตลาดนิวยอร์ก) เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 35.52 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับ 35.06 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (12 ม.ค. 2567) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 15-19 ม.ค. 2567 นั้น นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย 10,938 ล้านบาท และมีสถานะเป็น Net Outflows ออกจากตลาดพันธบัตรไทย 8,761 ล้านบาท (ขายสุทธิพันธบัตร 8,331 ล้านบาท และตราสารหนี้หมดอายุ 430 ล้านบาท)

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (22-26 ม.ค. 67) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 35.00-35.80 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขส่งออกเดือนธ.ค. ของไทย สัญญาณเงินทุนต่างชาติ ผลการประชุม BOJ และ ECB รวมถึงการกำหนดอัตราดอกเบี้ย LPR ของธนาคารกลางจีน

ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน ยอดขายบ้านใหม่ ยอดขายบ้านที่รอปิดการขาย รายได้/การใช้จ่ายส่วนบุคคล และดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลทั่วไปและพื้นฐาน (PCE/Core PCE Price Indices) เดือนธ.ค. ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4/66 (ครั้งที่ 1) และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามดัชนี PMI (เบื้องต้น) เดือนม.ค. ของญี่ปุ่น ยูโรโซน อังกฤษ และสหรัฐฯ ด้วยเช่นกัน

กราฟหุ้นไทย

Advertisment

ส่วนความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทยดัชนีหุ้นไทยร่วงลงต่อเนื่องจากสัปดาห์ก่อนท่ามกลางแรงขายของกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ ทั้งนี้หุ้นไทยทยอยปรับตัวลงตั้งแต่ช่วงต้นสัปดาห์ เนื่องจากยังคงไร้ปัจจัยใหม่ๆ เข้ามาหนุน ประกอบกับมีความกังวลว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศอาจมีความล่าช้า

นอกจากนี้ ความกังวลว่าเฟดจะคงดอกเบี้ยในระดับสูงเป็นเวลานาน (หลังเจ้าหน้าที่เฟดบางรายแสดงความคิดเห็นว่าไม่จำเป็นต้องรีบลดดอกเบี้ย) รวมถึงความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจจีน หลังจีดีพีไตรมาส 4/66 ออกมาต่ำกว่าตลาดคาด ก็เป็นปัจจัยลบที่กดดันหุ้นไทยด้วยเช่นกัน ส่งผลให้เกิดแรงขายหุ้นในทุกกลุ่มอุตสาหกรรม อย่างไรก็ดี หุ้นไทยฟื้นตัวกลับมาได้บางส่วนช่วงปลายสัปดาห์

ในวันศุกร์ที่ 19 ม.ค. 2567 ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,382.51 จุด ลดลง 2.19% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 45,832.93 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.20% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai ลดลง 1.92% มาปิดที่ระดับ 412.50 จุด

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (22-26 ม.ค. 67) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,385 และ 1,370 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,400 และ 1,425 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขส่งออกเดือนธ.ค. ของไทย ทิศทางเงินทุนต่างชาติ และผลประกอบการงวดไตรมาส 4/66 ของบจ. ไทย

ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน ยอดขายบ้านใหม่ รายได้และรายจ่ายส่วนบุคคล และดัชนี PCE/Core PCE Price Index เดือนธ.ค. ดัชนี PMI เดือนม.ค. (เบื้องต้น) ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4/66 รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์

ขณะที่ข้อมูลเศรษฐกิจต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ การประชุม BOJ และ ECB ดัชนี PMI เดือนม.ค. (เบื้องต้น) ของญี่ปุ่น ยูโรโซน อังกฤษ รวมถึงการกำหนดอัตราดอกเบี้ย LPR เดือนม.ค. ของจีน