ดอลลาร์แข็งค่า หลังรายงานประชุมเฟดส่งสัญญาณตรึงดอกเบี้ย

ดอลลาร์
ภาพ : pixabay

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 23 พฤษภาคม 2567 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (23/5) ที่ระดับ 36.49/50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (21/5) ที่ระดับ 36.31/32 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในทิศทางตามตลาดโลก

โดยในคืนที่ผ่านมา (22/5) ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) แถลงรายงานการประชุมนโยบายการเงินประจำวันที่ 30 เมษายน-1 พฤษภาคม โดยมีใจความบ่งชี้ว่ากรรมการเฟดยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้อและยังคงไม่มั่นใจว่าเงินเฟ้อจะชะลอตัวลงมากถึงระดับที่ทำให้เฟดมีความมั่นใจว่าเงินเฟ้อจะเข้าสู่ระดับเป้าหมายที่ 2%

ทั้งนี้บรรดากรรมการเฟดยังคงมองว่าแม้อัตราเงินเฟ้อสหรัฐจะชะลอตัวลงในปีที่แล้ว แต่ในช่วงเดือนที่ผ่านมายังคงไม่มีสัญญาณบ่งชี้ที่แน่ชัดว่าอัตราเงินเฟ้อได้ปรับตัวลงสู่เป้าหมาย อีกทั้งข้อมูลเงินเฟ้อครั้งล่าสุดยังแสดงให้เห็นว่าอัตราเงินเฟ้อที่เกิดจากกลุ่มราคาอาหารและการบริการยังคงมีการปรับตัวสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลให้คณะกรรมการเฟดมีการหารือกันถึงโอกาสการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หากอัตราเงินเฟ้อยังคงไม่ชะลอตัวลงสู่ระดับเป้าหมายที่ 2%

อีกทั้งบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดยังคงออกมาแสดงความกังวลว่าอัตราเงินเฟ้อสหรัฐอาจจะไม่สามารถปรับตัวลงมากพอที่จะทำให้เฟดมีความมั่นใจในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยภายในปีนี้ ส่งผลให้บรรดานักลงทุนคาดการณ์ว่าเฟดอาจจะตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับสูงเป็นเวลานานกว่าที่คาดการณ์ไว้

โดยล่าสุด CME FedWatch Tool บ่งชี้ว่า นักลงทุนได้มีการปรับลดคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งแรกของปีนี้อย่างน้อย 0.25% ในการประชุมเดือนกันยายน จากระดับ 65.7% ในการสำรวจวันพุธ (22/5) สู่ระดับ 59% ในวันนี้ (23/5)

Advertisment

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ปัจจัยหนุนหลักมาจากการปรับตัวแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ ภายหลังจากการเปิดเผยรายงานการประชุมนโยบายการเงินของเฟดเมื่อคืน (22/5) ทำให้ตลาดคาดการณ์ว่าเฟดอาจจะเริ่มใช้เวลานานกว่าที่คาดการณ์ในการลงมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น ทั้งนี้ค่าเงินบาทอ่อนค่าแตะระดับ 36.59/60 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ หลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 รับพิจารณาคำร้องของกลุ่ม 40 สว.ไว้พิจารณาความเป็นนายกรัฐมนตรีของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีแห่งประเทศไทย กรณีเสนอแต่งตั้ง นายพิชิต ชื่นบาน ผู้เคยถูกศาลฎีกาลงโทษในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกัฐมนตรี ทว่าศาลยังคงลงมติ 5 ต่อ 4 เสียง ให้นายเศรษฐา ไม่ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่

ทั้งนี้นักลงทุนยังคงจับตาตัวเลขดัชนีราคาค่าใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ประจำเดือนเมษายน ในวันศุกร์หน้า (31/5) เพื่อประเมินหาทิศทางอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐ และแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยในอนาคต โดยในระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 36.45-36.60 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 36.52/53 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (23/5) ที่ระดับ 1.0823/26 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (22/5) ที่ระดับ 1.0843/46 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยในวันนี้ (23/5) ทางยูโรโซนได้มีการเปิดเผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) เดือนพฤษภาคม ดัชนี PMI ภาคการผลิตอยู่ที่ระดับ 47.4 ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ และเดือนที่แล้วที่ระดับ 46.2 และ 46.7 ตามลำดับ

Advertisment

ทั้งนี้ ดัชนี PMI ภาคการบริการอยู่ที่ระดับ 53.3 ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 53.6 ทว่า ยังคงอยู่กับระดับเดียวกันกับเดือนที่แล้ว โดยในระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0810-1.0844 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0838/40 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (23/5) ที่ระดับ 156.73/75 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (22/5) ที่ 156.42/45 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยได้แรงหนุนจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ จากการแถลงรายงานการประชุมนโยบายการเงินของเฟดประจำวันที่ 30 เมษายน-พฤษภาคม ในคืนที่ผ่านมา (22/5) ญี่ปุ่นได้มีการเปิดเผยตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (PMI) ขั้นต้นประจำเดือนพฤษภาคม ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 50.5 จากระดับ 49.6 ในเดือนเมษายน

ซึ่งเป็นการทะลุระดับ 50.0 เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว โดยระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 156.54-156.89 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 156.70/73 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (23/5), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ ภาคการผลิตและภาคการบริการเดือนพฤษภาคม (23/5) และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภครัฐมิชิแกนเดือนพฤษภาคม (24/5)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -9/-8.9 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -9.1/-8.7 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ