กูรูตลาดหุ้น ตั้งคำถาม โปรแกรมเทรดดิ้ง หรือปัจจัยพื้นฐาน คือปัญหากันแน่

ตลาดหุ้น

“ไพบูลย์ นลินทรางกูร” ซีอีโอ บล.ทิสโก้-นายกสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน-กรรมการสภาธุรกิจตลาดทุน ตั้งคำถาม โปรแกรมเทรดดิ้ง หรือปัจจัยพื้นฐาน คือปัญหากันแน่

วันที่ 19 มีนาคม 2567 นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด ในฐานะนายกสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (IAA) และกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวระบุข้อความว่า

ที่ผ่านมา หลายคนเชื่อว่าโปรแกรมเทรดดิ้ง (หรือที่มีอีกหลายชื่อเรียก เช่น Algorithmic trading และ Robot trading) คือตัวการที่ทำให้ตลาดหุ้นไทยปรับลดลงต่อเนื่อง และเรียกร้องให้มีการจัดระเบียบการเทรดด้วยโปรแกรม โดยเชื่อว่าจะทำให้ราคาหุ้นฟื้นตัว

ที่มาของเรื่องนี้เกิดจากการทำนิวโลว์หลายครั้งของ SET Index ในรอบปีที่ผ่านมา จนทำให้ตลาดหุ้นไทยติดอันดับตลาดหุ้นที่ให้ผลตอบแทนแย่ที่สุดในโลก ในปี 2566 ลดลงถึง 15% สวนทางตลาดหุ้นโลกที่ปรับขึ้น 20% และมาในปีนี้ สถานการณ์ก็ยังไม่ดีขึ้น SET Index ยังคงลดลงอีก 2% ในขณะที่ตลาดหุ้นโลกขยับขึ้นไปแล้ว 6%

ผลงานที่ย่ำแย่ของตลาดหุ้นไทย บังเอิญสอดคล้องกับสัดส่วนการเทรดหุ้นด้วยโปรแกรมที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจาก 25-30% ในปี 2565 มาอยู่ที่ 35-40% ในปัจจุบัน โปรแกรมเทรดดิ้งจึงกลายเป็นผู้ต้องสงสัยอันดับหนึ่งโดยปริยาย

สำหรับท่านที่อาจไม่ทราบ โปรแกรมเทรดดิ้งคือโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ส่งคำสั่งซื้อขายโดยอัตโนมัติ ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ล่วงหน้า โดยปราศจากการตัดสินใจของคน ส่วนใหญ่ใช้โดยนักลงทุนสถาบันต่างประเทศ ในการซอยคำสั่งซื้อขายปริมาณมาก ออกเป็นคำสั่งย่อย ๆ เพื่อลดผลกระทบต่อราคาหุ้น

แล้วโปรแกรมเทรดดิ้งคือตัวสร้างปัญหาจริงหรือไม่

ถ้าอิงจากผลการศึกษาทางวิชาการทั้งในต่างประเทศและในประเทศ ส่วนใหญ่ได้ข้อสรุปใกล้เคียงกันว่า การใช้โปรแกรมเทรดดิ้งในตลาดหุ้นที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก ไม่ได้ทำให้ราคาหุ้นผันผวนขึ้น แต่กลับทำให้ผันผวนลดลง

เพราะโปรแกรมเทรดดิ้งช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้กับหุ้น จึงช่วยให้ประสิทธิภาพในการเทรดหุ้นสูงขึ้น นอกจากนั้นยังส่งผลให้ส่วนต่างระหว่างราคาซื้อและขาย (Bid/Offer spread) แคบลง ซึ่งช่วยลดต้นทุนการซื้อขายของนักลงทุน

และที่สำคัญที่สุด โปรแกรมเทรดดิ้งไม่ได้ส่งผลกระทบต่อแนวโน้มการเคลื่อนไหวของราคาหุ้น

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด คือตลาดหุ้นสหรัฐ ที่มีสัดส่วนการใช้โปรแกรมเทรดดิ้งสูงสุดในโลก ที่ราว 80-85% แต่ตลาดหุ้นสหรัฐ ยังคงให้ผลตอบแทนสูงเกือบที่สุดในโลกในปีที่ผ่านมาที่ 25% และยังขยับขึ้นต่อเนื่องอีก 7% ในปีนี้

คนที่เชื่อว่าโปรแกรมเทรดดิ้งคือตัวสร้างปัญหา มักเชื่ออีกว่า High Frequency Trading (HFT) หรือโปรแกรมเทรดดิ้งประเภทใช้ความเร็วสูงในการส่งคำสั่งซื้อขาย ซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 11-15% ในตลาดหุ้นไทย คือผู้ร้ายตัวจริง แต่ความเชื่อนี้ก็ย้อนแย้งกับผลการศึกษาส่วนใหญ่ที่สรุปตรงกันว่า HFT ช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้ตลาดหุ้น ไม่มีผลต่อแนวโน้มราคาหุ้น และไม่ได้ทำให้นักลงทุนทั่วไปเสียประโยชน์

ตลาดหุ้นสหรัฐ น่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีอีกเช่นกัน เพราะมีสัดส่วนการซื้อขายของ HFT สูงสุดในโลกที่ 55-60% แต่ทิศทางตลาดหุ้นสหรัฐ ก็อยู่ในขาขึ้นตลอด 3 ปีที่ผ่านมา

แล้วถ้าไม่ใช่โปรแกรมเทรดดิ้ง อะไรคือปัจจัยหลักที่ทำให้ตลาดหุ้นไทยแทบจะอยู่กับที่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ในขณะที่หลายตลาดหุ้นทำนิวไฮกันไปหลายรอบ

หลายคนอาจไม่ทราบว่าผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนไทยแทบไม่โตขึ้นเลยในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา ยกตัวอย่าง กลุ่มธนาคารพาณิชย์มีกำไรสุทธิรวมกัน 2.5 แสนล้านบาทในปีที่ผ่านมา ซึ่งเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยจาก 2.2 แสนล้านบาท เมื่อ 10 ปีที่แล้ว หรือ บริษัท ปตท. ที่มีกำไรสุทธิ 1.12 แสนล้านบาท ในปี 2566 ก็แทบไม่เปลี่ยนแปลงจาก 1.04 แสนล้านบาท เมื่อปี 2555 หรือ 12 ปีที่แล้ว

ถ้าดูจาก EPS Index หรือ ดัชนีกำไรต่อหุ้นของบริษัทจดทะเบียนทั้งหมดในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะยิ่งเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น ปี 2566 EPS ของบริษัทจดทะเบียนไทยอยู่ที่ 83.51 ในขณะที่ EPS ปี 2557 หรือ 10 ปีที่แล้ว อยู่ที่ 88.45 แปลว่านอกจากผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนไทยไม่ได้ขยายตัวเลยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ยังลดลงด้วยซ้ำ

ผมเชื่อว่าน่าจะเป็นที่ประจักษ์แล้วว่าอะไรคือ ปัจจัยหลักที่ฉุดให้ SET Index ถอยหลังในช่วงหลายปีนี้

และถ้าเจาะลึกลงไปในรายละเอียด จะเห็นได้ชัดว่าบริษัทในกลุ่มเศรษฐกิจยุคเก่า หรือ Old Economy ล้วนมี EPS ที่ลดลง หรือเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เช่น ธนาคารพาณิชย์ (-11%) อสังหาริมทรัพย์ (-8%) พลังงาน (+10%) ส่วนกลุ่มที่เติบโตได้ดีที่สุด คือกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ Well-being เช่น การแพทย์ (+137%) เป็นต้น

หลายคนคงอยากรู้ว่า SET Index จะมีโอกาสทำนิวไฮเหมือนตลาดอื่นบ้างไหม ถ้าย้อนกลับไปดูจะพบว่า SET Index เคยทำสถิติสูงสุดไว้ที่ 1,852 จุด เมื่อปี 2561 ซึ่งสอดคล้องกับ EPS บริษัทจดทะเบียนไทยที่ทำสถิติสูงสุดไว้ที่ 97.12 ในปี 20561 เช่นเดียวกัน

กล่าวโดยสรุป การเพิ่มความเข้มงวดของการใช้โปรแกรมเทรดดิ้งน่าจะช่วยให้ความมั่นใจนักลงทุนเพิ่มขึ้น และอาจทำให้ราคาหุ้นฟื้นตัวได้ในระยะสั้น แต่ไม่น่ามีผลทำให้แนวโน้มราคาหุ้นเปลี่ยนแปลงในระยะยาว

ปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้ตลาดหุ้นไทยกลับสู่ขาขึ้นอย่างยั่งยืน คือผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนไทยต้องกลับมาขยายตัว และตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องพยายามสรรหาหุ้นศักยภาพสูงเข้ามาจดทะเบียนให้มากขึ้น