บาทยังคงเคลื่อนไหวในกรอบ ตลาดจับตาดูตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ

ค่าเงินบาท-ธนบัตร-bank note
ภาพ : REUTERS

เงินบาทยังคงเคลื่อนไหวในกรอบ ตลาดจับตาดูตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ ขณะที่นักลงทุนเทน้ำหนักคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐจะคงอัตราดอกเบี้ยอีก 2 ครั้ง ก่อนที่จะปรับลดดอกเบี้ยในเดือน พ.ค. 2567

วันที่ 23 มกราคม 2567 ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 23 มกราคม 2567 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (23/1) ที่ระดับ 35.60/61 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคารที่ (22/1) ที่ระดับ 35.67/68 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

โดย Conference Board เปิดเผยดัชนีชี้นำเศรษฐกิจ Leading Economic Index (LEI) ที่ระดับ -0.1% ในเดือน ธ.ค. ปรับสูงขึ้นจากระดับ -0.5% ในเดือน พ.ย. และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ -0.3% ขณะที่นักลงทุนเทน้ำหนักต่อคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะคงอัตราดอกเบี้ยอีก 2 ครั้ง ก่อนที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือน พ.ค. จากเดิมที่คาดว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยอย่างเร็วที่สุดในเดือน มี.ค.

ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 97.4% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมวันที่ 30-31 ม.ค. และให้น้ำหนัก 56.5% ที่เฟดจะยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับดังกล่าวในการประชุมวันที่ 19-20 มี.ค. นอกจากนี้ นักลงทุนให้น้ำหนัก 53.0% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.00-5.25% ในการประชุมวันที่ 31 เม.ย.-1 พ.ค. หลังจากที่ให้น้ำหนักเพียง 17.0% เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

สำหรับปัจจัยในประเทศ โฆษกรัฐบาลเปิดเผยว่า กระทรวงการคลังรายงานมายังทำเนียบรัฐบาลว่าเศรษฐกิจไทยปี 2566 คาดว่าจะขยายตัวที่ระดับ 1.8% เนื่องจากแรงกดดันจากการหดตัวของภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะยานยนต์ คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งการส่งออกและการนำเข้าก็หดตัวเช่นกัน

Advertisment

ขณะที่ในปี 2567 คาดเศรษฐกิจจะเร่งตัวขึ้นไปที่ระดับ 2.8% (ช่วงคาดการณ์ 2.3-3.3%) โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคการส่งออกสินค้าและบริการกลับมาขยายตัวสูง ในส่วนของการส่งออกมีแนวโน้มขยายตัวตามอุปสงค์ในตลาดโลก และเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่ขยายตัวต่อเนื่อง แม้จะชะลอลงเล็กน้อย โดยคาดมูลค่าส่งออกฟื้นตัว 4.2% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดไว้ที่ระดับ 1.0% (ช่วงคาดการณ์ 0.5-1.5%) เร่งตัวขึ้นตามอุปสงค์ภายในประเทศ

อย่างไรก็ดี กระทรวงการคลังแนะนำควรติดตามปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด ได้แก่ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์โลกที่อาจรุนแรงขึ้น อาจเป็นข้อจำกัดและส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยระยะถัดไป ความผันผวนของตลาดการเงินโลก จากนโยบายการเงินที่เข้มงวดของประเทศคู่ค้าหลัก และสถานการณ์เศรษฐกิจจีนอาจกระทบต่อการส่งออกและการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวของไทย

ทั้งนี้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) มีกำหนดจะแถลงภาะเศรษฐกิจไทยปี 2566 และแนวโน้ม 2567 ในวันพรุ่งนี้ (24/1) ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 35.50-35.71 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 35.67/68 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับปัจจัยทางด้านเอเชีย มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ส เซอร์วิส มีมุมมองเชิงลบต่ออันดับความน่าเชื่อือของประเทศในเอเชียแปซิฟิกในปีนี้ เนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน, ภาวะตึงตังด้านการเงิน และความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์

Advertisment

โดยมูดี้ส์คาดการณ์ว่า ปีนี้ GDP ของจีนจะชะลอตัวลงสู่ระดับ 4% ในปี 2567 และ 2568 จากระดับเฉลี่ยที่ระดับ 6% ในช่วงปี 2557-2566 ซึ่งการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในเอเชียแปซิฟิกอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากเศรษฐกิจจีนมีผลต่อห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (23/1) ที่ระดับ 1.0881/85 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (22/1) ที่ระดับ 1.0892/96 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร นักลงทุนรอ ECB ประกาศการตัดสินใจด้านนโยบายการเงินในวันพฤหัสบดีนี้ (25/1) เพื่อจับสัญญาณเกี่ยวกับกรอบเวลาในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ ECB

ทั้งนี้ ในระหว่างวันยูโรเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 1.0878-1.0951 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0905/09 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน เปิดตลาดเช้าวันนี้ (23/1) ที่ระดับ 148.11/15 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (22/1) ที่ระดับ 148.09/13 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีมติคงนโยบายการเงินในการประชุมวันนี้ (23/1) ซึ่งรวมถึงการตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำเป็นพิเศษไว้ที่ระดับ -0.1% และยังคงกำหนดให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นประเภทอายุ 10 ปีเคลื่อนไหวที่ระดับราว 0%

ในการประชุมครั้งนี้ คณะกรรมการ BOJ ได้ปรับลดคาดการณ์แนวโน้มดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) ซึ่งไม่นับรวมราคาในหมวดอาหาร สำหรับปีงบประมาณ 2567 ลงสู่ระดับ 2.4% แต่ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์แนวโน้มดัชนี Core CPI สำหรับปีงบประมาณ 2568 ขึ้นสู่ระดับ 1.8% จากเดิมที่ระดับ 1.7% โดยระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 147.00-148.53 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 1427.32/36 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อจาก S&P (24/01), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายผลิตจาก S&P (24/01), ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของสหรัฐไตรมาส 4/66 (25/01), ดัชนีราคาใช้จ่ายส่วนบุคคลสหรัฐเดือน ธ.ค. (25/01), ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนของสหรัฐเดือน ธ.ค. (25/01), ยอดขายบ้านใหม่ของสหรัฐเดือน ธ.ค. (25/01), ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเยอรมนีจากสถาบัน GfK เดือน ก.พ. (26/1)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -9.0/-8.5 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -6.75/-5.5 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ