เสริมเขี้ยวเล็บ SMEs ด้วยดิจิทัลมาร์เก็ตติิ้ง

คอลัมน์ Smart SMEs

โดย วีระศักดิ์ สุตัณฑวิบูลย์ ธนาคารกรุงเทพ

สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกท่าน ปัจจุบันนี้คงไม่มีธุรกิจใดที่ไม่ได้นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในองค์กรกันแล้วนะครับ ทั้งนี้ก็เพื่อปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการทำงาน แต่ก็อาจจะมีผู้ประกอบการบางรายที่ยังมีคำถามว่า จริง ๆ แล้ว บริษัทหรือธุรกิจจำเป็นต้องทำตลาดผ่านช่องทางออนไลน์ หรือ digital marketing และควรต้องปรับตัวให้ทันต่อเทคโนโลยีและพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ ? ผมมีคำตอบมาให้จากงานสัมมนา “ดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง สร้างทีม หรือจ้างทำ” ซึ่งจัดโดยธนาคารกรุงเทพ เมื่อเร็ว ๆ นี้

ทำไมเราต้องให้ความสนใจกับการทำตลาดผ่านช่องทางดิจิทัล ? ก็เพราะว่าปัจจุบันนี้คนไทยใช้เวลาท่องอินเทอร์เน็ตมากที่สุดในโลก ย้ำครับ มากที่สุดในโลก เฉลี่ย 9 ชั่วโมง 38 นาทีต่อวัน และยังมีสถิติที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่ง คือ คนไทยที่ใช้สมาร์ทโฟน จำนวน 12 ล้านราย มีการใช้โทรศัพท์มือถือในการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคผ่านอีคอมเมิร์ซ โดยเฉลี่ย 8,600 บาทต่อคนต่อครั้ง ถือว่าไม่น้อยนะครับ บวกกับประเทศไทยมีผู้จำนวนใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้น เฉลี่ยราวร้อยละ 24 ต่อปี และมีการใช้โซเชียลมีเดียเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 11 ต่อปี การเติบโตบนโลกออนไลน์นี้ส่งผลให้ผู้บริโภคเปลี่ยนไป ถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นว่า รูปแบบการซื้อ-ขายสินค้าของคนไทยในปัจจุบัน คือ ผู้ขายเสนอขายสินค้าผ่านเฟซบุ๊ก หรืออินสตาแกรม โดยผู้ซื้อสั่งซื้อผ่านไลน์ และจ่ายเงินผ่านโมบายแบงกิ้ง

เมื่อแนวโน้มเป็นเช่นนี้ ผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ด้านการตลาดแบบดิจิทัลมายาวนานอย่าง คุณศิวัตร เชาวรียวงษ์ประธานกรรมการบริหาร บริษัท กรุ๊ป เอ็ม (ประเทศไทย) และนายกสมาคมโฆษณาดิจิทัล ได้ให้ความเห็นว่า ด้วยปัจจัยการขยายตัวของผู้ใช้งานสมาร์ทโฟนมีจำนวนมากขึ้น และราคาค่าบริการอินเทอร์เน็ตที่ถูกลง ทำให้เกิดช่องทางการสื่อสารหลากหลายรูปแบบมากขึ้น ทั้งเว็บไซต์ แอปพลิเคชั่นบนมือถือและเครือข่ายสังคมออนไลน์ หรือโซเชียลมีเดีย ทำให้ผู้คนสามารถแบ่งปันไลฟ์สไตล์ของตนเอง (เช่น ไปทานข้าวที่ไหน ทำกิจกรรมอะไร ใช้ผลิตภัณฑ์ประเภทไหน ฯลฯ) สู่กลุ่มเพื่อน จนทำให้สินค้าหรือบริการที่ก่อนหน้านี้ยังไม่เป็นที่รู้จัก กลายเป็นสิ่งที่ผู้คนรู้จักได้เพียงข้ามคืน คุณศิวัตรกล่าวว่า มีธุรกิจมากมายหลากหลายประเภทที่ประสบความสำเร็จในการใช้สื่อดิจิทัล จนสามารถสร้างยอดขายได้ปีละหลาย ๆ ล้านบาท ยกตัวอย่าง เช่น การขายอาหารหรือผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพผ่านช่องทางออนไลน์ เป็นต้น

Advertisment

เรื่องนี้ยังสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อตลาดโฆษณาของประเทศไทยโดยรวมอีกด้วย ซึ่งในปีนี้คนในวงการโฆษณาคาดการณ์ว่า เม็ดเงินโฆษณาผ่านช่องทางดิจิทัลจะมีมูลค่าราว 14,330 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 16 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ซึ่งมีมูลค่าราว 12,400 ล้านบาทและมีการคาดการณ์ต่อไปว่า การใช้สื่อโฆษณาดิจิทัลกำลังจะแซงหน้าการใช้สื่อดั้งเดิมในไม่ช้านี้

ไม่เพียงเท่านั้น การที่ผู้บริโภคมีการค้นหาข้อมูลผ่านเสิร์ชเอ็นจิ้น และการแชร์ข้อมูลผ่านโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ยังก่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ประกอบการ เนื่องจากธุรกิจสามารถนำข้อมูลดังกล่าวมารวมเข้ากับข้อมูลส่วนตัวของผู้บริโภค เช่น เพศ อายุ ที่ผู้ใช้เปิดเผยตัวตนตอนสมัครใช้บริการออนไลน์ต่าง ๆ มาใช้เป็นฐานข้อมูล ซึ่งบริษัทนำมาต่อยอดธุรกิจได้ เนื่องจากข้อมูลเหล่านี้ทำให้ผู้ประกอบการเข้าใจถึงพฤติกรรมในเชิงลึกของผู้บริโภค และสามารถนำมาใช้ในการวางกลยุทธ์ทางการตลาด เพื่อขยายฐานลูกค้าใหม่ แทนการโฆษณาแบบเหวี่ยงแหเหมือนในอดีต

ท่านผู้อ่านครับ ทั้งหมดที่ผมกล่าวมานี้ คือ การเล่าสู่กันฟังถึงความสำคัญของdigital marketing ในฐานะของผู้ประกอบการ ท่านต้องติดตามความเป็นไปของลูกค้า เมื่อเห็นว่าแนวโน้มส่วนใหญ่หันมาซื้อ-ขายผ่านช่องทางออนไลน์ ท่านคงต้องหันมาศึกษาและทำความเข้าใจกับการทำตลาดผ่านช่องทางนี้เพิ่มขึ้น ในกรณีที่เป็นธุรกิจขนาดเล็ก ท่านอาจทดลองเปิดช่องทางออนไลน์ของท่านเอง เพื่อดูว่าช่องทางไหนเหมาะกับผลิตภัณฑ์หรือบริการของท่าน แต่หากเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ ผมคิดว่า ท่านควรหาผู้เชี่ยวชาญมาให้คำปรึกษาและหาแนวทางการทำตลาดผ่านช่องทางดิจิทัลให้ เพื่อเป็นทางเลือก แทนการพัฒนาทีมและบุคลากรด้านดิจิทัลขึ้นมาเอง ซึ่งใช้เวลาและอาจทำให้ก้าวไม่ทันคู่แข่งได้นะครับ